Economic Highlight
ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ รวมถึงถ้อยแถลงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ขณะเดียว ควรจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
**ราคาทองคำ = Spot Gold price (XAUUSD)
FX Highlight
- สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ทว่าเงินบาทก็ได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่เผชิญทั้งแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด
- นอกจากนี้ เงินบาทก็ยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้จุดสูงสุดในปีนี้
- แม้เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงราว -1% ในสัปดาห์ก่อน ทว่า ในสัปดาห์นี้ เงินดอลลาร์อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หาก1) ตลาดลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด 2) ตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ซึ่งอาจมาจากทั้งปัจจัยความเสี่ยงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และความผิดหวังต่อรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน
- เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ หากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางทวีรุนแรงมากขึ้นและอาจบานปลายได้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกับการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทว่า เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุน หากราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นเช่นกัน รวมถึงหากเงินเยนกลายมาเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) เช่นในอดีตและทยอยแข็งค่าขึ้นได้
- เราประเมินว่า ยังคงต้องเฝ้าระวังความผันผวนในตลาดการเงินจาก การ Unwind JPY Carry Trade หรือการลดสถานะ Short JPY เพราะแม้ผู้เล่นในตลาดจะปรับลดสถานะดังกล่าวไปมากแล้ว ทว่าผู้เล่นในตลาดก็ยังคงมีสถานะ Short JPY หรือ JPY Carry Trade อยู่พอสมควร ทำให้หากเงินเยนญี่ปุ่น สามารถแข็งค่าขึ้น ได้เร็วและแรง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ก็จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงิน ตามการปรับลดสถานะดังกล่าวต่อเนื่องของผู้เล่นในตลาด
- เรามองว่า รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามและอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้
- ส่วนปัจจัยในประเทศ ควรจับตาปัจจัยเสี่ยงการเมืองในประเทศซึ่งจะมีการวินิจฉัยคดีการเมืองที่สำคัญโดยศาลรัฐธรรมนูญ อาทิ คดียุบพรรคก้าวไกล (วันที่ 7 สิงหาคม) และคดีถอดถอนนายกฯ (วันที่ 14 สิงหาคม ) โดยความเสี่ยงการเมืองไทยอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้
- สัญญาณจาก RSI, MACD และ Stochastic ใน Time Frame รายวัน สะท้อนว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทยังคงอยู่ ทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนแข็งค่า หรืออย่างน้อยอาจแกว่งตัว sideways ทั้งนี้ การแข็งค่าต่อเนื่องของเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ RSI เข้าสู่โซน Oversold สะท้อนว่า เงินบาทอาจมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง
- ส่วนสัญญาณจาก Time Frame H1 และ H4 ทั้ง RSI และ Stochastic สะท้อนภาพว่าเงินบาทเริ่มเจอโซนแนวรับในระยะสั้นแถว 35.15-35.20 บาทต่อดอลลาร์ และมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้ โดยเฉพาะใน TF H4 ที่เกิดสัญญาณ RSI Bullish Divergence นอกจากนี้ ในส่วน Time Frame H1 อาจเริ่มเห็นโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง ตามสัญญาณจาก MACD
- โดยรวมเราประเมินว่า แม้เงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่ก็อาจมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงได้เช่นกัน โดยการแข็งค่าก็อาจเป็นไปอย่างจำกัดแถวโซนแนวรับแรก 35.15-35.20 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่หากเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าได้จริง ก็จะมีโซนแนวต้านแรกแถว 35.65 บาทต่อดอลลาร์ และมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 35.85 บาทต่อดอลลาร์
Gold Highlight
- ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง มากกว่าที่เราประเมินไว้ ตามการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดเผชิญปัจจัยเสี่ยง
- ในระยะสั้น ผู้เล่นในตลาดอาจยังคงกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมีความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด และหนุนให้ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้
- ทว่าต้องระวัง การปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (Repricing Fed’s rate cuts) ซึ่งอาจกดดันราคาทองคำได้พอสมควร
- ทั้งนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้นและเสี่ยงที่จะบานปลาย อาจช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นและอาจทำจุดสูงสุดใหม่ได้
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD Time Frame รายวัน ชี้ว่า ราคาทองคำยังมีโมเมนตัมขาขึ้นอยู่ ทว่าสัญญาณจาก Stochastic สะท้อนว่า ราคาทองคำเริ่มมีโอกาสย่อตัวลงได้ นอกจากนี้ ลักษณะกราฟแท่งเทียนล่าสุด ดูมีลักษณะ Spinning Top หรือ Doji สะท้อนว่าราคาทองคำกำลังอยู่ในช่วงเลือกทิศทางอยู่
- ส่วนในภาพTime Frame H4 และ H1 สัญญาณจาก RSI และ MACD สะท้อนว่า ราคาทองคำยังเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลง หลังไม่สามารถปรับตัวขึ้นจากโซน 2,470-2,480 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อย่างชัดเจน และเผชิญแรงขายทำกำไรกดดันให้ราคาลงมาแถว 2,440-2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์
- โดยรวม เรามองว่า ราคาทองคำอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways แต่ต้องระวังความผันผวนที่อาจอยู่ในระดับสูง โดยมีโซนแนวรับแรกแถว 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนแนวต้านจะอยู่ในช่วง 2,480 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือใกล้กับโซนจุดสูงสุดในปีนี้