โดย Barani Krishnan
Investing.com - ราคาน้ำมันปรับตัวลงมากกว่า 1% เมื่อวานนี้ ด้วยแรงขายจากข่าวที่ว่า อิหร่านกำลังอยู่ในช่วงบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์เพื่อยุติมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันดิบจากอิหร่าน ก่อนที่นักการทูตรัสเซียผู้ปล่อยข่าวจะอ้างว่า คำพูดของเขาถูกนำไปตีความแบบผิดๆ
การลดลงของดอลลาร์สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ก็มีส่วนช่วยพยุงราคาน้ำมัน ซึ่งในตอนแรกลดลงมากกว่า 2%
ราคา น้ำมันดิบ WTI ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ลดลง 78 เซนต์หรือ 1.2% ปิดที่ราคา 65.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากแตะจุดต่ำสุดที่ 64.17 ดอลลาร์
ราคา น้ำมันเบรนท์ ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานน้ำมันดิบสากล ปิดตัวลดลง 75 เซนต์หรือ 1.1% ที่ 68.71 ดอลลาร์ โดยลดลงต่ำสุดที่ 67.30 ดอลลาร์ระหว่างวัน
ในช่วงแรก ราคาน้ำมันร่วงลงจากรายงานที่อ้างคำพูดของมิคาอิล ยูเลียนอฟ ผู้แทนฯของรัสเซียประจำองค์กรระหว่างประเทศในกรุงเวียนนา ซึ่งระบุว่า "ความคืบหน้าครั้งใหญ่" เกิดขึ้นแล้ว ในการเจรจาระหว่างเตหะรานและภาคีระดับโลก สำหรับข้อตกลงนิวเคลียร์ และ "ข่าวสำคัญน่าจะมาถึงในวันพรุ่งนี้”
อย่างไรก็ตาม ยูเลียนอฟปฏิเสธในภายหลังว่า ข้อตกลงกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา “ผมไม่ได้บอกว่ามีการบรรลุข้อตกลงใด ๆ ในการเจรจาด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน มันมีเพียงความคืบหน้า แต่ปัญหายังคงอยู่” เขากล่าวเสริม
ราคาน้ำมันยังได้รับอานิสงฆ์ หลังจากที่ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเทียบกับเงินยูโรและเงินสกุลหลักอื่น ๆ อีก 5 สกุล ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดที่ 89.68 ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์
อิหร่านได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะสามารถกลับมาผลิตน้ำมันสูงสุดได้เกือบ 4 ล้านบาร์เรลต่อวันหากมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันซึ่งกำหนดโดยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ในปี 2018 อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวด้านการผลิตน้ำมันดิบในประเทศ คาดการณ์การผลิตไว้เพียงประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่อุปทานน้ำมันจากอิหร่านกลับมาเพิ่มสู่ตลาด จะส่งผลให้มีการกำหนดรูปแบบใหม่ของอุปทานน้ำมันทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นขาลงมากกว่าขาขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคำถามเกี่ยวกับการฟื้นตัวของอุปสงค์หลังจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ในประเทศผู้นำเข้าน้ำมันอันดับ 3 ของโลกอย่างอินเดีย
นอกจากนี้ ผู้ค้าน้ำมันยังคงเฝ้าติดตามภาพรวมของอุปสงค์ - อุปทานน้ำมันรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ จากสถาบัน API หรือ American Petroleum Institute อีกด้วย
API มีกำหนดเผยแพร่คร่าว ๆ ในเวลา 16.30 น. ET (20:30 GMT) ก่อนที่จะรายงานอย่างเป็นทางการในช่วงสายของวันนี้ จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับอุปสงค์ - อุปทานของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมรายสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 14 พฤษภาคม
ตามฉันทามติของนักวิเคราะห์ที่ติดตามโดย Investing.com คาด น้ำมันดิบคงคลัง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว เทียบกับการลดลง 427,000 บาร์เรลในสัปดาห์ก่อนหน้าที่สิ้นสุด ณ วันที่ 7 พฤษภาคม
น้ำมันเบนซินคงคลัง มีแนวโน้มลดลง 886,000 บาร์เรล เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 378,000 ในสัปดาห์ก่อนหน้า
และปริมาณ น้ำมันกลั่น ซึ่งประกอบด้วยน้ำมันดีเซลและ น้ำมันถ่ายเทความร้อน มีแนวโน้มหดตัว 386,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากลดลง 1.7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ก่อนหน้า