เอกวาดอร์ได้ประกาศออกมาเมื่อไม่นานมานี้ว่าต้องการที่จะลาออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มโอเปกนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป เอกวาดอร์เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่เล็กที่สุดเป็นอันดับสี่ในกลุ่มโอเปกซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตน้ำมันได้ราว 540,000 บาร์เรลต่อวัน การที่เอกวาดอร์ลาออกจากกลุ่มไปไม่ได้ส่งผลกระทบกับข้อตกลงในการจำกัดปริมาณการผลิต แต่เป็นเรื่องของภาพพจน์ ความแข็งแกร่ง รวมทั้งความสามารถในการยึดเหนี่ยวประเทศสมาชิกต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันขององค์กรระหว่างประเทศอย่างโอเปกมากกว่า
การที่โอเปกเป็นองค์กรองค์กรหนึ่ง ความแข็งแกร่งของโอเปกจึงมาจากพลังในการทำงานร่วมกันอย่างสามัคคีกันของกลุ่มประเทศสมาชิก เวเนซุเอลาและซาอุดิอาราเบียก่อตั้งโอเปกขึ้นในยุคปี 1960 ด้วยแนวคิดที่ต้องการรวบรวมกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเข้าไว้ด้วยกันเพื่อควบคุมปริมาณการผลิต รวมไปถึงราคาน้ำมันด้วย ส่วนสาเหตุที่ประเทศอื่นๆ ยังคงเป็นสมาชิกของกลุ่มโอเปกอยู่ในปัจจุบันก็เพื่อผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเอกวาดอร์มีการผลิตน้ำมันเกินโควต้าที่กำหนดไปเพียงประมาณ 30,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งดูเหมือนไม่มาก แต่ก็ถือว่าเป็นรายได้สำคัญของรัฐบาลเอกวาดอร์เลยทีเดียว กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร ซึ่งมีรัสเซียและประเทศอื่นๆ รวมอยู่ด้วยนั้นทำให้เอกวาดอร์ต้องผิดหวัง เนื่องจากไม่สามารถทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นได้
กราฟราคาน้ำมันรายสัปดาห์ในช่วง 12 เดือนล่าสุด
หากราคาน้ำมันไม่ปรับตัวสูงขึ้นตามที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เอกวาดอร์ย่อมต้องการที่จะสร้างรายได้ให้มากขึ้นด้วยการผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้เอกวาดอร์ไม่สามารถทนอยู่ภายใต้ข้อจำกัดการผลิตของโอเปกได้อีกต่อไป
เอกวาดอร์เร่งปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำมันภายในประเทศ
การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปโครงสร้างทั้งหมดซึ่งเป็นโครงการที่ดำริขึ้นโดยประธานาธิบดีของเอกวาดอร์ การปฏิรูปอีกทางหนึ่งคือคำสั่งให้ยกเลิกการใช้เงินอุดหนุนของรัฐกับน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ซึ่งทำให้รัฐมีค่าใช้จ่ายถึง 1.3 พันล้านเหรียญต่อปี หลังจากที่มีการบังคับใช้การยกเลิกเงินอุดหนุนดังกล่าว ประชาชนชาวเอกวาดอร์ก็เริ่มก่อการประท้วงเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นอย่างมาก โดยนัยแล้ว การประท้วงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันในเอกวาดอร์ได้ด้วยเช่นกัน การชุมนุมประท้วงและการปิดกั้นถนนหลายสายทำให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันของรัฐและเอกชนต่างต้องปรับลดปริมาณการผลิตลงเกือบ 31% หรือ 165,000 บาร์เรลต่อวัน และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะดำเนินต่อไปอีกนานเพียงใด
ถึงกระนั้น เอกวาดอร์ก็ไม่ใช่เพียงประเทศเดียวในสมาชิกของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรทั้งหมดที่ผลิตน้ำมันเกินโควต้าที่กลุ่มกำหนด ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็ยังมีอิรัก ซึ่งผลิตเกินจำนวนที่กำหนดมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอิรักเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับสองของกลุ่มโอเปกในปัจจุบันและมีอิทธิพลค่อนข้างมากในตลาด โอเปกจึงไม่สามารถที่จะยอมให้อิรักออกจากกลุ่มได้ ดังนั้นแม้ว่าคณะกรรมการที่มีอำนาจควบคุมการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับจะสามารถลงโทษอิรักที่ผลิตน้ำมันเกินโควต้าได้ก็จริง แต่โอเปกก็ยังยอมให้อิรักผลิตน้ำมันเกินจำนวนที่กำหนดได้ต่อไป จึงทำให้เห็นว่าเอกวาดอร์ไม่ได้มีความสำคัญกับโอเปกมากเท่ากับอิรัก
ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ แม้ซาอุดิอาราเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่นๆ ที่ยังภักดีต่อโอเปก (เนื่องจากโอเปกสร้างอิทธิพลให้กับพวกเขาได้) แม้กระทั่งประเทศผู้ผลิตรายเล็กๆ น่าจะยังยินดีในการเป็นสมาชิกกลุ่มอยู่ เนื่องจากยังพอได้รับประโยชน์อยู่บ้าง แต่หากโอเปกไม่สามารถทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นได้ โอเปกก็อาจจะต้องอนุญาตให้ประเทศสมาชิกรายเล็กๆ เหล่านี้ผลิตน้ำมันเกินโควต้าที่กำหนดได้ ไม่ว่าจะเป็นการยินยอมด้วยคำสั่งอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ตาม ไม่เช่นนั้นแล้ว ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายเล็กๆ ก็อาจไม่ต้องการเป็นสมาชิกของโอเปกอีกต่อไปเนื่องจากโอเปกไม่ได้ช่วยเพิ่มรายได้ใดๆ ให้กับพวกเขาเลย