ผู้ลงทุนน้ำมันควรให้ความสำคัญกับผลคาดการณ์ราคาน้ำมันโดยนักวิเคราะห์จาก Wall Street มากเพียงใดถ้าหากบทวิเคราะห์ดังกล่าวมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน แม้บ่อยครั้งตัวเลขมักจะออกมาไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ตาม แต่ความเคลื่อนไหวใด ๆ ก็เกิดขึ้นได้แม้มีต้นเหตุจากผลคาดการณ์เพียงแหล่งเดียว ล่าสุดผลคาดการณ์จาก RBC Capital ได้พยากรณ์ราคา สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันเบรนท์ ว่าอาจพุ่งขึ้นสูงถึง $80 ต่อบาร์เรล จึงทำให้เหล่าผู้ลงทุนตลาดกระทิงต่างแห่กันซื้อถล่มทลาย และ ธนาคารแห่งอเมริกา ก็ได้คาดการณ์ ในระดับราคาที่ใกล้เคียงกัน แต่เพิ่มขึ้นเป็น $100 ต่อบาร์เรล
เมื่อปีที่แล้วก็มีการคาดการณ์ราคาน้ำมันที่ $100 ต่อบาร์เรลในช่วงเดียวกันนี้ และ สัญญาเบรนท์ ก็ขึ้นไปแตะ $80 ต่อบาร์เรลได้ช่วงหนึ่งในเดือนพฤษภาคมปี 2018 และขึ้นไปแตะได้อีกครั้งในเดือนกันยายน ทว่าจุดสูงสุดเหล่านั้นกลับไม่ยั่งยืนเพราะเดือนตุลาคมราคาก็ร่วงลงมาอีก และลงไปถึง $50 ต่อบาร์เรลในเดือนธันวาคม ฉะนั้นเนื่องจากการคาดการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ผู้ลงทุนจึงควรตระหนักว่านักวิเคราะห์ทั้งหลายต่างก็ต้องแก้ไขตัวเลขคาดการณ์ของตนอยู่บ่อย ๆ และมักจะคาดการณ์ไว้ผิดพลาดอีกด้วย
ใน ผลคาดการณ์ประจำเดือนมกราคมปี 2019 นักวิเคราะห์คาดว่าราคาสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าทั้ง WTI และเบรนท์ ในปี 2019 จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ $60 และ $68 ต่อบาร์เรลตามลำดับ จนถึงตอนนี้เพิ่งผ่านไปได้สามเดือนครึ่ง นักวิเคราะห์เหล่านั้นก็ได้ปรับผลคาดการณ์เพิ่มขึ้นเป็น $67 และ $75 ต่อบาร์เรลสำหรับ WTI และเบรนท์แล้ว ถือว่าเพิ่มขึ้นถึง 11.7% และ 10.3% เลยทีเดียว และในอีกสามเดือนครึ่งต่อจากนี้ ผลคาดการณ์เหล่านี้อาจถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเลยก็เป็นได้
ตัวอย่างเช่น ณ ที่การประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่จะจัดขึ้นในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ อาจมีการยกเลิกข้อตกลงการลดกำลังการผลิตของโอเปกและประเทศพันธมิตรซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างแน่นอน และขณะนี้ก็มีสัญญาณมากมายที่เผยว่ารัสเซียไม่ต้องการจะดำเนินตามข้อตกลงอีกต่อไปแล้ว ทั้งนี้ผู้ลงทุนต้องตระหนักด้วยว่าปัจจุบันรัสเซียยังไม่สามารถดำเนินการตามข้อตกลงเพื่อลดกำลังการผลิตนับตั้งแต่เดือนธันวาคมได้เลย รัสเซียมีอิทธิพลสำคัญต่อการลดกำลังการผลิตไม่ว่าครั้งใดก็ตาม และรัสเซียอาจผลักดันให้ทุกฝ่ายหันมาเพิ่มการผลิตก็เป็นได้ ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงอีกเช่นกัน เราอาจได้เห็นบรรดาประเทศที่มีกำลังการผลิตสำรองต่างพากันเร่งผลิตน้ำมันในช่วงฤดูร้อน แล้วกดดันให้ราคาน้ำมันลดลงในช่วงครึ่งปีหลังก็เป็นได้ และถ้าหากสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่ออิหร่านอีกก็อาจทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้อีกเช่นกัน
หากพิจารณาทางด้านของอุปสงค์น้ำมันแล้ว ข้อมูลล่าสุดด้านการขนส่งน้ำมันด้วยรถบรรทุก ของสหรัฐฯ ได้เผยว่าอัตราค่าระวางสินค้าและการลำเลียงมีปริมาณที่ลดลง โดยการขนส่งน้ำมันด้วยรถบรรทุกในสหรัฐฯ คิดเป็น 70% ของระวางน้ำหนักสุทธิ ฉะนั้นจึงเป็นปัจจัยที่ช่วยบ่งชี้ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจได้ อันที่จริงแล้วเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะนี้ก็อยู่ในสภาพที่ดี แต่การชะลอตัวลงก็เป็นตัวอย่างสัญญาณที่บ่งบอกถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันได้ ในทำนองเดียวกันหากจีนมีสัญญาณในแง่ลบก็อาจส่งผลเสียต่อราคาน้ำมันได้เช่นกัน
ผู้ลงทุนและผู้สังเกตตลาดทุกท่านต้องพิจารณารับสารจากหลายแหล่งข่าวและนำมาปรับใช้เพื่อคาดการณ์ด้วยตนเอง เพราะนักวิเคราะห์จาก Wall Street ไม่ได้มีเวทมนตร์วิเศษที่จะช่วยท่านได้