InfoQuest - สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (8 ก.พ.) โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ รวมทั้งการที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะใกล้นี้
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 3.8 ดอลลาร์ หรือ 0.18% ปิดที่ 2047.9 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 27.6 เซนต์ หรือ 1.23% ปิดที่ 22.636 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 7.1 ดอลลาร์ หรือ 0.80% ปิดที่ 894.0 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 8.20 ดอลลาร์ หรือ 0.91% ปิดที่ 892.10 ดอลลาร์/ออนซ์
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 4.1% ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้นแตะระดับ 104.165 เมื่อคืนนี้
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาที่ไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ ส่วนการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
นักลงทุนยังคงจับตาการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายออกมาส่งสัญญาณว่าเฟดจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อของสหรัฐกำลังชะลอตัวสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
นายโทมัส บาร์กิน ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวมาร์เก็ตวอตช์เมื่อวานนี้ว่า ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความคืบหน้าของเงินเฟ้อเมื่อไม่นานมานี้ อาจเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และเมื่อพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงไม่แน่นอนในขณะนี้ เขาคิดว่าเฟดอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย
สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยรายงานแนวโน้มตลาดทองคำสำหรับปี 2567 (Gold Outlook 2024) โดยระบุว่า ความต้องการทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในปี 2567 เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศจะเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้ WGC ยังคาดการณ์ว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะเดินหน้าซื้อทองคำเข้าสู่ระบบทุนสำรอง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำ