Economic Highlight
ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ และควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
FX Highlight
⦁ เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่ามากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ หลังเงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด และการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก หลังธนาคารกลางสวิตฯ (SNB) ลดดอกเบี้ยเซอไพรส์ตลาด ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ก็เริ่มส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยในปีนี้
⦁ เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้น้อยกว่า 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในกรณีที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ออกมาสูงกว่าคาด รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อื่นๆ ยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
⦁ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินหลักอื่นๆ ซึ่งต้องจับตาผลการประชุมธนาคารกลางสวีเดน (Rilksbank) อย่างใกล้ชิด เพราะหาก Riksbank เซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการลดดอกเบี้ย ก็อาจกดดันให้เงินโครนสวีเดน (SEK) อ่อนค่าลง กดดันบรรดาสกุลเงินฝั่งยุโรปอื่นๆ และยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
⦁ พร้อมกันนั้นควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่อาจส่งผลกระทบต่อเงินดอลลาร์และสกุลเงินฝั่งยุโรปได้
⦁ นอกเหนือจากปัจจัยนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ควรจับตาทิศทางราคาทองคำและสกุลเงินฝั่งเอเชีย อย่าง เงินหยวนจีน (CNY) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทในช่วงนี้พอสมควร
⦁ โดยในส่วนของเงินหยวน ยังมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงต่อ หลังเงินหยวนได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านเชิงจิตวิทยาในช่วงนี้ ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาแย่กว่าคาด หรือตลาดหุ้นจีน/ฮ่องกงปรับฐานต่อ ก็จะยิ่งกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่าลง
⦁ สำหรับ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจชะลอลงบ้าง และถ้าบรรยากาศตลาดยังเปิดรับความเสี่ยงอยู่ อีกทั้งเงินบาทก็ไม่ได้อ่อนค่าทะลุแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้าง
⦁ ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ ทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ และแนวต้านถัดไป 36.65 บาทต่อดอลลาร์ได้
⦁ ส่วนของ Time Frame ที่สั้นลง เช่น H4 และ H1 สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD ต่างชี้ว่า โมเมนตัมการอ่อนค่ายังมีอยู่ แต่อาจชะลอลงบ้าง (เริ่มเห็นสัญญาณ RSI Bearish Divergence และ Bearish MACD) ทำให้เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways หรือผันผวนอ่อนค่าได้บ้าง แต่หากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ก็อาจติดโซนแนวรับ 36.20 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 36.00 บาทต่อดอลลาร์) จนกว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าใหม่ๆ
Gold Highlight
⦁ ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลงหนัก หลังพุ่งขึ้นทำ All-time High คล้ายกับพฤติกรรมราคาทองคำในช่วงต้นเดือนธันวาคม อย่างไรก็ดีผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะทยอยเข้าซื้อทองคำอยู่ในโซนแนวรับ ทำให้ราคาทองคำเริ่มแกว่งตัว sideways ทำฐานราคาใหม่
⦁ การปรับตัวลดลงของราคาทองคำนั้นสอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า ราคาทองคำเริ่มขาดปัจจัยหนุน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงหนัก แม้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงบ้างก็ตาม
⦁ เรามองว่า ยังคงต้องระวังความผันผวนของเงินดอลลาร์ โดยการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์นั้นยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางราคาทองคำ
⦁ ดังนั้น ควรรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ รวมถึงผลการประชุมธนาคารกลางสวีเดน ที่อาจกระทบต่อทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์
⦁ ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า ราคาทองคำยังคงเสี่ยงปรับฐานต่อ ตามสัญญาร Bearish Divergence บน RSI และ Bearish MACD ส่วนสัญญาณจาก Time Frame ที่สั้นลง อย่าง H4 และ H1 ก็ยังคงสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ราคาทองคำจะปรับตัวลดลงต่อเช่นเดียวกัน ทว่า การปรับตัวลงอาจเริ่มชะลอ หลังราคาทองคำได้เริ่มทำฐานราคาใหม่แถว 2,150-2,160 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (แนวรับถัดไป 2,120 ดอลลาร์ต่อออนซ์) และมีโซนแนวต้านแถว 2,180-2,190 ดอลลาร์ต่อออนซ์