Economic Highlight
ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูล ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น รวมถึงรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ พร้อมทั้งรอจับตาผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน และสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง อย่างใกล้ชิด
FX Highlight
- ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ร้อนแรง กอปรกับแรงขายสินทรัพย์ไทย และโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ได้กดดันให้เงินบาทมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 36.90 บาทต่อดอลลาร์
- เงินดอลลาร์อาจได้แรงหนุนเพิ่มเติม หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยังคงออกมาสดใส ส่วนอัตราเงินเฟ้อ PCE ก็ชะลอตัวลงช้ากว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด
- นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อาจส่งผลกระทบต่อเงินดอลลาร์ได้พอสมควร โดยต้องรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และความเสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงค่าเงินเยน หลังเงินเยนได้กลับมาอ่อนค่าเข้าใกล้ระดับ 155 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง
- นอกจากนี้ หากบรรยากาศในตลาดการเงินพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเลือกถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ซึ่งต้องจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน (โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Meta, Microsoft และ Alphabet) และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
- สำหรับ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้ แต่แรงขายอาจชะลอลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า
- อีกปัจจัยที่สามารถกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้ คือ โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจสูงราว 1.6 หมื่นล้านบาทในสัปดาห์นี้
- อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์/ขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ในโซน 36.90/37 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวก็สามารถอ่อนค่าต่อสู่ระดับ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนอ่อนค่าสุดในปี 2023 ได้ไม่ยาก
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ แต่อาจชะลอลงบ้าง และเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ขณะที่ Stochastic ชี้ว่าเงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยต้องจับตาโซนแนวต้านสำคัญ 36.90/37.00 บาทต่อดอลลาร์ (หากอ่อนค่าต่อชัดเจน จะมีแนวต้านถัดไป 37.25 บาทต่อดอลลาร์ )
- ส่วนของ Time Frame ที่สั้นลง เช่น H4 และ H1 สัญญาณจากทั้ง RSI MACD และ Stochastic ต่างสะท้อนว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ตามโมเมนตัมการอ่อนค่าที่ชะลอลง โดยมีโซนแนวต้านแถว 36.90 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับจะอยู่ในช่วง 36.60 บาทต่อดอลลาร์
Gold Highlight
- ราคาทองคำเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด อย่างไรก็ดี ราคาทองคำก็ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ หากไม่มีปัจจัยหนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม อีกทั้งผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็รอทยอยขายทำกำไร
- เรามองว่า ยังคงต้องระวังความผันผวนของเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากปัจจัยแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด เนื่องจากทั้งสองตัวแปรยังมีความสำคัญต่อทิศทางราคาทองคำ
- ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรงอยู่ ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงราคาทองคำในช่วงนี้ และหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้านล่าสุดแถว 2,430 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ไม่ยาก
- ในทางกลับกัน หากความเสี่ยงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางคลี่คลายลง แต่ตลาดยังมีความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ราคาทองคำก็อาจปรับฐานได้พอสมควร
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า ราคาทองคำยังคงเสี่ยงปรับฐานต่อ ตามสัญญาณ Bearish Divergence บน RSI และ MACD ที่อาจมีความ Bearish มากขึ้น ส่วนสัญญาณจาก Time Frame ที่สั้นลง อย่าง H4 และ H1 ชี้ว่า ราคาทองคำอาจแกว่งตัว sideways ไปก่อน จนกว่าจะมีปัจจัยหนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม