ไตรมาสแรกเป็นไตรมาสที่หนักหน่วงสำหรับ ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่ค่าเงินดิ่งลงเหวตั้งแต่ต้นปี คู่ USD/JPY ยังคงมีแรงซื้ออย่างสม่ำเสมอ หนุนให้คู่สกุลเงินไต่ระดับขึ้นไปตั้งแต่จุดต่ำสุดที่ 104.78 ขึ้นไปถึง 112.13
นอกจากนี้ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังดิ่งลงสู่จุดต่ำสุดในรอบหลายเดือนเมื่อเทียบกับเงินยูโร และมีมูลค่าที่ลดลงเมื่อจับคู่กับเงินปอนด์สเตอร์ลิง, ดอลลาร์ออสเตรเลีย, ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และ ดอลลาร์แคนาดา อีกด้วย มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อสามเดือนที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกก็ชะลอตัว ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลก็ดิ่งลง บรรดาธนาคารกลางก็กำลังหารือกันถึงความจำเป็นที่ต้องลดจำนวนครั้งการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและบังคับใช้แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ฝั่งสหรัฐฯ กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ลาดลงได้จุดชนวนสร้างความหวาดกลัวการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทางยุโรปเองก็ยังรอคอยอย่างไร้จุดหมายว่า Brexit จะมีความคืบหน้าต่อไปอย่างไรบ้าง ความน่ากังวลเหล่านี้จะยังคงหลอกหลอนตลาดการเงินต่อไปอีกตลอดทั้งไตรมาสที่สองนี้ โดยเฉพาะในตลาดฟอเร็กซ์ที่จะต้องเกิดการยื้อแย่งกันไปมา ระหว่างระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของผู้ลงทุนกับนโยบายทางการเงินของธนาคารกลาง ส่วนในอนาคตอันใกล้นี้ ไตรมาสที่สองได้เริ่มขึ้นแล้วด้วยปฏิทินเศรษฐกิจที่อัดแน่น มีทั้งกำหนดการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย อีกทั้งการรายงานข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย และแคนาดาอีกด้วย ฉะนั้นจึงหมายความว่าเราไม่เพียงแค่ต้องจับตาความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของดอลลาร์ออสเตรเลียอย่างเดียว แต่จะต้องเกิดการผันผวนอย่างมากในทุกสกุลเงินหลักแน่นอน
ดอลลาร์สหรัฐฯ
ทบทวนข้อมูลที่ผ่านมา
- ยอดเริ่มก่อสร้างบ้าน 1,162,000 หลัง จากที่คาดไว้ 1,210,000 หลัง
- ใบอนุญาตก่อสร้าง 1,296,000 หลัง จากที่คาดไว้ 1,305,000 หลัง
- ดัชนีราคาบ้าน S&P Case Shiller 0.11% จากที่คาดไว้ 0.3%
- ดัชนีเฟดในริชมอนด์ 10 จากที่คาดไว้ 10
- รายงานความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากคณะกรรมการการประชุม 124.1 จากที่คาดไว้ 132.5
- ดุลการค้า -5.11 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก -5.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
- งบดุลปัจจุบัน -1.344 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จากที่คาดไว้ -130 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
- ตัวเลข GDP แบบปรับปรุงแล้วประจำไตรมาสที่สี่ 2.2% จากที่คาดไว้ 2.3%
- รายจ่ายส่วนบุคคล 2.5% จากที่คาดไว้ 2.6%
- จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน 211,000 ราย จากที่คาดไว้ 220,000 ราย
- ยอดรอขายบ้านสหรัฐฯ -1% จากที่คาดไว้ -0.5%
- รายรับส่วนบุคคล 0.2% จากที่คาดไว้ 0.3%
- รายจ่ายส่วนบุคคล 0.1% จากที่คาดไว้ 0.3%
- ยอดขายบ้านมือหนึ่ง 667,000 หลัง จากที่คาดไว้ 620,000 หลัง
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน 98.4 จากที่คาดไว้ 97.8
ภาพรวมของข้อมูล
- ยอดค้าปลีก – อาจพลิกฟื้นขึ้นอย่างฉับพลันเนื่องจากราคาน้ำมันและรายได้แรงงานเติบโตอย่างมากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
- ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน - ยากที่จะคาดการณ์แต่ยอดคำสั่งซื้อสินค้าจาก Boeing (NYSE:BA) จะต้องได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากเหตุเครื่องบินตก 2 ครั้งอย่างแน่นอน
- รายงาน ADP – จำนวนแรงงานภาคเอกชนจะยังไม่ลดลงง่าย ๆ หลังจากที่ตัวเลขเดือนที่แล้วออกมาแตกต่างจากอัตราจ้างงานนอกภาคการเกษตรอย่างสิ้นเชิง
- ดัชนี ISM ภาคการผลิต
- ดัชนี ISM นอกภาคการผลิต – ตัวเลขน่าจะออกมาซบเซาลงจากเมื่อเดือนที่แล้วที่อัตราจ้างงานนอกภาคการเกษตรตกต่ำอย่างมาก
- อัตราการจ้างงานนอกภาคการเกษตร - การเติบโตของตลาดแรงงานน่าจะพลิกฟื้นขึ้นมาได้หลังจากดิ่งลงอย่างหนักเมื่อเดือนที่แล้ว
ระดับที่สำคัญ
- แนวรับ 110.00
- แนวต้าน 112.00
ผู้ลงทุนภาวะกระทิงควรกังวลกับ Inverted US yield curve หรือไม่
ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดในตลาดการเงินขณะนี้คือกราฟส่วนต่างของผลตอบแทนที่ลาดลง เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007 ที่ผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาลแบบสิบปี มีมูลค่าต่ำกว่าผลตอบแทนจาก พันธบัตรแบบสามเดือน และได้ทำให้ผู้ลงทุนเกิดความกังวลอย่างมาก เศรษฐกิจสหรัฐฯ เคยประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาแล้วกว่า 7 ครั้งในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา และได้เกิดเหตุการณ์กราฟส่วนต่างผลตอบแทนลาดลงเช่นนี้ก่อนภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกือบทุกครั้งยกเว้นอยู่ครั้งเดียว สาเหตุที่กราฟส่วนต่างผลตอบแทนลาดลงเป็นปัจจัยหลักที่สามารถบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากเมื่ออัตราผลตอบแทนระยะสั้นมีมูลค่ามากกว่าอัตราผลตอบแทนระยะยาว ผู้ลงทุนก็จะเริ่มเกิดความกังวลต่อภาพรวมในระยะสั้นของเศรษฐกิจ และต้องการเงินก้อนเพื่อชดเชยเงินที่ลงทุนไปในระหว่างนั้น ตลาดหุ้นมักจะพุ่งขึ้นก่อนหน้านั้น จากนั้นจึงจะเกิดภาวะตลาดหมีที่มาพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
สรุปแล้วคุณควรกังวลหรือไม่ ถ้าในระยะสั้นก็ไม่ แต่ระยะยาวควรกังวลแน่นอน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ลงทุนตลาดฟอเร็กซ์ต่างก็สับสนกับการเพิ่มความเสี่ยง / ลดความเสี่ยงไปมา เพราะผู้ลงทุนประสบความยากลำบากมากในการวิเคราะห์ว่า ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ลดลงจะส่งผลดีหรือผลเสียแก่ตลาดหุ้น ในอีกแง่หนึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำก็เป็นผลดีแก่การกู้ยืม แต่ในอีกแง่หนึ่ง การที่กราฟส่วนต่างผลตอบแทนลาดลงก็สืบเนื่องมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง รวมถึงความหวาดวิตกของธนาคารกลางอีกเช่นกัน เมื่อเดือนที่แล้ว ทุกธนาคารกลางหลักต่างก็แสดงความกังวลต่อทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก ทำให้ผู้ลงทุนพันธบัตรรัฐบาลเริ่มให้ความสนใจกับประเด็นนี้มากขึ้น ในขณะที่ผู้ลงทุนในตลาดหุ้นโดยส่วนมากกลับไม่ได้ใส่ใจต่อคำเตือนเหล่านี้ จากหลายเดือนที่ผ่านมาที่บรรดาหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวอยู่ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน การที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ขยับตัวหลายทิศทางเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าผู้ลงทุนฟอเร็กซ์เริ่มไม่แน่ใจว่าอะไรสำคัญกว่ากัน การเลี่ยงความเสี่ยงหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย หากมองในระยะสั้นก็ยังคงไม่มีอะไรต้องกังลเพราะว่าโดยปกติแล้วจะต้องใช้เวลานานกว่า 12 เดือนนับจากการเกิดกราฟส่วนต่างผลตอบแทนที่ลาดลง จึงจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริง ๆ ขณะที่ตัวบ่งชี้ต่าง ๆ ก็ยังบอกอะไรไม่ได้มาก โดยเฉลี่ยแล้วในระยะเวลาหกสิบปีก่อนที่เคยเกิดกราฟลาดลงถึง 9 ครั้ง ตลาดหุ้นจะยังไม่ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดได้ง่าย ๆ จนกว่าจะผ่านไปแล้ว 8 เดือน ฉะนั้นหมายความว่าบรรดาหุ้นต่าง ๆ จะยังคงตัวในแดนบวกได้จนกว่าจะมีสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนกว่านี้ นอกจากนี้กราฟส่วนต่างผลตอบแทนยังอาจลาดลง ปรับขึ้นเป็นปกติ แล้วกลับมาลาดลงอีกครั้งดังที่เคยเป็นมาหลายครั้งในอดีต
ในระยะยาว ลักษณะการเกิดกราฟส่วนต่างผลตอบแทนที่ลาดลงก็เป็นไปตามคำเตือนของเฟดและธนาคารกลางยุโรปเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2020 หรือ 2021 แต่ก็เช่นเดียวกับตลาดหุ้น กราฟส่วนต่างผลตอบแทนที่ลาดลงไม่ได้ส่งผลเสียต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เสมอไป ครั้งล่าสุดที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสามเดือนมีมูลค่ามากกว่าแบบสิบปีคือเมื่อปี 2008 และเกิดขึ้นก่อนหน้าที่ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ จะพุ่งขึ้นจากพฤติกรรมการเลี่ยงความเสี่ยง และก่อนหน้านั้นในปี 2006 เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตกลงเล็กน้อยเมื่อกราฟลาดลงช่วงแรก แต่ก็พลิกฟื้นขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับปี 2000 ที่ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างฐานแล้วดีดตัวขึ้นไปสูงกว่าเดิม
แม้ว่ากราฟส่วนต่างผลตอบแทนที่ลาดลงอาจช่วยหนุนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ ในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้ลงทุนจะหันไปให้ความสนใจต่อนโยบายทางการเงินของเฟด และดูว่าเศรษฐกิจได้ชะลอตัวมากพอที่จะเห็นด้วยกับการตัดสินใจของเฟดในการยกเลิกการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเหลือเพียงศูนย์ครั้งตลอดทั้งปีนี้หรือไม่ ดอลลาร์สหรัฐฯ จะดิ่งลงอย่างรวดเร็วเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับยอดค้าปลีก, รายงานดัชนี ISM และอัตราการจ้างงานนอกภาคการเกษตร หากรายจ่าย ตัวเลขทางเศรษฐกิจ และการเติบโตของตลาดแรงงานลดลง คู่ USDJPY จะดิ่งลงไปอีกอย่างรวดเร็ว ถ้าหากรายงานออกมาดีกว่าเมื่อเดือนที่แล้ว เราอาจได้เห็นการฟื้นตัวขึ้นก็เป็นได้
