หุ้นธนาคารลงหนักมากทั้งกลุ่มลบไป 4%
3 แบงค์ใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (BK:KBANK) -7% (BK:SCB) -6% (BK:BBL) -3%
ราคาหุ้นจาก 200 กว่า เหลือ 100 ต้น ๆ ถึง 100 กลาง ๆ มีบางคนมองว่า อาจเห็นเลขต่ำร้อย
ลองคิดแบบง่าย ๆ บ้าน ๆ ดูกันมั้ยครับ ว่าทำไมหุ้นแบงค์ในช่วงที่ผ่านมานี้ถึงไม่น่าลงทุน
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจถึงโครงสร้างหุ้นแบงค์กันก่อนว่า วิธีการทำมาหากินหลัก ๆ แบ่งได้เป็น 2 อย่างคือ
• 60-70% ได้เงินจากส่วนต่างดอกเบี้ย คือ เอาเงินฝากดอกเบี้ยต่ำ ๆ ที่พวกเราฝากกัน ไปปล่อยกู้ให้กับคนที่ต้องการลงทุน ขยายกิจการ ต้องการซื้อบ้านซื้อรถ ด้วยดอกเบี้ยที่สูงกว่า แล้วก็กินส่วนต่างไป แบงค์จะได้เงินจากตรงนี้ถ้ามีคนกู้เงินเยอะ ส่วนต่างดอกเบี้ยสูง และไม่เบี้ยวหนี้
• 30-40% รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย หลัก ๆ ก็คือ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น โอนเงิน ประกันภัย บัตรเครดิต กำไรเงินลงทุน ค่านายหน้าหลักทรัพย์ เป็นต้น
…
===================
แล้วสถานการณ์ปัจจุบันที่เราเห็นคืออะไร
1. เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีทั้งไทยและทั่วโลก ถ้าเป็นแบบนี้คนน่าจะกู้น้อยลง สินเชื่อจะปล่อยได้ลดลง
2. เศรษฐกิจไม่ดี คนที่กู้ไปบางส่วนอาจจะเจ๊ง ไม่มีเงินคืนหนี้ แนวโน้ม NPL อาจจะเพิ่ม
3. อัตราดอกเบี้ยแนวโน้มขาลง ไม่ใช่แค่ไทย ที่อื่นก็เป็น เราก็ต้องปรับลดตาม
4. โอนเงินผ่านมือถือไม่เสียค่าธรรมเนียม ไม่มีใครอยากไปสาขาแบงค์กันแล้ว เสียเงิน เสียเวลา ทำให้รายได้ตรงนี้หายไปเยอะมาก
5. เทคโนโลยีทั้งหลายที่จะเข้ามา Disrupt กลุ่มแบงค์มีมากมาย ใช้ Line ก็จ่ายเงินได้ ใช้ Grab ก็จ่ายเงินได้ หรือในอนาคตก็จะเป็นเรื่องของพวก Cryptocurrency ทั้งหลายที่น่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ถามว่าแบงค์ปรับตัวมั้ย ก็จะเห็นหลายแบงค์โดยเฉพาะ KBANK (BK:KBANK) กับ SCB ที่ลงทุนหลายพันหลายหมื่นล้านบาทไปกับการลงทุนระบบใหม่ หรือรวมไปถึงการลงทุนใน Tech Startup หลายแห่ง ส่วน BBL ไม่ค่อยเห็นข่าวการขยับตัวมากนัก ผลที่ตามมาคือ เทคโนโลยีใหม่ ๆ จะทำให้เกิดทางเลือกที่ต้นทุนต่ำลง แบงค์เองก็อาจจะไม่สามารถรักษา NIM ที่สูง ๆ ได้
…
