ในขณะที่การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังคงทวีความรุนแรง มีผู้คาดว่าน่าจะเกิดสงครามในฝั่งของตลาดเงินเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากจีนยอมลดค่าเงินเหรินหมินปี้หรือ หยวน ของตนเองลงเพื่อชดเชยภาษีที่จะต้องเสียให้กับสหรัฐฯ นอกจากนั้นจีนก็จะเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ถือครองอยู่เพื่อเป็นการตอบโต้
ตลาดประเมินว่าจีนต้องรักษาระดับอัตรา 7.0 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐเอาไว้เพื่อไม่ให้เป็นการยั่วยุสหรัฐฯ ทั้งในด้านตลาดเงินและการเจรจาทางการค้า
ค่าเงินของจีนได้ถูกปล่อยให้ลอยสูงขึ้นมาตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศใช้อัตราภาษีใหม่ในช่วงต้นเดือนนี้ โดยมีค่าปัจจุบันอยู่ที่เกือบ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงที่ปกติของเดือนก่อนๆ ที่ประมาณ 6.7-6.75 ผู้เชี่ยวชาญหลายรายคำนวณว่าเงินหยวนอาจจะขึ้นไปแตะ 7.10 เพื่อเป็นการชดเชยอัตราภาษีใหม่ที่ต้องเสีย
หากความตึงเครียดในการเจรจาเพิ่มสูงขึ้นหรือเมื่อการเจรจามีอันต้องหยุดชะงักไป สงครามทางการเงินก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ กรณีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาเมื่อเงินหยวนอ่อนตัวลงในช่วงที่มีความตึงเครียดในการเจรจาทางการค้า โดยผู้นำของจีนในขณะนั้นก็ได้รีบแก้ปัญหานี้อย่างรวดเร็ว
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าจีนไม่ได้เจตนาที่จะทำให้ค่าเงินของตนอ่อนลงเพื่อเอาชนะสงครามการค้าในครั้งนี้ เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นการยั่วยุสหรัฐฯ เท่านั้น แต่จะทำให้เงินหยวนไหลออกจากประเทศจำนวนมาก รวมทั้งจะเป็นการทำลายความพยายามที่จะทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลอีกด้วย
ในทำนองเดียวกันกับความคิดที่ว่าจีนจะเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเป็นการตอบโต้นั้น ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศตะวันตกไม่เชื่อว่าเช่นนั้น การที่จีนขายพันธบัตรที่มีอายุเกิน 1 ปีจำนวน 20,000 ล้านเหรียญในเดือนมีนาคมอาจทำให้เกิดความแตกตื่นอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบอะไรมากเมื่อเทียบกับเงินคงคลังจำนวน 1.1 ล้านล้านเหรียญของจีน
การขายที่มีผลกระทบกับมูลค่าพันธบัตรย่อมส่งผลเสียกับจีน เนื่องจากจะเป็นการลดมูลค่าเงินคงคลังที่จีนมีอยู่ และแม้ว่าจีนต้องขายจริง ก็น่าจะมีผู้สนใจซื้อรายอื่นๆ ที่ยังรออยู่อีกจำนวนมาก เนื่องจากผลตอบแทนของพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี ลดลงจากที่เคยสูงกว่า 3 เหลือเพียง 2.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อ 2-3 เดือนก่อน ซึ่งก็ไม่ต่างกันกับกรณีที่นักลงทุนจะต้องเปลี่ยนการลงทุนไปยังพันธบัตร ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่าเมื่อมีความตึงเครียดทางการค้าเกิดขึ้น แม้ว่าผลตอบแทนจะน้อยกว่าก็ตาม
แต่ทรัมป์ยังปักใจเชื่อว่าการที่ค่าเงินหยวนอ่อนตัวนั้นเป็นเจตนาและสัญญาณว่าจีนต้องการเอาชนะในข้อตกลงทางการค้าครั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังทวีตหลังจากที่ได้ประกาศเพิ่มอัตราภาษีว่า “จีนจะต้องพยายามดึงเงินเข้าสู่ระบบและอาจจะลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อตอบโต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แล้วก็น่าจะแพ้ในที่สุด”
ทรัมป์เริ่มนำธนาคารกลางมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเปิดศึกใหม่ในตลาดการเงินโดยกล่าวด้วยว่า “หากธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยนโยบายให้สัมพันธ์กับจีนแล้ว สหรัฐฯ จะชนะในเกมนี้อย่างแน่นอน”
หากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจริง ไม่เพียงแต่จะทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์พึงพอใจได้เท่านั้น แต่เขาจะเร่งซื้อสินทรัพย์กลับเข้ามาเพื่อผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน รวมทั้งพยายามลดอัตราแลกเปลี่ยนของเงิน ดอลลาร์ ลง แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่น่าจะเล่นตามเกมนั้นด้วย ดังนั้นหากสหรัฐฯ พ่ายแพ้ในสงครามการเงินโดยยอมให้จีนลดค่าเงินของตนลงได้สำเร็จ แพะรับบาปก็คงหนีไม่พ้นธนาคารกลาง
นักวิเคราะห์บางรายตั้งคำถามว่าทรัมป์จะตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีหรือขยายขอบเขตประเภทสินค้าเพิ่มเติมอีกหากเงินหยวนของจีนลดค่าลงไปอยู่ที่ระดับมากกว่า 7.0 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะขึ้นไปแตะ 7.40 ได้เมื่อดูจากสถานการณ์ที่ดุเดือดในขณะนี้ ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลของทรัมป์ได้เสนอกฎที่จะอนุญาตให้สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการทางภาษีกับประเทศใดๆ ก็ตามที่ต้องสงสัยว่ามีการควบคุมค่าเงินเพื่อความได้เปรียบทางการค้าได้ทันที
นอกจากมาตรการที่จะต้องดำเนินการโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ แล้ว การดำเนินนโยบายในปัจจุบันทำให้เงินดอลลาร์ยังคงเป็นสกุลเงินที่เป็นผู้ชนะเช่นเคย โดยจะกลายเป็นเงินที่แข็งค่าขึ้นจากการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนั่นเอง ไม่เพียงแต่เงินหยวนเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินการนี้ แต่สกุลเงินอื่นๆ ในตลาดก็จะได้รับผลเสียด้วยเช่นกัน เว้นเสียแต่ว่าจะมีกลยุทธ์ที่ใช้ป้องกันผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์ไว้แล้ว
เรายังต้องจับตามองกันต่อไปว่าเมื่อไหร่สงครามนี้จะจบลง และใครจะเป็นผู้พ่ายแพ้?