SCB EIC ชี้ช่องผู้ค้าทองปรับกลยุทธ์รับมือความท้าทาย-ขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่เพิ่ม

เผยแพร่ 16/07/2567 19:16
SCB EIC ชี้ช่องผู้ค้าทองปรับกลยุทธ์รับมือความท้าทาย-ขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่เพิ่ม
USD/THB
-

InfoQuest - ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) วิเคราะห์ เรื่อง "ธุรกิจทองคำไทย ไปต่ออย่างไรให้ยิ่งมั่งคั่ง" ระบุว่า จากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2023 พบว่า กลุ่มที่มีการลงทุนในทองคำมากที่สุด คือ กลุ่ม Gen X คิดเป็นสัดส่วน 51% รองลงมาเป็นกลุ่ม Gen Y คิดเป็นสัดส่วน 34% อีกทั้ง กลุ่ม Gen X และ Y ยังมีสัดส่วนผู้ที่สนใจลงทุนเพิ่มเติมในทองคำสูงกว่า Gen อื่น ๆ อีกด้วย สะท้อนฐานนักลงทุนกลุ่ม Gen X และ Y ที่ยังเป็นกลุ่มหลักที่ลงทุนในทองคำอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง เมื่อพิจารณากลุ่มที่สนใจลงทุนเพิ่มเติมในทองคำ จำแนกตามระดับรายได้ จะพบว่า กลุ่มที่มีรายได้ระดับ 50,000 บาท/เดือนลงมา สนใจลงทุนเพิ่มเติมในทองคำ เป็นโอกาสให้ผู้ค้าทองอาจขยายฐานนักลงทุนกลุ่มดังกล่าว ด้วยการมุ่งเน้นการนำเสนอบริการลงทุนในทองคำที่ตอบโจทย์กลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมา อย่างการเปิดบัญชีจำหน่ายทองคำในหน่วยย่อย เพื่อให้ผู้ลงทุนที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมาสามารถทยอยลงทุนได้อย่างเหมาะสมตามระดับเงินออม และสะสมรับเป็นทองคำได้เมื่อถึงน้ำหนักที่กำหนด

*แนะธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานทองคำปรับกลยุทธ์รับมือความท้าทาย และคว้าโอกาสเพิ่มรายได้จากการที่ไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ค้าสินค้าทองคำขั้นปลาย ส่งผลให้การบริหารจัดการต้นทุน การเพิ่มรายได้ทั้งจากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และการขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ ยังเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ จากข้อจำกัดที่ไทยยังไม่มีโรงงานสกัดทองคำให้มีความบริสุทธิ์ตามมาตรฐานสากล การผลิตสินค้าขั้นปลายที่มีส่วนประกอบของทองคำในไทยส่วนหนึ่งจึงยังต้องอาศัยการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปไปยังประเทศที่มีศักยภาพในการสกัดทองคำให้มีความบริสุทธิ์ก่อน แล้วจึงนำเข้าทองคำกลับมาที่ไทยอีกครั้งมาผลิตเป็นสินค้าขั้นปลาย จึงนับว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งออก และนำเข้าทองคำกลับมาที่ไทย เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้าทองคำขั้นปลาย

อีกทั้ง ต้นทุนการผลิตยังมีความผันผวนไปตามราคาทองคำในตลาดโลก และค่าเงินบาท ที่จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจบริหารจัดการต้นทุนราคาทองคำ และสต็อกวัตถุดิบทองคำอย่างเหมาะสม รวมถึงยังจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องเตรียมพร้อมรับมือต่อวิกฤต โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ห่วงโซ่อุปทานทองคำของโลกหยุดชะงักจากสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ภาวะสงคราม โรคระบาด นโยบายการควบคุมนำเข้าและส่งออกทองคำระหว่างประเทศ ปัญหาด้านการขนส่ง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาทองคำมีความผันผวน และอาจรุนแรงไปจนถึงภาวะขาดแคลนทองคำ ส่งผลให้การผลิต และการซื้อขายทองคำในไทยหยุดชะงัก ซึ่งจำเป็นต้องมีการสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานทองคำของไทยจากแหล่งต่าง ๆ ให้เพียงพอต่อการผลิต ทั้งจากทองคำในประเทศสำหรับรีไซเคิล และทองคำที่นำเข้ามาจากต่างประเทศให้เหมาะสม

ผู้ผลิตสินค้ากลุ่มเครื่องประดับทองคำ ควรมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รวมถึงขยายฐานลูกค้า ทั้งผู้บริโภคในประเทศ ผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้าน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผู้ผลิตสินค้ายังจำเป็นต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เช่น ความประณีต การออกแบบลวดลายทองรูปพรรณให้มีเอกลักษณ์ เพื่อดึงดูดกำลังซื้อจากกลุ่มผู้ซื้อเครื่องประดับทองคำ ที่นิยมซื้อเพื่อสะท้อนความมั่งคั่ง และเก็บสะสม ซึ่งเป็นกลุ่มฐานผู้ซื้อเครื่องประดับทองคำในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ผู้ผลิตสินค้ายังอาจขยายฐานผู้ซื้อเครื่องประดับทองคำไปยังกลุ่มผู้มีกำลังซื้อใหม่ ๆ เช่น ผู้เริ่มประกอบธุรกิจส่วนตัว และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีการเติบโตของรายได้แบบก้าวกระโดด แต่รายได้ไม่แน่นอน จึงต้องการสะสมสินทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกันในอนาคต รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อ ด้วยการออกแบบเครื่องประดับที่มีความทันสมัยมากขึ้น และสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้ง อาจร่วมมือผลิตสินค้าเครื่องประดับออกเป็นคอลเล็กชั่นกับแบรนด์แฟชั่นต่าง ๆ ไปจนถึงการผลิตสินค้าที่กำลังเป็นกระแส และได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ

สำหรับตลาดผู้ซื้อเครื่องประดับทองคำชาวต่างชาตินั้น SCB EIC มองว่า ยังมีโอกาสในการขายเครื่องประดับทองคำให้

กลุ่มผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านที่นิยมเครื่องประดับทองคำจากไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มที่มีการถือครองทองคำต่อหัวที่สูงที่มาท่องเที่ยวในไทย อย่างชาวตะวันออกกลาง ได้แก่ คูเวต ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านช้อปปิ้งโดยเฉลี่ยต่อหัวในการมาท่องเที่ยวในไทยในปี 2565 อยู่ที่ 13,860 บาท 11,122 บาท และ 8,594 บาท ตามลำดับ รวมถึงชาวฮ่องกง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านช้อปปิ้งโดยเฉลี่ยต่อหัวในการมาท่องเที่ยวในไทยในปี 2565 สูงถึง 19,624 บาท สูงกว่าค่าใช้จ่ายด้านช้อปปิ้งโดยเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวม ซึ่งอยู่ที่ 7,933 บาท เป็นโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้ากลุ่มเครื่องประดับทองคำมุ่งเน้นการออกแบบเครื่องประดับให้ตอบโจทย์ความนิยมของนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น รวมถึงธุรกิจค้าทองยังสามารถขยายฐานลูกค้าชาวต่างชาติกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฮ่องกง ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าหลักสำหรับสินค้าเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองของไทยอยู่แล้วผู้ค้าทองรายใหญ่ยังสามารถขยายการให้บริการ ด้วยการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น สถาบันการเงิน การขายทองคำผ่าน E-wallet เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขาย และลงทุนในทองคำได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ค้าทองที่มีสาขาอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว อาจทำการตลาดกระตุ้นการซื้อเครื่องประดับทองคำในสาขาที่มีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีการถือครองทองคำต่อหัวที่สูง รวมถึงอาจเป็นพันธมิตรกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจขายสินค้าที่ระลึก เพื่อทำการตลาดร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ค้าทองสามารถขยายช่องทางการขายเครื่องประดับทองคำไปสู่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มที่มีศักยภาพได้เพิ่มเติม

สำหรับผู้ค้าทองรายกลางและเล็กอาจขยายบริการการออมทอง รวมถึงเร่งสร้างรายได้เพิ่มเติมจากบริการอื่น ๆ จากการที่ฐานลูกค้าจำนวนมาก ทั้งผู้บริโภค และนักลงทุนยังกระจุกตัวใช้บริการผู้ค้าทองรายใหญ่ ส่งผลให้ผู้ค้าทองรายกลางและเล็กจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ อีกทั้ง ความท้าทายของผู้ค้าทองรายกลางและเล็กยังอยู่ที่ความสามารถในการบริหารสภาพคล่อง โดยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสต็อกทองคำ และเงินสดอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงที่มีปริมาณการซื้อขายทองคำสูง

สำหรับในช่วงที่ปริมาณการซื้อขายทองคำชะลอตัว ที่อาจส่งผลต่อสภาพคล่องของกิจการนั้น ผู้ค้าทองรายกลางและเล็กยังจำเป็นต้องเร่งสร้างรายได้เพิ่มเติม ผ่านการขยายการให้บริการ อย่างการซื้อขายทองคำผ่านโปรแกรมการออมทอง หรือการแบ่งขายทองคำสำหรับสะสมเป็นน้ำหนักทองในหน่วยย่อยเป็นกรัม หรือมิลลิกรัม สำหรับผู้ซื้อทองคำที่ต้องการทยอยสะสม และนักลงทุนในพื้นที่ เพื่อขยายโอกาสในการซื้อขายทองคำที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อขายทองคำหน้าร้าน ซึ่งมักจำหน่ายอย่างน้อย 0.5 สลึง (1.89 กรัม) โดยจะสามารถเพิ่มโอกาสการจำหน่าย โดยเฉพาะจากผู้ซื้อทองคำรายย่อย และนักลงทุนกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์ม หรือบัญชีการซื้อขายออนไลน์ของผู้ค้าทองรายใหญ่ได้ โดยการมีหน้าร้านในพื้นที่จะเป็นปัจจัยหนุนให้โปรแกรมการออมทองมีความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ผู้ค้าทองรายกลางและเล็กจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการบัญชีซื้อขายอย่างมีประสิทธิภาพ และมีทองคำที่พร้อมส่งมอบเมื่อลูกค้าต้องการรับสินค้า เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจ

