- สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินผันผวนหนักและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
- สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตา นอกจากนี้ ควรรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ ของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น
- เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ หากตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยง หรือรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ส่วนอัตราเงินเฟ้อ PCE ก็ไม่ได้ชะลอลงตามคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น ในส่วนของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่ายังมีอยู่ โดยต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ โฟลว์จ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ (ราว 1.6 หมื่นล้านบาท) ก็สามารถกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ และราคาพลังงาน ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่พร้อมจะกลับมาร้อนแรงขึ้นได้ทุกเมื่อ
- มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้
36.50-37.25 บาท/ดอลลาร์ - ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ทั้ง อัตราเงินเฟ้อ PCE (รอลุ้นว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE จะชะลอลงต่อเนื่องได้หรือไม่) อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปี 2024 (ที่อาจขยายตัวราว +2.5% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี) รวมถึง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ โดย S&P Global (Manufacturing and Services PMIs) เดือนเมษายน เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดมีโอกาสเพียง 56% ในการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ (Dot Plot ล่าสุดของเฟด ชี้ว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีนี้) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2024 โดยเฉพาะบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง Meta, Microsoft และ Alphabet เป็นต้น
- ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของยูโรโซนและอังกฤษ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ในเดือนเมษายน ที่อาจสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจฝั่งยุโรป ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของทั้ง ECB และ BOE โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า มีโอกาสราว 87% ที่ ECB จะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน (มีโอกาส 96% ที่จะลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง ในปีนี้) และสำหรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของ BOE ผู้เล่นในตลาดคาดว่า BOE จะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนสิงหาคม และอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้
- ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จากทั้งรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของญี่ปุ่น และการประชุม BOJ เดือนเมษายน ซึ่งเราคาดว่า BOJ อาจยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกรอบ 0.00%-0.10% ตามเดิม ทว่า BOJ อาจส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ท่ามกลางแนวโน้มราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงและการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% ได้ โดย BOJ อาจส่งสัญญาณพร้อมเริ่มทำ Quantitative Tightening ด้วยการลดปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น และอาจส่งสัญญาณได้ว่า การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่ ส่วนในฝั่งธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) เราคาดว่า BI อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 6.00% ตามเดิม ทว่ามีความเสี่ยงที่ BI อาจขึ้นดอกเบี้ย +25bps สู่ระดับ 6.25% หากเงินรูเปียะห์ (IDR) ผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้ออินโดนีเซีย ก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ตามราคาพลังงาน ราคาอาหาร และค่าขนส่งที่สูงขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจก็ยังขยายตัวได้ดี ซึ่งภาพดังกล่าวก็มีส่วนช่วยเพิ่มน้ำหนักในการขึ้นดอกเบี้ยของ BI ได้
- ฝั่งไทย – เรายังคงมองว่า โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะสูงราว 1.6 หมื่นล้านบาทในสัปดาห์นี้ อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ ควรรอติดตามการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในงานสัมนา Monetary Policy Forum โดยต้องรอจับตาว่า ทาง ธปท. จะมีการส่งสัญญาณถึงโอกาสในการทยอยลดดอกเบี้ย ตั้งแต่การประชุมเดือนมิถุนายน อย่างที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนคาดหวังหรือไม่
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก