ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์ประจำวันที่ 7 มีนาคม 2019
โดย Kathy Lien กรรมการผู้จัดการกลยุทธ์ฟอเร็กซ์จาก BK Asset Management
การประกาศนโยบายทางการเงิน ของธนาคารกลางยุโรปในวันนี้ ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในสัปดาห์นี้ และอาจสร้างผลกระทบต่อตลาดได้มากกว่ารายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเสียอีก หนึ่งปีที่ผ่านมา การตัดสินใจปรับดอกเบี้ยจากธนาคารกลางยุโรปทุกครั้งไม่เคยมีความปรานีต่อ เงินยูโร เลย ช่วงระยะเวลา 15 เดือนที่ผ่านมา คู่สกุลเงิน EUR/USD ดิ่งลงหลังจากการประชุมนโยบายทุกครั้งยกเว้นในเดือนกันยายน 2018 และมีแนวโน้มว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเนื่องจากขณะนี้ธนาคารกลางกำลังพิจารณาโครงการปล่อยกู้ระยะยาวสำหรับภาคธุรกิจ (TLTRO) ครั้งใหม่ และอาจมีการประกาศอย่างเร็วที่สุดภายในวันนี้ เพราะประเด็นครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะปรับวงเงินกู้หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าจะปรับเมื่อไร จากเมื่อเดือนมกราคม ธนาคารกลางยุโรปมีการเดินหมากที่แปลกไปจากเดิมคือการตัดสินใจลดการประเมินความเสี่ยง ณ ที่ประชุมทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการเผยข้อมูลคาดการณ์จำนวนแรงงานล่าสุด แต่อย่างไรก็ดี ในวันนี้จะมีการเผยข้อมูลคาดการณ์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่คล้ายกัน แม้ว่าในอดีตจะมีสัญญาณทางบวกของเศรษฐกิจแถบยูโรโซนปรากฎขึ้น (โปรดดูตารางด้านล่าง) แต่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจช่วงปลายปีที่แล้วกลับชะลอตัวลงอย่างกระทันหันและราคาก็ลดลงมาเรื่อย ๆ จึงทำให้ CPI ของฝั่งยูโรโซนออกมาเพียง 1.5% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางตั้งไว้อย่างมาก
ขณะนี้จึงมีสี่คำถามที่ต้องการคำตอบ
- ธนาคารกลางจะเริ่มใช้ TLTRO ครั้งใหม่เมื่อใด
- ช่วงอายุคงเหลือจะมีระยะเวลาเท่าไร
- อัตราดอกเบี้ยจะเป็นแบบคงที่หรือลอยตัว
- จะมีข้อจำกัดใด ๆ หรือไม่
ยิ่งธนาคารกลางมีความชัดเจนมากเท่าไร ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อ เงินยูโร ก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น หากธนาคารกลางยุโรปยังไม่เริ่มการปล่อยกู้ครั้งใหม่ภายในสัปดาห์นี้ ไม่ว่าจะเผยรายละเอียดหรือไม่ก็ตาม เป็นไปได้ว่าสกุลเงิน EUR/USD จะปรับสู่ระดับ 1.14 อย่างรวดเร็ว หากธนาคารกลางประกาศใช้ TLTRO ครั้งใหม่และจะเผยรายละเอียดในเดือนเมษายน เงินยูโรจะปรับลงและคงตัวทันทีเนื่องจากราคายังไม่เกินระดับที่คาดไว้ในสภาวะตลาดหมี และหากธนาคารกลางเผยรายละเอียดโครงการทั้งหมดและประกาศการปล่อยกู้ครั้งใหม่ที่มีช่วงอายุคงเหลือ 3-4 ปี คู่สกุลเงิน EUR/USD อาจลงไปถึงระดับต่ำสุดในเดือนพฤศจิกายนคือ 1.1215
เงินดอลลาร์แคนาดา ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในระยะเวลาสองเดือน หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศแคนาดาประกาศว่ากำหนดการ เพิ่มอัตราดอกเบี้ย ในอนาคตอาจมีความไม่แน่นอน ด้วยการลงทุนทางธุรกิจที่ลดลง ผนวกกับรายจ่ายและที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคที่ความอ่อนแอ เหตุผลเหล่านี้ไม่เพียงแค่ทำให้ไตรมาสที่ 4 ชะลอตัวลงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ การเติบโตในไตรมาสที่ 1 ก็จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคาดการณ์เช่นกัน เนื่องด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงต่ำกว่า 2% ตลอดทั้งปี 2019 จึงเป็นสัญญาณที่ชี้ชัดว่าธนาคารแห่งประเทศแคนาดาจะยังไม่เพิ่มอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ ซึ่งข้อมูลที่เผยออกมาพร้อมกับการตัดสินใจด้านอัตราดอกเบี้ยนั้นมีส่วนทำให้เกิดการชะลอตัว จาก ราคาน้ำมัน ที่ลดลงทำให้ปีที่แล้ว การขาดดุลการค้า ของแคนาดาอยู่ในระดับที่สูงที่สุด และดูเหมือนว่าสถานการณ์จะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นเลยแม้แต่น้อย เห็นได้จากดัชนี IVEY PMI ที่ร่วงลงไปสู่ระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2016 ในวันศุกร์นี้จะมีการเผยแพร่ ข้อมูลแรงงาน ของแคนาดา ซึ่งคาดว่าตัวเลขจะออกมาต่ำลงจากที่พุ่งสูงขึ้นในเดือนที่แล้ว เนื่องด้วยข้อมูลที่ออกมาเกินค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ทั้งหมด จึงเป็นไปได้ว่าราคาของคู่สกุลเงิน USD/CAD จะอยู่ที่ระดับ 1.35
ทั้งดอลลาร์ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ต่างก็ดิ่งลงอย่างฉับพลันเนื่องจากตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 4 ของออสเตรเลียออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตในอัตราเพียง 0.2% ใน ระยะเวลาสามเดือนที่ผ่านมา ของปีนี้ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ทำให้ อัตราการเจริญเติบโตรายปี ลดลงสู่ 2.3% จาก 2.7% ทั้งนี้เราไม่คาดหวังว่าการประกาศ ผลประกอบการผู้ค้าปลีก และ ดุลการค้า ของออสเตรเลียเมื่อคืนวันพุธจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งผลประกอบการผู้ค้าปลีกเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจ อันจะเห็นได้จาก ดัชนี PMI ภาคกิจการบริการ ที่ดิ่งลงในเดือนมกราคมและธันวาคม เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงรายจ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง
ขณะเดียวกัน การขาดดุลการค้าครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 และ ADP ที่ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยทำให้คู่สกุลเงิน USD/JPY ไม่สามารถหวนคืนกลับสู่ระดับ 112 ได้ โดยคู่สกุลเงินได้คงตัวอยู่ต่ำกว่าระดับดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาหลายวันแล้ว การทะลุกรอบราคาครั้งหน้าจึงต้องรอคอยข้อมูล NFP ซึ่ง รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ แทบไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อ เงินดอลลาร์ เลย ข้อมูลเผยว่าบางรัฐได้รับแรงกดดันทำให้ราคาสูงขึ้นจากความคืบหน้าทางภาษี และความตึงตัวของตลาดแรงงานที่ซึ่งมีการขาดแคลนแรงงานอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่ารายงานส่วนใหญ่ออกมาในทิศทางบวกแต่กลับไม่ส่งผลใด ๆ ต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