ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์ประจำวันที่ 19 มีนาคม 2019โดย Kathy Lien กรรมการผู้จัดการกลยุทธ์ฟอเร็กซ์จาก BK Asset Management
การแถลงนโยบายทางการเงิน ของเฟดในวันนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในสัปดาห์นี้ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซื้อขายในราคาที่ต่ำลง ล่วงหน้าก่อนการประกาศผลการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าเฟดจะยังคงอดทนรอดังเดิม แต่หากผลลัพธ์ออกมาเหนือความคาดหมายไม่ว่าจะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายก็อาจทำให้สกุลเงินพากันสะเทือนได้ง่าย ๆ ในภาพรวมแล้วไม่มีใครหวังให้ธนาคารกลางปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย แต่ในวันนี้จะมีทั้ง การแถลงข่าว ของนายเพาเวลล์ประธานเฟด แผนภาพแบบจุด อีกทั้งการประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหม่อีกด้วย ฉะนั้นครั้งนี้จึงไม่เป็นแค่เพียงการประชุมที่เราจะทราบแค่ แถลงการณ์จากเฟด และถ้อยแถลงจากนายเพาเวลล์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในวันนี้มีถึงสามปัจจัยที่อาจส่งผลต่อระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในตลาดเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีดังต่อไปนี้
- แผนภาพแบบจุด – จะเปลี่ยนการเพิ่มดอกเบี้ยในปี 2019 จาก 2 ครั้งเหลือเพียง 1 ครั้งหรือไม่
- การประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจ – จะมีการปรับลดการคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตหรืออัตราเงินเฟ้อหรือไม่
- การแถลงข่าวของนายเพาเวลล์ประธานเฟด – ทัศนะของนายเพาเวลล์จะออกมาในแง่บวกหรือไม่
ปัจจัยที่จะบ่งชี้ ผลการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ย ของเฟดได้อย่างชัดเจนที่สุดคือแผนภาพแบบจุด จากผลการพิจารณาแบบปรับปรุงล่าสุดในเดือนธันวาคม เฟดได้ปรับการประมาณการณ์ในปี 2019 จากการเพิ่มดอกเบี้ย 3 ครั้งเหลือเพียง 2 ครั้ง คำถามอยู่ที่ว่าครั้งนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงให้เหลือเพียง 1 ครั้งหรือไม่ เฟดเคยแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าเฟดยังไม่รีบร้อนที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ ทำให้ ความเห็นของนักลงทุนด้านอัตราดอกเบี้ย ในปีนี้ให้น้ำหนักแก่การลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าเพิ่ม ฉะนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่คาดการณ์ไว้ในเดือนนี้ จะช่วยส่งเสริมให้เฟดปรับตัวเข้าหาความคาดหวังของตลาดมากขึ้น ฉะนั้นถ้าแผนภาพแบบจุดได้ลดการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เหลือเพียง 1 ครั้ง USD/JPY น่าจะทะลุ 111 แต่ถ้าแผนภาพแบบจุดยังคงเดิม USD/JPY อาจกลับขึ้นมาสู่ 112 และ EUR/USD จะดิ่งลงสู่ 1.13
เมื่อเดือนธันวาคม เฟดได้ลดตัวเลขคาดการณ์ GDP กับอัตราเงินเฟ้อ ผู้ลงทุนจึงเฝ้าสังเกตว่าเฟดจะปรับลดผลคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจยิ่งกว่าเดิมหรือไม่ หากพิจารณาจากตารางด้านล่างแล้ว จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นนับตั้งแต่การประชุมเฟดครั้งล่าสุด ตัวเลข ภาคการผลิต และ ภาคกิจการบริการ ก็กำลังฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากที่เคยดิ่งลงเมื่อเดือนมกราคม อีกทั้ง อัตราว่างงาน เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นและ รายได้เฉลี่ยรายชั่วโมง ก็มีการเติบโตขึ้นอีกด้วย แต่ทว่าในภาพรวมแล้วอัตราเงินเฟ้อ รายปี ยังคงมีแนวโน้มต่ำลง และ อัตราการจ้างงาน ในเดือนที่แล้วก็เพิ่มขึ้นเพียง 2 หมื่นราย ธนาคารกลางคงอยากทราบว่าในเดือนมีนาคมมีการเติบโตของตลาดแรงงานมากน้อยเพียงใด ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงทำให้เฟดอาจยังไม่เปลี่ยนแปลง การประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจ จนกว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจจะมีความชัดเจนยิ่งกว่านี้
ฉะนั้นเราจึงต้องคาดเดาสถานการณ์จากคำกล่าวของประธานเฟด นายเจอโรม เพาเวลล์ ครั้งล่าสุดที่เขาให้คำกล่าวเมื่อวันที่ 8 มีนาคม เขากล่าวว่า "ภาพรวมทางเศรษฐกิจในขณะนี้ยังไม่ต้องการความช่วยเหลือจากการปรับนโยบายของเฟด การอดทนรอจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่กระเตื้อง อีกทั้งความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบในแง่ลบจาก Brexit และสงครามทางการค้าอีกด้วย" คณะเฟดส่วนใหญ่ต่างก็เห็นด้วยกับมุมมองที่ระแวดระวังของเขา ทว่าใน งานแถลงข่าว ครั้งนี้เขาอาจเผยมุมมองในแง่ดีมากขึ้นก็เป็นได้ เมื่อเดือนธันวาคมที่เฟดเคยลดจำนวนครั้งการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และลดตัวเลขประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้ราคาหุ้นพากันดิ่งลงเหว นายเพาเวลล์กล่าวไว้ว่า ในขณะนี้สถานะของตลาดการเงินโดยพื้นฐานไม่ได้ส่งผลให้เฟดเปลี่ยนมุมมองไปจากเดิม ซึ่งเพียงแค่คำแถลงดังกล่าวของเขาก็มากพอที่จะหนุนให้ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับขึ้นแล้ว ในวันนี้เราจึงยังไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ดังกล่าวออกไป แม้ว่าสัญญาณทั้งหมดที่ผ่านมาจะชี้ให้เห็นว่าเฟดจะมีความประนีประนอมมากขึ้นก็ตาม