MacroView
ความหวังต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาว ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เร็วกว่าที่เราเคยประเมินไว้ โดยยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจขึ้นไปแตะระดับ 1.60% ณ สิ้นปี เช่นเดียวกับ ยีลด์ 10ปี ไทยที่มีโอกาสแตะระดับ 1.80%
ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฟื้นตัว หนุนบอนด์ยีลด์ 10ปีทั่วโลกพุ่งขึ้น
ตลาดเริ่มกลับมาเชื่อมั่นในแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากที่สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น สะท้อนผ่านยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่ทยอยปรับตัวลดลงทั่วโลก ขณะเดียวกันหลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็สามารถเร่งแจกจ่ายวัคซีนได้ดีขึ้นจากช่วงต้นปี
ความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดังกล่าวได้ถูกสะท้อนผ่าน การปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงของสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมันดิบ รวมถึงแร่โลหะ อย่าง ทองแดงและเหล็ก ทำให้ตลาดยิ่งเชื่อว่า “อัตราเงินเฟ้อ” จะต้องกลับมาอย่างแน่นอน ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับ ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) ของสหรัฐฯ ที่พุ่งกว่า 1.7%y/y นอกจากนี้ ความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของทั้งการเติบโตเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังได้รับแรงหนุนจากโอกาสที่รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน อาจจะสามารถผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ภายในไตรมาสแรก ซึ่งจะยิ่งช่วยหนุนการใช้จ่ายในประเทศและดันให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นได้อีก
ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อความคาดหวังเงินเฟ้อและการเติบโตเศรษฐกิจเริ่มกลับมา ตลาดก็มองว่า เฟด อาจจะเริ่มทยอย “ลด” การอัดฉีดสภาพคล่อง (QE Tapering) เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจลง ซึ่งจากปัจจัยความหวังของเงินเฟ้อและการเติบโตเศรษฐกิจ รวมถึง การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของเฟด ก็ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 45bps จากต้นปี แตะระดับ 1.37% ซึ่งผลจากการปรับตัวขึ้นของยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี ส่วนใหญ่ ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยกว่า 30bps
โดยในฝั่งไทย บอนด์ยีลด์ 10ปี ก็ได้ปรับตัวขึ้นกว่า 29bps แตะระดับ 1.62% สอดคล้องกับ มุมมองของเราที่ได้มองไว้ในบทความ Rates Recap ณ สิ้นเดือนมกราคม
อย่างไรก็ดี เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ไทย ไม่ได้มาจากปัจจัยด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เช่นในฝั่งสหรัฐฯ หากแต่เป็น แรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ได้ส่งผลให้นักลงทุนทยอยลดสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลลง สอดคล้องกับแรงเทขายบอนด์ระยะยาวของไทยโดยนักลงทุนต่างชาติกว่า 7พันล้านบาท ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้สดใสนัก เนื่องจาก การแจกจ่ายวัคซีนก็ยังไม่สามารถแจกจ่ายในวงกว้างได้ จนกว่าจะถึงเดือนมิถุนายน ตามไทมไลน์การแจกจ่ายวัคซีนของรัฐบาล
เราเชื่อว่า ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯและไทย ยังปรับตัวขึ้นได้ต่อ
ในกรณีที่ไม่มีการระบาดอย่างรุนแรงของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ที่สามารถต้านทานวัคซีนในปัจจุบันได้ เราเชื่อว่า เศรษฐกิจทั่วโลกจะฟื้นตัวดีขึ้น หนุนโดยการเร่งแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลก ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศฟื้นตัวดีขึ้น หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ซึ่งภาพดังกล่าวจะช่วยให้ ยีลด์ 10ปี ทยอยปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ ยีลด์ระยะยาวอาจปรับตัวสูงขึ้นได้อีก หากตลาดกังวลความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นในระยะสั้น ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้า เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 30% ในเดือนมีนาคมจนถึงสิ้นปี (บนสมมติฐานว่า ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ที่ ณ ระดับ 58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) เราจึงปรับประมาณการ ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ณ สิ้นปี เป็น 1.60% ส่วน ยีลด์ 10ปี ไทยก็จะปรับตัวขึ้นสู่ 1.80%
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ รวมถึงไทย ได้ปรับตัวขึ้น เร็ว ล้ำหน้าปัจจัยพื้นฐานไปมาก ดังนั้น ในระยะสั้น อาจเริ่มเห็นการพักตัวของบอนด์ยีลด์ระยะยาวเกิดขึ้น จนกว่าจะมีปัจจัยหนุนให้ยีลด์ระยะยาวเร่งตัวขึ้นอีกรอบได้ โดยในฝั่งของบอนด์ยีลด์ 10ปี ไทย เรามองว่า ต้องระวังในช่วงการทำ Bond Switching ที่อาจเห็นการเคลื่อนไหวของยีลด์ 10ปี อีกครั้ง และในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ที่ข้อมูลเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ หลังจากการทยอยฉีดวัคซีนและผ่อนคลายมาตรการ Lockdown
ทั้งนี้ เราไม่เชื่อว่า เฟด หรือ ธนาคารกลางทั่วโลก จะกังวลต่อการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อในระยะสั้น จนปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะปัจจัยหลักในสถานการณ์ปัจจุบัน คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจ้างงาน ดังนั้น ยีลด์ระยะสั้นจะเคลื่อนไหวในกรอบ จนกว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะส่งสัญญาณพร้อม “ขึ้น” ดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้น ในช่วงปี 2023