AUD, NZD, CAD
ทบทวนข้อมูล
ออสเตรเลีย
- ไม่มีข้อมูล
นิวซีแลนด์
- ธนาคารกลางนิวซีแลนด์กล่าวว่าอาจ ลดดอกเบี้ย แทนที่จะเพิ่ม
- ดุลการค้า 12 ล้าน จากที่คาดไว้ -200 ล้าน
- ภาพรวม กิจกรรม ของธนาคารแห่งชาตินิวซีแลนด์ 6.3 จาก 10.5
- ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ของธนาคารแห่งชาตินิวซีแลนด์ -38 จาก -30.9
- ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ของธนาคารแห่งชาตินิวซีแลนด์ 0.8% จาก -0.7%
- ใบอนุญาตก่อสร้าง 1.9% จาก 16.5%
แคนาดา
- ดุลการค้า -4.25 พันล้าน จากที่คาดไว้ -3.55 พันล้าน
- GDP เดือนต่อเดือน 0.3% จากที่คาดไว้ 0.1%
- GDP ปีต่อปี 1.6% จากที่คาดไว้ 1.3%
ภาพรวมของข้อมูล
ออสเตรเลีย
- การปรับอัตราดอกเบี้ย ของธนาคารกลางออสเตรเลีย – คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ผู้ลงทุนจะจับตารอดูหากมีสัญญาณใด ๆ ที่น่ากังวล
- ดัชนี PMI ภาคการผลิต – น่าจะออกมาต่ำลงเนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาลง
- ยอดค้าปลีก, ดุลการค้า และ ดัชนี PMI ภาคการบริการ – มีแนวโน้มว่าจะลดลงเกินคาด เนื่องด้วยความอ่อนแอโดยทั่วไปของเศรษฐกิจโลกและจีน
นิวซีแลนด์
- ไม่มี
แคนาดา
- IVEY PMI – อาจพลิกฟื้นขึ้นมาจากเดือนที่แล้ว
- รายงาน อัตราการจ้างงาน – น่าจะลดลงจากตัวเลขที่แข็งแกร่งของสองเดือนที่แล้ว
ระดับที่สำคัญ
- แนวรับ AUD .7000 NZD .6700 CAD 1.3200
- แนวต้าน AUD .7200 NZD .6900 CAD 1.3450
ดอลลาร์ออสเตรเลียจะดิ่งเพราะธนาคารกลางออสเตรเลียหรือไม่
ผู้ลงทุนต่างก็กำลังเทขายสกุลเงินเพราะความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จึงทำให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กกว่า มักจะได้รับผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายนอกประเทศหากประเทศคู่ค้าของตนประสบปัญหา ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้ทราบข่าวว่าผลกำไรภาคอุตสาหกรรมของจีนลดลงถึง 14% และภาวะตกต่ำเช่นนี้มักทำให้ธนาคารกลางเริ่มใช้แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จีนเพิ่งลดอัตราภาษีซึ่งมีผลในสัปดาห์นี้ รัฐบาลจึงอยากรอดูว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเพียงใดก่อนที่จะดำเนินการอย่างอื่นเพิ่มเติม ธนาคารกลางออสเตรเลียที่มีกำหนดการประชุมนโยบายทางการเงินในวันนี้อาจได้รับแรงกระตุ้นแบบเดียวกัน แม้ว่าธนาคารกลางนิวซีแลนด์มีแนวโน้มผ่อนคลายขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางออสเตรเลียเองก็คงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะเป็นการปรับลง ไม่ปรับขึ้น นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา เราได้เห็นการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น รายจ่ายผู้บริโภคพลิกฟื้น