หลังจากรอคอยกันมานานหลายปี ปีนี้เป็นปีแรกที่เริ่มเห็นเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย
ถ้าดูตัวเลขตั้งแต่ต้นปี 2565 นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยด้วยมูลค่ามากกว่า 70,000 ล้านบาท
หลังจากที่ 5 ปีก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ปี 2560-2564 ขายสุทธิมากกว่า 670,000 ล้านบาท เรียกได้ว่า Fund Flow เพิ่งจะกลับเข้ามาในตลาดแค่ 10% นิดๆ ของที่ขายไปก่อนหน้าเท่านั้นเอง
นอกจากนี้ เรายังพอแกะสัญญาณได้จากตลาดพันธบัตร (Bond) และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา แบบนี้
ตลาดพันธบัตรระยะสั้น นักลงทุนต่างชาติเพิ่มการถือครองประมาณ 120,000 ล้านบาท จากที่เคยขายสุทธิ 1,859 ล้านบาทในปีก่อน ว่ากันว่า เวลาที่เม็ดเงินต่างชาติเข้ามา มักจะเข้ามาพักที่ Bond ระยะสั้นก่อน แล้วถึงจะเข้ามาในตลาดหุ้นต่อไป
ค่าเงินบาทเคยลงไปที่ 31.1 บาท ก่อนที่วันนี้จะกลับมาอยู่ที่ 32.7 บาท ถือว่าแข็งมากเทียบกับตอนต้นปีที่เคยอยู่ประมาณ 33.7 บาท เรียกได้ว่าแข็งค่าขึ้น 3-8% ในระยะเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้นเอง
ในมุมของตัวเลขเศรษฐกิจ เราก็อาจจะพอสันนิษฐานได้ว่า ในสถานการณ์ที่หลายประเทศเริ่มขึ้นดอกเบี้ย เงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้น หุ้นเทคโนโลยี หุ้น Growth ต่างๆ เริ่มมีแรงเทขายกัน ทำให้เม็ดเงินส่วนหนึ่งไหลเข้าสู่ประเทศ Emerging Market มากขึ้น
อย่างประเทศไทยเองตัวเลข GDP ที่เพิ่งประกาศออกมา ปี 2564 มีการเติบโต 1.6% และคาดการณ์ว่าปีนี้จะโต 3.5-4.5% ถึงแม้จะดูว่าโตไม่เยอะ แต่ก็เริ่มเห็นการฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ และโดยปกติหุ้นกลุ่ม Value หรือ หุ้นกลุ่มผู้นำ Domestic Play ในประเทศมักจะเป็นที่ที่เม็ดเงินเหล่านั้นไหลเข้ามา
ถ้าดูจากข้อมูลในอดีต เราจะพบว่า เวลาต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นไทย มักจะซื้อหุ้นใหญ่ (เพราะเงินเขาเยอะ) ซื้อหุ้นผู้นำในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม (เพราะเป็นตัวแทนในแต่ละ sector) และทยอยซื้อต่อเนื่องตามวงเงินที่ได้วางแผนการลงทุนในแต่ละประเทศ
ถ้าเราดูการปรับตัวของราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีก็ค่อนข้างสอดคล้องไปในทางเดียวกัน เช่น
-
กลุ่มธนาคาร KBANK +12.7% BBL +11.6%
-
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ AP +12% LH +7.9%
-
กลุ่มพาณิชย์ CRC +18.5% CPALL +13%
-
กลุ่มโรงพยาบาล BH +8.9%
วันนี้เราเลยมาลองเจาะลึกหุ้นใหญ่เหล่านั้นว่ามีผลประกอบการน่าสนใจแค่ไหน เพื่อความสะดวก เข้าใจง่าย และข้อมูลที่ครบถ้วน เราจะใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ Jitta กันครับ แต่ต้องบอกไว้ล่วงหน้าก่อนว่า บางทีเราเห็นราคาหุ้นมี P/E สูง หรือ Over Jitta Line จนน่าตกใจ เพราะได้รับผลกระทบจาก COVID ทำให้กำไรสะดุดลงไป บางทีอาจเป็นเพียงชั่วคราว แต่แนวโน้มยังดีอยู่
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (BK:KBANK)
KBANK หุ้นธนาคารที่ Fund Flow มักจะเข้าเป็น sector แรก เพราะมองว่าเป็นตัวแทนของเศรษฐกิจไทย และที่ผ่านมาราคาหุ้นก็ลงไปค่อนข้างเยอะมาก เรียกได้ว่า laggard หุ้นกลุ่มอื่นอยู่พอสมควร
KBANK มี Jitta Score 5.3 ถือว่าดีมีความแข็งแกร่งทั้งเรื่องของอัตราส่วนทางการเงิน ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น และงบการเงินที่ผ่านมาก็ถือว่าเติบโตได้ดีในสถานการณ์ COVID
รายได้ปี 2564 อยู่ที่ 164,043 ล้านบาท +5.7% และกำไรสุทธิอยู่ที่ 30,853 ล้านบาท +29% ถือว่าทำได้ดี สินเชื่อเติบโตได้สูงถึง 7.9% รายได้ดอกเบี้ยโตดี คุมค่าใช้จ่ายได้ดี ตั้งสำรองลดลง คุม NPL ได้ดีที่ 3.76%
แนวโน้มในอนาคต ผู้บริหารให้เป้าการเติบโตสินเชื่อ 6-8% มีการปล่อยสินเชื่อ digital lending มากขึ้น การตั้งสำรองมีแนวโน้มลดลงเพราะตั้งไปพอสมควรแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ตั้งตัวเองเป็นยานแม่ แต่ก็มีลูกๆ หลายคนที่ทำงานหลากหลายด้าน มีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง และอาจมีการ spin off บริษัทย่อยที่เป็น digital banking เข้าตลาดหุ้นได้ในอนาคต
KBANK มี Market Cap 387,385 ล้านบาท
P/E 10.2 เท่า P/BV 0.83 เท่า และราคา over Jitta Line 64.4%
========================
บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (BK:LH)
LH หุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่มีครบทั้งแนวราบและแนวสูง กับหลากหลายแบรนด์ที่มีมาอย่างยาวนาน เช่น ลดาวัลย์ นันทวัน มัณฑนา The Room, The Bangkok, The Key และยังมีบริษัทที่ไปลงทุนด้วยอย่าง HMPRO
LH มี Jitta Score 4.75 ถือว่าใช้ได้ มีงบการเงินที่แข็งแรง ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นดี แต่การเติบโตปีที่แล้วดูไม่ค่อยดีนักทั้งจากอสังหาของตัวเองและกำไรจาก HMPRO ทำให้รายได้ทั้งปี 2564 อยู่ที่ 33,031 ล้านบาท +6.7% และกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,936 ล้านบาท -2.9%
แต่แผนการเติบโตในปีนี้ดูน่าสนใจขึ้นกับการเปิดตัว 15 โครงการ (เน้นแนวราบ) มูลค่า 29,500 ล้านบาท และยังมีอสังหาให้เช่า โรงแรม การฟื้นตัวของบริษัทลูกอย่าง HMPRO กับ QH และอาจจะมี upside เพิ่มเติมได้อีกจากสินทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา
LH มี Market Cap 114,717 ล้านบาท
P/E 16.5 เท่า และราคา over Jitta Line 126.4%
ซีพี ออลล์ จำกัด (BK:CPALL)
CPALL หุ้นร้านค้าปลีกและค้าส่งอันดับ 1 เพราะมีทั้ง 7-11 (เบอร์ 1 ร้านสะดวกซื้อ) Lotus’s (เบอร์ 1 ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่) และ Makro (เบอร์ 1 ร้านค้าส่ง)
CPALL มี Jitta Score 3.98 มีความคล้ายกับ LH ในแง่ที่ว่างบการเงินแข็งแรง ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นดี แต่การเติบโตปีที่แล้วดูไม่ค่อยดีนักเพราะได้รับผลกระทบจาก COVID เต็มๆ
รายได้ปี 2564 อยู่ที่ 587,189 ล้านบาท +7.5% และกำไรสุทธิอยู่ที่ 12,985 ล้านบาท -19.4% กระทบจากการลดเวลาการเปิดร้าน จำนวนคนเข้าร้านน้อยลง ต้นทุนการเงินในการซื้อ Lotus’s และส่วนแบ่งที่ขาดทุนเข้ามา
แต่ในระยะยาวดูน่าสนใจ เพราะเริ่มเห็นการฟื้นตัวหลังเปิดเมืองใน Q4 ดูได้จากตัวเลขงบการเงินของ 7-11 ที่จำนวนคนเข้าร้านเพิ่มขึ้น Makro รายได้ดีขึ้น และ Lotus’s ที่เริ่มจะกลับมาทำกำไรได้แล้ว ตัวเลข SSSG (Same Store Sale Growth) เดือนมกราคมก็เป็นบวกหมดทุกร้านค้า
CPALL มี Market Cap 608,605 ล้านบาท
P/E 46.8 เท่า และราคา over Jitta Line 84.8%
========================
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (BK:BH)
BH หุ้นโรงพยาบาลระดับ high end ที่ปกติมีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติมากกว่า 65% แต่ได้รับผลกระทบจาก COVID ทำให้คนไข้เข้ามากันลดลง รายได้และกำไรเลยลดลงไปเยอะ
BH มี Jitta Score 4.55 ใกล้เคียงกับ LH ถือว่าใช้ได้ มีงบการเงินแข็งแกร่ง ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นดี มีความได้เปรียบในการแข่งขันได้ดี แต่การเติบโตไม่ดีเพราะ COVID
รายได้ของปี 2564 อยู่ที่ 12,673 ล้านบาท +0.8% และกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,215 ล้านบาท +0.9% เพราะคนไข้ต่างชาติลดลง ขณะที่สัดส่วนคนไทยไม่ได้เข้ามาเพิ่มขึ้นมากพอจนชดเชยกันได้
แต่ในระยะถัดไปจะมีความน่าสนใจมากขึ้นถ้ามีการเปิดประเทศได้ และคนไข้ต่างชาตติน่าจะเป็นกลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาได้ก่อน นอกจากนี้การที่ประเทศไทยเริ่มมีสัมพันธไมตรีที่ดีขึ้นกับทางซาอุดิอาระเบียก็น่าจะทำให้คนไข้จากตะวันออกกลางที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของ BH เดินทางเข้ามามากขึ้นได้อีกด้วย
BH มี Market Cap 123,558 ล้านบาท
P/E 101.8 เท่า และราคา over Jitta Line >1000%
โดยสรุป การติดตาม Fund Flow เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะว่า ขนาดเม็ดเงินของต่างชาตินั้นมีมูลค่ามหาศาลมาก ขนาดเข้ามาแค่ 10% ของที่ขายไป ยังทำให้ดัชนี SET Index ขึ้นไปได้ถึง 1700 จุด
แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เราต้องติดตามอย่างต่อเนื่องว่า เงินไหลเข้ามาจริงมั้ย หรือเป็นแค่ hot money ที่มาเพียงชั่วคราว และเราต้องเลือกหุ้นที่ได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้ลงทุนให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดกับพอร์ตของเรา
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกทาง Stock Vitamins - วิตามินหุ้น