ผมเชื่อว่า 5 ข้อข้างต้น หลายคนที่ติดตามข่าวสารก็น่าจะพอรับรู้เรื่องราวเหล่านี้กันอยู่แล้ว ซึ่งเราก็จะพอประเมินแบบบ้าน ๆ ได้ว่า รายได้แบงค์ไม่น่าจะดีไม่ว่าจะรายได้ดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายช่วงนี้ก็คงต้องลงทุนเพื่อให้เอาชนะบริษัทอื่นที่จะมา Disrupt แล้วก็อาจจะต้องระแวดระวัง NPL ทำให้ต้องตั้งสำรองเพิ่มเติม โดยเฉพาะ SCB ที่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ลูกหนี้ใหญ่ ๆ ดันมีปัญหา ไม่ใช่แค่ PACE แต่โดนมาตั้งแต่ SSI, EARTH และอีกหลายบริษัท
…
ภาพแบบนี้ เราเห็นกันมาซักระยะนึงแล้ว นั่นแปลว่า กลุ่มแบงค์เราก็ควรต้องระวังในการลงทุนให้มาก อาจจะหลีกเลี่ยงโดยเฉพาะแบงค์ใหญ่ที่ได้รับผลกระทบแบบเต็ม ๆ บางคนอาจเลือกลงทุนแบงค์กลาง ๆ ที่มีประเภทการปล่อยสินเชื่อที่ต่างกันออกไปที่ยังโตได้อยู่ หรือบางแบงค์ได้ค่าธรรมเนียม หรือเงินลงทุนมาชดเชย ก็ต้องพิจารณาเป็นรายธนาคารไป แต่ภาพใหญ่กำลังบอกเราว่า ไม่ดี
==================
ภาพมันชัดขึ้นเมื่อ KBANK (BK:KBANK) ออกมาบอกถึงแนวโน้มในปี 2020 ว่า
• การเติบโตของสินเชื่อ (Loan Growth) จากเป้าปี 2019 ที่ 5-7% เหลือ 4-6% (แต่ดูจาก YTD 2019 ก็ไม่น่าถึงเป้าอยู่แล้ว)
• การเติบโตรายได้ค่าธรรมเนียมจาก -5% ถึง -7% มาเป็น -5% ถึง -17%
• NIM จาก 3.3-3.5% เหลือ 3.1-3.3%
• NPL จาก 3.3-3.7% เพิ่มขึ้นเป็น 3.6-4%
• Cost to Income Ratio (ก็คือ SG&A) จาก Low to mid 40 เป็น Mid 40 แปลอีกที คือ จะใช้จ่ายเงินเดือน ค่าระบบ ค่าเสื่อม ค่าการตลาดอะไรต่างๆ ประมาณ 45% ของรายได้
สรุปแบบสั้น ๆ คือ KBANK (BK:KBANK) กำลังจะบอกว่า ปีหน้ารายได้จะลดลงทั้งดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม สินเชื่อหด ดอกเบี้ยหาย กลัวโดนเบี้ยวต้องสำรองหนี้เพิ่ม และค่าใช้จ่าย ๆ ต่าง ๆ ของเราดันเพิ่มขึ้นอีก พอพูดแบบนี้ปุ๊บ หุ้นก็เลยร่วงระนาวและกอดคอร่วงกันทั้งกลุ่ม
คำถามต่อมาที่หลายคนจะถามกันก็คือ
• ตอนนี้คือวิกฤตหรือโอกาส
• ติดดอยอยู่ทำไงดี
• ยังไม่มีของ ซื้อได้หรือยัง เห็น P/BV ต่ำกว่า 1 ปันผลเริ่มสูงขึ้น
• ถ้าแบงค์เริ่มไม่ไหว กลุ่มอื่นจะตามมาด้วยมั้ย
…
เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะถ้ามองดูแล้ว แบงค์เองก็ยังมีเงินสำรองเยอะ แข็งแกร่งกว่าวิกฤตรอบที่แล้ว ปล่อยกู้ระวังตัวมากขึ้น ฐานลูกค้าที่เป็น Database ก็มหาศาล และหลายแบงค์เองก็กลัวการถูก Disrupt และพร้อมลงทุนที่จะเปลี่ยนแปลง ทีนี้คงต้องขึ้นอยู่กับแต่ละแบงค์เองด้วยว่าจะปรับตัวกันในรูปแบบไหนเพื่อไม่ให้ถูก Disrupt ในอนาคต หรือบางทีแบงค์อาจจะต้อง Disrupt ตัวเองเพื่อการอยู่รอดก็เป็นได้
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกทาง Stock Vitamins - วิตามินหุ้น