Investing.com - ความกังวลของตลาดลงทุนที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวแรงที่สุดในรอบ 40 ปีทำให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวกลับขึ้นมาได้ในวันศุกร์ แต่ถึงกระนั้น ทองคำก็ยังคงวนเวียน วิ่งอยู่หน้าทางแยกระหว่างจะขึ้นยืนเหนือ $1,800 ให้ได้อย่างมั่นคง หรือปรับตัวลดลงต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ทองคำในมุมมองหนึ่งก็เป็นตัวเลือกที่น่าซื้อ แต่ในอีกทางหนึ่งก็ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่อ่านยากอยู่พอสมควร
การปรับตัวขึ้นของทองคำทำให้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐย่อตัวลดลงมาจากจุดสูงสุดล่าสุดเล็กน้อย ในขณะที่กราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบสองปีที่ระดับ 1.79% เอ็ด โมญ่า นักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ OANDA ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ของทองคำว่า
“สัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีของราคาทองคำมากนัก เมื่ออัตราผลตอบแทนฯ ปรับตัวขึ้นจาก 1.53% ขึ้นไปยัง 1.75% ตราบใดที่ทองคำยังวิ่งอยู่ต่ำกว่า $1,800 และเส้นค่าเฉลี่ย 50 และ 200 วัน มีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวลดลงไปมากกว่า ถ้าสัปดาห์นี้ทองคำวิ่งเป็นแนวโน้มขาลงจริง เราอาจจะได้เห็นฝั่งขาขึ้นสวนขึ้นมาที่ระดับราคา $1,770”
ความผันผวนของตลาดทองคำเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จนทำให้ทองคำฟิวเจอร์และสปอตสามารถยืนเหนือ $1,800 ได้ชั่วคราวนั้นสามารถบ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง หนึ่งคือทองคำยังคงได้รับการยอมรับในฐานะสินทรัพย์คานเงินเฟ้อ ถึงแม้ว่ามีโอกาสจะถูกเทขายได้ทุกเมื่อหากว่าดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น และอีกหนึ่งประเด็นที่สามารถตีความได้ก็คือทองคำกลัวการขึ้นไปทดสอบแนวต้าน $1,830
หลายครั้งแล้วที่ตลาดลงทุนพยายามจะพาทองคำให้สามารถขึ้นยืนเหนือ $1,830 ให้ได้แต่ก็ไม่สำเร็จ ความพยายามนั้นเกิดขึ้นอีกครั้งในวันพุธ ก่อนที่รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนธันวาคมจะออกมา รายงานการประชุมนั้นกดดันตลาดหุ้นและทองคำ ในขณะที่ช่วยดันดัชนีดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น
เจมส์ สแตนลีย์ นักวิเคราะห์จาก DailyFX วิเคราะห์ว่า
“แนวต้าน $1,830 ตอนนี้สามารถพิจารณาได้แล้วว่าเป็นแนวต้านระยะยาว โซนระดับราคาที่ $1,829 และ $1,832 ต่างก็เป็นโซนปรับฐานที่เกิดขึ้นจากเครื่องมือ Fibonacci Retracement ที่ระดับ 38.2% ถ้าหากไม่มีสถานการณ์ผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น ยากแล้วที่ทองคำจะสามารถปรับตัวขึ้นยืนเหนือแนวต้านนี้ได้ เพราะนักลงทุนปักใจเชื่อไปแล้วว่ายังคงทองคำก็จะต้องลงในวันที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย ถึงแม้ว่าจะยังไม่รู้ว่าเป็นช่วงไหนของปีนี้ก็ตาม”
“หากเป็นเช่นนั้น” เขากล่าวต่อ “มีโอกาสที่ทองคำจะปรับตัวลดลงไปวิ่งต่ำกว่า $1,700 โดยมีแนวรับหลักคือ $1,680 ที่เคยทำหน้าที่เป็นแนวรับที่ลึกที่สุดของปี 2021 ในปีที่ผ่านมา การเด้งกลับขึ้นมาจากแนวรับบริเวณนี้ ส่งผลให้ทองคำสร้างจุดสูงสุดที่ต่ำลงเรื่อยๆ ก่อให้เกิดรูปแบบสามเหลี่ยมลู่ลง ในระยะยาว นี่คือการฟอร์มตัวของรูปแบบขาลงครั้งใหญ่”
ถึงแม้ว่าตลาดลงทุนจะไม่ทราบวันเวลาอย่างเป้นทางการว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเวลาใดของปีนี้ แต่เพราะก่อนหน้านี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เปิดเผยข้อมูลกรอบเวลาที่จะหยุดโครงการเงินเยียวยาภัยโรคระบาดไปแล้ว ประกอบกับเผยความเป็นไปได้ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึงสามครั้งในปี 2022 จึงทำให้นักลงทุนวิเคราะห์และเชื่อกันไปต่างๆ นานาว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นจริง ทั้งๆ ที่เฟดก็กล่าวว่าต้องขึ้นอยู่กับว่าเงินเฟ้อจะลดลงมาเหลือ 2% ตามเป้า และการจ้างงานจะกลับมาเต็มกำลังด้วยหรือไม่ แต่ความเชื่อเหล่านั้นก็เพียงพอที่จะหยุดราคาทองคำไม่ให้ขึ้นยืนเหนือ $1,830 ได้
ฟิลิป สตริปเบิล นักวิเคราะห์จาก Blue Line Futures ในชิคาโกมองว่าเฟดอาจจะไม่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากอย่างที่ตลาดลงทุนคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการจ้างงานยังคงมีปัจจัยใดๆ ก็ตามมาชะลอการเติบโต ถึงตัวเลขอัตราการว่างงานจะกลับลงมาแล้วที่ 3.9% แต่ตัวเลขมาตรวัดเงินเฟ้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดัชนีราคาผู้บริโภค และการบริโภคส่วนบุคคลก็ยังคงสูงที่สุดในรอบ 40 ปี
จริงอยู่ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นไม่ใช่ข่าวดีสำหรับทองคำ แต่นักวิเคราะห์ก็เชื่อว่าธีมการลงทุนในปีนี้หลักๆ ก็ยังคงเป็นเงินเฟ้อ และถ้าหากการลด QE ยังไม่สามารถกดเงินเฟ้อให้ลดลงมา มีความเป็นไปได้ที่อาจจะได้เห็นราคาทองคำขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่เหนือ $2,100
ภาพรวมทางเทคนิคของราคาทองคำ
ราคาซื้อขายทองคำล่วงหน้าที่จะส่งมอบในเดือนกุมภาพันธ์บนตลาด COMEX นิวยอร์กในวันศุกร์ที่แล้วปรับตัวขึ้น 0.5% มาอยู่ที่ระดับราคา $1,797 แต่หากพิจารณาเป้นภาพรวมรายสัปดาห์ จะพบว่าราคาทองคำปรับตัวลดลง 1.7%
Sunil Kumar Dixit นักวิเคราะห์จาก skcharting.com วิเคราะห์ภาพรวมทางเทคนิคของราคาทองคำเอาไว้ว่า
“สัปดาห์นี้มีโอกาสที่ราคาทองคำจะวิ่งไซด์เวย์อยู่ในกรอบเช่นนี้ต่อไป หากราคาสามารถยืนเหนือ $1,798 ไปได้ตลอด ก็อาจจะเปิดโอกาสให้ราคาขึ้นทดสอบแนวต้านถัดไปที่ $1,810 และ $1,825 แต่ถ้าทองคำหลุดแนวรับ $1,789 ลงไป มีโอกาสที่จะได้เห็นแนวรับ $1,782 หรือถ้าแย่ที่สุดคือลงไปถึง $1,678 ในความเห็นของผม สัปดาห์นี้โซนแนวรับ $1,770 - $1,768 จึงเป็นโซนการปรับฐานที่สำคัญมาก”
ภาพรวมตลาดน้ำมันทั้งปัจจัยพื้นฐานและทางเทคนิค
ราคาน้ำมันปิดสัปดาห์ที่แล้วด้วยการปรับตัวขึ้นห้าวันติดต่อกัน จากผลกระทบของการระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่ เหตุการณ์ในคาซัคสถาน และกลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (OPEC+) ที่ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ เป็นพิเศษนอกจากคงอัตราการผลิตน้ำมันเอาไว้ที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ขาขึ้นเมื่อวันศุกร์ก็ได้รับผลกระทบให้ชะลอตัวลดลงเพราะการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ที่ออกมาได้เพียง 199,000 ตำแหน่ง น้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ 450,000 ตำแหน่ง แต่ยังดีที่ตัวเลขการว่างงานลดลงมาต่ำกว่า 4%
เอ็ด โมญ่า วิเคราะห์ว่า
“ถึงจะเชื่อว่าการระบาดของโอมิครอนจะกระทบความต้องการน้ำมันในระยะสั้น แต่ก็อย่าพึ่งมั่นใจว่าการระบาดจะสิ้นสุดลงแล้ว อเมริกา ยูโรโซน และจีนต่างยังคงพบยอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น และกำลังทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์ให้ได้ ถึงอย่างไรโอมิครอนก็จะยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันในระยะสั้นต่อไป ในช่วงครึ่งปีแรก ผมคิดว่าราคาน้ำมันดิบจะวิ่งอยู่ในกรอบแคบๆ ในช่วงครึ่งปีแรก”
สัปดาห์ที่แล้วราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% ถือเป็นขาขึ้นสัปดาห์ที่สาม ที่ทำให้ภาพรวมของน้ำมัน WTI ขึ้นมาแล้วประมาณ 10% ถึงแม้ว่าวันศุกร์ที่ผ่านมา WTI จะปรับตัวลดลง 0.7% มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $78.90 ต่อบาร์เรลก็ตาม ในขณะเดียวกัน ราคาซื้อขายน้ำมันดิบเบรนท์ก็ปรับตัวขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ที่แล้วมากกว่า 5% มีภาพรวมตลอดสามสัปดาห์เหมือนกับน้ำมันดิบ WTI แม้ว่าวันศุกร์จะปรับตัวลดลงไป 0.3% มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $81.75 ต่อบาร์เรลก็ตาม
Sunil ให้ความเห็นกับตลาดน้ำมันดิบว่า
“ถึงสัปดาห์นี้ WTI จะมีโอกาสไซด์เวย์ตลอดทั้งสัปดาห์ แต่เพราะสามารถยืนเหนือ $74 ต่อบาร์เรล ประกอบกับเป็นขาขึ้นมาสามสัปดาห์ติดต่อกัน ทำให้ยังมีโอกาสที่จะได้เห็นราคาที่แนวต้าน $80 ต่อบาร์เรล หากสามารถขึ้นไปถึง $80 ต่อบาร์เรลได้จริง แนวต้านถัดไปที่ควรพิจารณาคือ $83 - $85 ต่อบาร์เรล โดยมีแนวต้านระยะกลางคือ $89 - $90 ต่อบาร์เรล ส่วนแนวรับกราฟมีอยู่ที่ $75-$73 ต่อบาร์เรล”