และอัตราว่างงานลดลงสู่ระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2011 สัญญาณที่ดีเหล่านี้อาจช่วยชดเชยขาลงของภาคธุรกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมถึงการค้าในประเทศจีนอีกด้วย ฉะนั้นขณะที่ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้อาจกดดันให้ AUD ต่ำลง แต่การตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางออสเตรเลียอาจช่วยโอบอุ้บสกุลเงินไว้ได้ นอกเหนือจากการแถลงการณ์นโยบายทางการเงินแล้ว ยังมีกำหนดการประกาศยอดค้าปลีก, ดุลการค้า, ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคกิจการบริการอีกด้วย ตามหลักเทคนิคแล้ว คู่สกุลเงินจะยังอยู่ใต้กรอบแนวต้านจนกว่าจะทะลุ .7150 ขึ้นไปได้
แต่มองในมุมกลับกัน เงินดอลลาร์นิวซีแลนด์อาจซื้อขายในราคาที่ต่ำกว่ามาก จากเมื่อวันพุธที่ผ่านมา คู่สกุลเงิน NZD/USD ประสบกับขาลงครั้งใหญ่ที่สุดภายในวันเดียวของรอบ 7 สัปดาห์ ภายหลังจากธนาคารกลางออกมาประกาศนโยบายทางการเงิน ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ NZD/USD ดิ่งลงถึงเพียงนี้คือตอนที่อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นเกินคาดการณ์ ครั้งนี้ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ทำให้ทุกฝ่ายประหลาดใจด้วยการกล่าวว่า มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าเพิ่ม เพราะขณะนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการชะลอตัวอันเนื่องมาจากความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ลดลง และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น นับเป็นการออกตัวครั้งใหญ่ของผู้ว่าการธนาคารกลาง นายออร์ จากที่เขาเพิ่งกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า จะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้แม้ว่าจะมีสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจก็ตาม ฉะนั้นเพราะคู่สกุลเงินได้ทะลุแนวรับทางเทคนิคลงไปแล้ว ระดับต่อไปที่ NZD/USD จะมุ่งลงไปคือใกล้ระดับ .6750 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในเดือนมีนาคม
USD/CAD มีราคาปิดที่ระดับสูงสุดในรอบสองเดือนแม้ว่าจะมีการพลิกฟื้นขึ้นของราคาน้ำมัน ขณะที่ราคาน้ำมันดิบยังคงตัวอยู่ใกล้ระดับสูงสุดในรอบห้าเดือน ผู้ลงทุนเกิดความกังวลมากกว่าว่าเหตุใดการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงส่งผลแก่แคนาดาได้ หลังจากที่เกิดการขาดดุลการค้าอย่างรุนแรงเมื่อเดือนธันวาคม ในเดือนมกราคมก็ยังมีการพลิกฟื้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อัตราการเติบโตของ GDP ก็ฟื้นตัวขึ้นมาได้ แต่ยังไม่มากพอที่จะคลายความกังวลของตลาดว่า ความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ จะต้องส่งผลอย่างรุนแรงต่อแคนาดาอย่างแน่นอน สัปดาห์นี้ก็เป็นอีกสัปดาห์ที่สำคัญสำหรับดอลลาร์แคนาดา โดยมีกำหนดการประกาศทั้งดัชนี IVEY PMI และตัวเลขตลาดแรงงานของประเทศ
เงินปอนด์อังกฤษ
ทบทวนข้อมูล
- ผลสำรวจยอดขายแบบปันส่วน CBI -18 จากที่คาดไว้ 4
- ดัชนีความเชื่อมั่น GfK -13 จากที่คาดไว้ -14
