- สัปดาห์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฯส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งความเสี่ยงสงครามการค้า และ Brexit ก็เริ่มคลี่คลายลง ทำให้เฟดตัดสินใจพักการลดดอกเบี้ยไว้ก่อน
- ไฮไลท์ในสัปดาห์หน้าจะอยู่ที่ การประชุม กนง. ซึ่งคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% อย่างไรก็ดี มองว่า กนง. อาจเปิดเผยมาตรการดูแลค่าเงินบาท หลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จนเริ่มกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ
- เราเชื่อว่า มาตรการดูแลค่าเงินบาทอาจมีผลแค่ระยะสั้น เพราะ โอกาสที่เงินดอลลาร์จะกลับไปแข็งค่ามีน้อย แม้ว่าเฟดจะหยุดลดดอกเบี้ย แต่แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงชะลอตัว นอกจากนี้ผู้ส่งออกจำนวนมากก็พร้อมเข้ามาขายเงินดอลลาร์ หากแข็งค่าใกล้ระดับ 30.40 บาท/ดอลลาร์
- กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 30.00-30.50 บาท/ดอลลาร์
มุมมองนโยบายการเงิน
- การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ในวันพุธ คาดว่าจะ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repo Rate) ที่ระดับ 1.50% เพราะ กนง. ต้องการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) อย่างไรก็ตาม คาดว่า กนง. อาจจะมีการเปิดเผยมาตรการบรรเทาการแข็งค่าของเงินบาทในการประชุมครั้งนี้
- การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ในวันอังคาร ตลาดคาดว่าจะ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Cash Rate) ที่ระดับ 0.75% หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว อัตราการว่างงานลดต่ำลงสู่ระดับ 5.2% ขณะเดียวกันการบริโภคครัวเรือนก็ฟื้นตัวได้ดี หนุนโดยนโยบายปรับลดภาษีและการลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.75%
- การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ในวันอังคาร ตลาดคาดว่าจะ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Overnight Rate) ที่ระดับ 3.00% โดยเศรษฐกิจมาเลเซียยังคงขยายตัวต่อเนื่อง หนุนโดยความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้น และการลงทุนจากภาครัฐที่กลับมาขยายตัวดีขึ้น
- การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในวันพฤหัสฯ ตลาดคาดว่าจะ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Bank Rate) ที่ระดับ 0.75% โดย BOE จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น หากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปโดยไร้ข้อตกลง (No Deal Brexit)
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
- ฝั่งสหรัฐฯ – วันอังคาร ตลาดมองว่า ภาคการบริการสหรัฐฯขยายตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคการผลิต (ISM Non-Manufacturing PMI) ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 53.5จุด นอกจากนี้ยอดการจ้างงานในภาคการบริการเดือนตุลาคมที่เพิ่มขึ้นราว 1.6 แสนรายก็ช่วยย้ำว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการบริการสหรัฐฯยังขยายตัวได้ดี
- ฝั่งยุโรป – ตลาดมองว่าเศรษฐกิจเยอรมนียังไม่ฟื้นตัว โดยยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ที่จะรายงานในวันพฤหัสฯ จะหดตัวราว 0.5% จากเดือนก่อน
- ฝั่งเอเชีย – วันศุกร์ ตลาดคาดว่ายอดการส่งออก (Exports) ของจีนในเดือนตุลาคมจะหดตัว 3.0% จากปีก่อนหน้า จากการค้าโลกที่ซบเซาและเศรษฐกิจคู่ค้า อาทิ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง
