เมื่อคืนนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นหลังจากที่ตลาดได้ทราบรายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 3.2 ล้านคน นอกจากจากเราจะไม่เคยเห็นตัวเลขฯ สูงขนาดนี้แล้วยังถือว่าตัวเลขนี้สูงที่สุดในรอบ 40 ปีอีกด้วย ตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งนี้สูงกว่าเดิม 4 เท่าจากที่เคยทำไว้ในเดือนตุลาคมปี 1982 และเพิ่มขึ้นอีก 1.5 เท่าจากที่คาดการณ์ไว้ในบทความเมื่อวาน ถึงกระนั้นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงออกมาเรียกความเชื่อมั่นผ่านรายการทางช่อง NBC ว่า “เฟดยังมีงบที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอีกและเรายังไม่หมดกระสุน (หมายถึงมาตรการทางการเงิน) ง่ายๆ”
ขาขึ้นในปัจจุบันอาจจะยังสามารถส่งผลมาถึงวันศุกร์ที่ 27 มีนาคมได้อยู่เพราะวันนี้จะเป็นวันที่นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์มูลค่า $200,000 ล้านเหรียญจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามข้อมูลทางเศรษฐกิจของฝั่งสหรัฐฯ ที่จะออกมาวันนี้อย่างรายได้ส่วนบุคคลและตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลอาจลดลงเช่นเดียวกันกับข้อมูลอัตราการเติบโตของรายได้รายชั่วโมงโดยเฉลี่ยและตัวเลขยอดขายปลีก ถึงกระนั้นข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ใช่ข้อมูลที่เกิดขึ้นในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดอย่างหนักบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา
สกุลเงินปอนด์ดีดตัวกลับขึ้นมาได้หลังจากที่ธนาคารกลางแห่งอังกฤษ (BoE) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ 0.1% และงบประมาณเพื่อเพิ่มวงเงินการซื้อสินทรัพย์ในตลาดยังคงอยู่ที่ 20,000 ล้านปอนด์ ผู้ว่าการแบงก์ชาติอังกฤษป้ายแดงนาย แอนดรูว์ เบลีย์ได้ออกมาเตือนว่าประเทศมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะหดตัวและขยายเป็นวงกว้างในระยะยาว การลดลงอย่างรวดเร็วของอัตราแลกเปลี่ยนอาจนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อในระยะยาว ดังนั้นธนาคารกลางจำเป็นจะต้องมีนโยบายทางการเงินเพื่อรองรับในยามจำเป็น รายงานตัวเลขยอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักรลดลง 0.3% ในเดือนที่แล้วในขณะที่ตัวเลขการใช้จ่ายพื้นฐานลดลง 0.5% เพราะข้อมูลตัวเลขเหล่านี้ออกมาลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์จึงทำให้เรามองว่าในเดือนถัดไปตัวเลขเหล่านี้จะยิ่งลดลง
กราฟ EUR/USD ยังคงสามารถยืนอยู่เหนือระดับราคา 1.10 ได้แม้ว่าจะไม่มีข่าวฝั่งยูโรออกมามากนักแต่เพราะข่าวจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจึงทำให้กราฟยังยืนอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นได้ ยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาในประเทศสเปนตอนนี้แซงประเทศจีนและกลายเป็นประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับสองของโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากระบบสาธารณสุขล่มแล้วต่อไปก็คือคิวของระบบเศรษฐกิจที่จะพังตาม ในอิตาลีตอนนี้ยอดผู้เสียชีวิตมีมากกว่า 7,000 คน (สเปนมีประมาณ 4,000+ คน) ข่าวดีก็คือตัวเลขนี้เริ่มคงที่มา 4 วันติดต่อกันและทำให้อิตาลีเริ่มจะเห็นความหวังขึ้นมาบ้าง แต่หากพิจารณาโดยภาพรวมของยูโรโซนก็ต้องบอกข่าวร้ายว่ายุโรปจะต้องเจ็บหนักจากเหตุการณ์ในครั้งนี้และมากกว่าที่ใดในโลกอย่างแน่นอน