- ราคาบ้านทั่วประเทศ 0.2% จากที่คาดไว้ 0%
- การอนุมัติสินเชื่อ 64,300 จากที่คาดไว้ 65,000
- GDP ไตรมาสที่สี่ 0.2% จากที่คาดไว้ 0.2%
- ปริมาณงบดุลปัจจุบัน -2.37 หมื่นล้าน จากที่คาดไว้ -2.29 หมื่นล้าน
ภาพรวมของข้อมูล
- ดัชนี PMI ภาคการผลิต ของสหราชอาณาจักร – มีแนวโน้มว่าจะลดลงจากตัวเลข CBI ที่ดิ่งลงอย่างฉับพลัน
- ดัชนี PMI ภาคกิจการบริการ – ต้องรอดูว่าภาคการผลิตจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ตัวเลขน่าจะออกมาอ่อนแอเนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit
ระดับที่สำคัญ
- แนวรับ 1.2800
- แนวต้าน 1.3300
เป็นความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะทดสอบความอดทนของรัฐสภา หลังจากที่นายกเมย์เสนอจะลาออกหากสภาอนุมัติข้อตกลงของเมย์ นายกเมย์พ่ายแพ้อย่างยับเยินอีกครั้งหลังจากที่สมาชิกสภาฯ ลงคะแนนเสียงปฏิเสธข้อตกลงของเมย์ด้วยคะแนนเสียง 334 ต่อ 286 สหราชอาณาจักรมีเวลาจนถึง 11 เมษายนในการคิดแผนการใหม่ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะถูกบีบบังคับให้ออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง อันเป็นเหตุการณ์ที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจและสกุลเงินของสหราชอาณาจักรดิ่งลงเหว สหภาพยุโรปไม่ได้มองสถานการณ์ในแง่ดีเท่าไรนัก ทางสหภาพฯ สังหรณ์ใจอยู่แล้วว่า "การถอนตัวแบบไร้ข้อตกลง" ในวันที่ 12 เมษายนดูจะเป็นไปได้มากที่สุดแล้ว ซึ่งสหภาพฯ ได้เตรียมตัวเพื่อเหตุการณ์นี้โดยเฉพาะนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2017 ทั้งนี้บรรดาสิทธิประโยชน์ที่ระบุไว้ในข้อตกลง รวมถึงช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านที่ได้ระบุไว้ จะไม่มีการนำมาปรับใช้หากเกิด "การถอนตัวแบบไม่มีข้อตกลง" ล่าสุดนายโดนัลด์ ประธานสหภาพฯ ได้เรียกประชุมผู้นำสหภาพฯ อย่างฉุกเฉินในวันที่ 12 เมษายนนี้เพื่อร่วมหารือหากมีการเสนอขอใด ๆ จากสหราชอาณาจักร ขณะนี้จึงมีเพียงสามผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ หนึ่งคือสหราชอาณาจักรถอนตัวจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง, นายกเมย์สละตำแหน่งและสหราชอาณาจักรยื่นขอการยืดเวลาอันเนื่องมาจากการสละตำแหน่งของเมย์ หรือนายกเมย์อาจอ่อนข้อให้กับสหภาพยุโรปแล้วขอยืดเวลาเสียเอง โดยสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือการที่นายกเมย์สละตำแหน่ง และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ เงินปอนด์อังกฤษอาจฟื้นตัวขึ้นมาได้ ฉะนั้นในสัปดาห์นี้ Brexit ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเงินปอนด์สเตอร์ลิง แต่ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรก็เป็นที่น่าจับตาเช่นกัน โดยจะมีการประกาศตัวเลข PMI ในสัปดาห์นี้ แม้ว่าไม่น่าจะมีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นเนื่องจากความยืดเยื้อของสถานการณ์ Brexit ที่มีมาอย่างยาวนาน
ยูโร
ทบทวนข้อมูล
- ค่าบรรยากาศทางธุรกิจ IFO ของเยอรมนี 99.6 จากที่คาดไว้ 98.5
- ผลคาดการณ์ IFO ของเยอรมนี 95.6 จากที่คาดไว้ 94
- ผลประเมิน IFO ปัจจุบันของเยอรมนี 103.8 จากที่คาดไว้ 102.9
- ดัชนีความเชื่อมั่น GfK ของเยอรมนี 10.4 จากที่คาดไว้ 10.8
- ดัชนี CPI เดือนต่อเดือนของเยอรมนี 0.4% จากที่คาดไว้ 0.6%
- ดัชนี CPI ปีต่อปี 1.3% จากที่คาดไว้ 1.5%
- ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ EZ 105.5 จากที่คาดไว้ 105.9
- ดัชนีความเชื่อมั่นทางอุตสาหกรรม EZ -1.7 จากที่คาดไว้ -0.6
- ยอดค้าปลีกเยอรมนี 0.9% จากที่คาดไว้ -1%
- ตัวเลขการจ้างงานในเยอรมนี -7,000 ตำแหน่ง จากที่คาดไว้ -10,000 ตำแหน่ง
- อัตราว่างงานในเยอรมนี 4.9% จากที่คาดไว้ 4.9%
ภาพรวมของข้อมูล
- CPI และ อัตราว่างงาน ของ EZ – มีแนวโน้มดิ่งลงอย่างรวดเร็วหากการเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมนีอ่อนแอ
- PPI ของ EZ – มีแนวโน้มดิ่งลงอย่างรวดเร็วหาก CPI และ PPI อ่อนแอ
- ยอดค้าปลีก ฝั่งยูโรโซน
- อัตราการผลิตทางอุตสาหกรรม ของเยอรมนี – รอดูว่ายอดคำสั่งซื้อจากโรงงานจะเป็นอย่างไร
ระดับที่สำคัญ
- แนวรับ 1.1200
- แนวต้าน 1.1400
ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันติดลบ ยูโรจะมุ่งไปสู่ 1.10 หรือไม่
ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของทางฝั่งยุโรปก็ติดลบเช่นกัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี แบบสิปปี ดิ่งลงสู่ระดับที่ต่ำสุดในรอบสองปีครึ่ง ติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 สร้างภาวะตลาดหมีให้แก่สกุลเงินอย่างมาก แต่แรงดิ่งของเงินยูโรกลับเบาแรงลงด้วยผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ลดลงในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในขณะนี้ เงินยูโรน่าจะซื้อขายอยู่ที่ระดับ1.10 ไม่ใช่ระดับ 1.12 แต่ด้วยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรแบบสิบปีที่ต่ำมาก จนส่วนต่างผลตอบแทนเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ช่วยหนุน EUR/USD จึงทำให้แรงดิ่งทุเลาลง แต่คู่สกุลเงินก็จะยังดิ่งลงต่อไปอยู่ดีและคงแตะแนวรับในอีกไม่นานนี้ ส่วนคู่ EUR/JPY ก็มีแนวโน้มปรับลงไปอีกเนื่องจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีแบบ 10 ปี ลดลงไปต่ำกว่าผลตอบแทน JGB ของญี่ปุ่นที่มีช่วงอายุเดียวกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 แม้ว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาคู่สกุลเงินจะลงไปแตะระดับที่ต่ำสุดในรอบสองเดือน แต่พวกเรามองว่า EUR/JPY จะดิ่งลงไปถึง 123 หรือแม้กระทั่งลงไปถึง 122 ก็เป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ดี ข้อมูลทางเศรษฐกิจของฝั่งยูโรโซนในช่วงนี้มีหลายทิศทาง ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีก็ขยับขึ้นเล็กน้อย แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของฝั่งยูโรโซนลดลง และแรงกดดันในอัตราเงินเฟ้อกลับผ่อนคลายขึ้น เมื่อดูจากปฏิทินเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ มีกำหนดการประกาศข้อมูลที่ส่งผลต่อฝั่งยูโรโซนน้อยกว่าดอลลาร์สหรัฐฯ ฉะนั้นคู่สกุลเงินอาจได้รับผลกระทบครั้งต่อไปจากปฏิกิริยาของตลาดเมื่อข้อมูลฝั่งสหรัฐฯ ออกมา