ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์ประจำวันที่ 11 มีนาคม 2019
โดย Kathy Lien กรรมการผู้จัดการกลยุทธ์ฟอเร็กซ์จาก BK Asset Management
สัปดาห์นี้ไม่มีประเด็นไหนสำคัญไปกว่าการลงคะแนนเสียง Brexit อีกแล้ว โดยจะมีขึ้นในวันอังคาร วันพุธ และอาจต่อเนื่องไปจนถึงวันพฤหัสบดีอีกด้วย แม้ว่าจะยังไม่มีประกาศกำหนดเวลาการลงคะแนนอย่างแน่ชัด แต่การลงคะแนนจะเกิดขึ้นหลังการโต้วาทีซึ่งมักสิ้นสุดในช่วงเย็นของสหราชอาณาจักร ฉะนั้นการลงคะแนนเสียงน่าจะเริ่มขึ้นราว ๆ หลังจากเวลา 18.00-19.00 น. GMT (01.00-02.00 น. ของวันพุธตามเวลาไทย) หรืออาจล่าช้ากว่านั้น แต่อย่างไรก็ไม่น่าจะลงคะแนนเสียงก่อนเวลา 18.00 น. อย่างแน่นอน โดยการลงคะแนนเสียงในสัปดาห์นี้จะชี้ชะตาสามประเด็นดังต่อไปนี้
- สหราชอาณาจักรจะยอมรับข้อตกลงการถอนตัวของสหภาพยุโรปหรือไม่
- เป็นไปได้หรือไม่ที่สหราชอาณาจักรจะถอนตัวโดยไม่มีข้อตกลงใด ๆ
- จะมีการยืดเวลามาตรา 50 ออกไปหรือไม่
ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการลงคะแนนมีเพียง 2 ทิศทางเท่านั้น ทิศทางแรกคือสมาชิกสภาฯ จะรับพิจารณาข้อตกลงการถอนตัวหรือปฏิเสธ หากสมาชิกสภาฯ ยอมรับข้อตกลง นางเธเรซา เมย์จะได้รับชัยชนะ สหราชอาณาจักรจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 29 มีนาคม และ ค่าเงินปอนด์ จะพุ่งขึ้นโดยไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกไปจากผลลัพธ์ดังกล่าว แม้ว่าเราอาจได้เห็นการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วราว 1-2% แต่ก็ยากที่การปรับขึ้นจะเป็นไปอย่างยั่งยืน เนื่องจากบรรดาผู้ลงทุนจะเริ่มหันมาให้ความสนใจต่อผลกระทบจากการถอนตัวจากสหภาพยุโรปหากไม่มีข้อตกลงทางการค้าใด ๆ เสียมากกว่า และสหราชอาณาจักรจะต้องพบกับความท้าทายครั้งใหม่ในการเจรจาทางการค้าโดยลำพัง
ทว่าทิศทางผลลัพธ์ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดก็คือ คณะสส. จะปฏิเสธข้อตกลง เห็นได้จากรายงานก่อนหน้านี้ที่เคยออกมาว่าคณะรัฐฯ ของนายกเมย์ได้ปฏิเสธข้อเสนอนโยบาย Backstop ครั้งล่าสุดไปแล้ว เนื่องจากนายกเมย์ไม่สามารถโน้มน้าวให้สหภาพยุโรปเปลี่ยนเงื่อนไขของนโยบาย Irish backstop ได้ จึงทำให้นายกเมย์อาจไม่ได้รับคะแนนเสียงจากคณะสส. มากพอที่จะยอมรับข้อตกลงฉบับปัจจุบัน หากข้อตกลงการถอนตัวถูกปฏิเสธ นายกเมย์จะเปิดการลงคะแนนเสียงอีกครั้งในวันพุธว่าสหราชอาณาจักรควรถอนตัวจากสหภาพยุโรปทั้ง ๆ ที่ไม่มีข้อตกลงใด ๆ หรือไม่ นายกเมย์มีจุดยืนที่แน่วแน่มาตลอดว่าการถอนตัวแบบไม่มีข้อตกลงใด ๆ เลย ก็ยังดีกว่าการถอนตัวพร้อมกับข้อตกลงที่ไม่เข้าท่า และหากคณะสส. เห็นด้วย จะต้องเกิดปัญหาอย่างใหญ่หลวงในอนาคตอย่างแน่นอน กรณีดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดต่อเงินปอนด์ ก่อนหน้านี้ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ นายคาร์นีย์ เคยย้ำเตือนแล้วว่าหากเกิดเหตุการณ์ Brexit แบบไม่มีข้อตกลง อาจทำให้เงินปอนด์ดิ่งลงถึง 25% แม้ว่าอาจไม่ดิ่งลงถึงระดับนั้นภายในชั่วพริบตา แต่ถ้าหากเกิด Brexit แบบไม่มีข้อตกลงก็สามารถสร้างผลกระทบมากพอที่จะกดดันให้ GBP/USD ดิ่งลง 2 ถึง 4 เปอร์เซนต์ในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที
การถอนตัวโดยไม่มีข้อตกลงถือว่าเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบ เงินปอนด์ซึ่งอาจย่อตัวลงในวันอังคคารจากการปฏิเสธข้อตกลง อาจปรับขึ้นมาชั่วคราวหากมีการถอนตัวแบบไม่มีข้อตกลง แต่คราวนี้ทุกคนจะหันไปให้ความสนใจต่อการลงคะแนนในวันพฤหัสบดีแทน ว่าจะมีการยืดเวลาให้แก่มาตรา 50 หรือไม่
ถึงตอนนี้ มีอีกหนึ่งผลลัพธ์ที่อาจเป็นไปได้ นั่นก็คือ ถ้าหากการปฏิเสธข้อตกลงการถอนตัวมีส่วนต่างของคะแนนเพียงนิดเดียว กรณีนี้นายกเมย์อาจทุ่มสุดตัวแล้วขอให้ลงคะแนนเสียงอีกครั้งหลังจากการประชุมสหภาพยุโรปในวันที่ 22 มีนาคม ซึ่งอาจนำไปสู่การถอนตัวด้วยเทคนิคที่สหภาพยุโรปเคยกล่าวถึงเมื่อก่อนหน้านี้ แต่ไม่ว่าการถอนตัวจะเป็นไปโดยเทคนิคหรือสถานการณ์จริง ผู้ลงทุนเงินปอนด์คงไม่อาจนิ่งนอนใจต่อสัญญาณดังกล่าวที่ไม่น่าจะส่งผลดีต่อเงินปอนด์เป็นแน่
อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากยอดค้าปลีกที่ออกมาเกินคาด รายจ่ายผู้บริโภค ประจำเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 0.2% ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากการคาดการณ์ไว้ว่า 0% แต่รายจ่าย นอกเหนือจากรายจ่ายด้านยานยนต์และเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นถึง 1.2% มากกว่าการคาดการณ์ถึงสองเท่า ตัวเลขอุปสงค์ผู้บริโภคเปิดตัวได้อย่างยอดเยี่ยมในไตรมาสแรกของปี และอาจทวีความแข็งแกร่งมากขึ้นหลังจากอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวจากความอ่อนแอเมื่อปลายปีที่แล้ว และผู้ลงทุนส่วนมากยังคงไม่ไว้วางใจต่อสถานการณ์ ตัวเลข CPI มีกำหนดประกาศในวันอังคารนี้และการเพิ่มขึ้นของ ราคาน้ำมัน น่าจะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ทว่าแรงหนุนครั้งนี้ยังไม่มากพอ อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำและเมื่อเทียบ CPI แบบปีต่อปีก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 2%
ต่อไป เงินยูโร กำลังจะลงไปสู่ระดับ 1.10 จากรายงานทางเศรษฐกิจเมื่อวันจันทร์ที่ออกมาเป็นไปตามความกังวลของธนาคารกลางว่าการเจริญเติบโตจะชะลอตัว ข้อมูล ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ของเยอรมันประจำเดือนมกราคมปรับลง -0.8% ขณะที่ ตัวเลขการส่งออก ซบเซา ทำให้ การเกินดุลการค้า ขยับขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดุลบัญชีเงินสะพัดก็ปรับตัวลงเช่นกันเนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคยานยนต์ ก่อให้เกิดผลกระทบแก่ภาพรวมตั้งแต่ต้นปี เมื่อสัปดาห์ที่แล้วธนาคารกลางยุโรปได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่าโครงการปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำครั้งที่ 3 เป็นแผนให้ความช่วยเหลือเศรษฐกิจ และธนาคารกลางยุโรปเตรียมพร้อมที่ผลักดันการปล่อยเงินกู้มากขึ้นหาก Brexit ก่อให้เกิดการหยุดชะงัก หรือการเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวไปมากกว่านี้ และเนื่องด้วยส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ และเยอรมนีที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้คู่สกุลเงิน EUR/USD กำลังมุ่งลงสู่แดนลบ