นอกจากนี้ ผู้ค้าทองรายกลางและเล็กอาจเร่งสร้างรายได้เพิ่มเติมจากบริการอื่น ๆ เช่น รับขายฝาก รับซ่อมทอง ชุบทอง

โดยการพัฒนาฝีมือของช่างทอง หรือการส่งต่อทองคำไปยังช่างทองที่มีฝีมือที่เป็นพันธมิตรกับร้าน จะเป็นการสร้างจุดแข็งให้กับผู้ค้าทองรายกลางและเล็กได้ทางหนึ่ง

*การปรับปรุงและพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ สร้างความเชื่อมั่น-ขยายโอกาสทำธุรกรรมปัจจุบัน การซื้อขายทองคำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีสัดส่วนมากกว่าการซื้อขายหน้าร้าน อย่างไรก็ตาม ธุรกรรมการซื้อขายทองคำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ยังคงมีความเสี่ยง เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ ความปลอดภัยของข้อมูล เป็นช่องทางฉ้อโกงจากมิจฉาชีพ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค และนักลงทุน ทั้งนี้เจ้าของแพลตฟอร์มการซื้อขายทองคำออนไลน์ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ค้าทองรายใหญ่ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายทองคำให้มีความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และขยายโอกาสในการทำธุรกรรมซื้อขายทองคำ ไปจนถึงสามารถขยายฐานลูกค้ากลุ่มผู้บริโภค และนักลงทุนที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้

นอกจากนี้ การส่งเสริมอุปสงค์จากการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี จะสามารถสร้างโอกาสในการขยายขอบเขตการซื้อขายทองคำ จากการที่ภาครัฐกำหนดให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ หรืออยู่ในกลุ่ม First S-curve ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน ไปจนถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อน ทั้งนี้การผลิตสินค้าเหล่านี้ได้มีการใช้ทองคำเป็นส่วนประกอบ ซึ่งหากภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการลงทุนผลิตสินค้าเหล่านี้ได้มากขึ้น ก็จะกระตุ้นอุปสงค์ทองคำในภาคการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีได้มากขึ้น

กดอ่านข่าวต้นฉบับจาก InfoQuest

ความคิดเห็นล่าสุด

การเปิดเผยความเสี่ยง: การซื้อขายตราสารทางการเงินและ/หรือเงินดิจิตอลจะมีความเสี่ยงสูงที่รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียจำนวนเงินลงทุนของคุณบางส่วนหรือทั้งหมดและอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุนทั้งหมด ราคาของเงินดิจิตอลแปรปรวนอย่างมากและอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเงิน กฎหมายกำกับดูแล หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง การซื้อขายด้วยมาร์จินทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ก่อนการตัดสินใจซื้อขายตราสารทางการเงินหรือเงินดิจิตอล คุณควรตระหนักดีถึงความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดการเงิน ควรพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และ การยอมรับความเสี่ยงและแสวงหาคำแนะนำทางวิชาชีพหากจำเป็น
Fusion Media อยากเตือนความจำคุณว่าข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ไม่ใช่แบบเรียลไทม์หรือเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป ข้อมูลและราคาที่แสดงไว้บนเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหรือตลาดหลักทรัพย์เสมอไปแต่อาจได้รับจากผู้ดูแลสภาพคล่องและดังนั้นราคาจึงอาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำและอาจแตกต่างจากราคาจริงในตลาดซึ่งหมายความว่าราคานี้เป็นเพียงราคาชี้นำและไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อขาย Fusion Media และผู้ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้จะไม่รับผิดชอบใด ๆ สำหรับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เป็นผลมาจากการซื้อขายของคุณหรือการพึ่งพาของคุณในข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้
ห้ามใช้ จัดเก็บ ทำซ้ำ แสดงผล ดัดแปลง ส่งผ่าน หรือ แจกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Fusion Media และ/หรือจากผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้
Fusion Media อาจได้รับผลตอบแทนจากผู้โฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของคุณที่มีกับโฆษณาหรือผู้โฆษณา
เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเอกสารฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นหลักซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่เหนือกว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อขัดแย้งไม่สอดคล้องตรงกันระหว่างเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย