เฟดมีมติ “คง”ดอกเบี้ย ตามคาด
พร้อมย้ำจุดยืน “ไม่รีบ” ลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจอัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% ได้อย่างยั่งยืน
- Fed Funds Target Range
Actual: 5.25-5.50% Previous: 5.25-5.50%
KTBGM: 5.25-5.50% Consensus: 5.25-5.50%
-
- คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% ตามคาด และย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมาย 2% ได้อย่างยั่งยืน พร้อมระบุเตรียมพิจารณาเกี่ยวกับแผนการปรับลดงบดุล (QT) อย่างถี่ถ้วนในการประชุมเดือนมีนาคม
-
- ในช่วงการแถลงต่อสื่อมวลชน ประธานเฟด Jerome Powell ได้ส่งสัญญาณว่า การลดดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม ยังไม่ใช่ “Base case” ของบรรดาคณะกรรมการ FOMC และการลดดอกเบี้ยจะเริ่มต้นได้ เมื่อคณะกรรมการมีความเชื่อมั่นว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมาย 2% ได้อย่างยั่งยืน
-
- เราประเมินว่า หากอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงต่อเนื่องและเห็นภาพ “Downside Surprise” (ชะลอลงเร็วกว่าคาด) พร้อมกับการชะลอตัวลงต่อเนื่องของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก็อาจทำให้ เฟดยังมีโอกาสที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมได้ตามที่เคยประเมินไว้ ทว่า เรายอมรับว่า การที่เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมีนาคมนั้น ต้องอาศัยหลายปัจจัยพอสมควร ทำให้จังหวะการลดดอกเบี้ยครั้งแรกอาจถูกเลื่อนไปในการประชุมเดือนพฤษภาคมตามที่ตลาดกำลังคาดการณ์ได้
-
- Next FOMC Decision: Mar. 21 2024 (1 AM BKK)
คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% พร้อมย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าสามารถบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% ได้อย่างยั่งยืน
- FOMC มองข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดสะท้อนการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอัตราที่แข็งแกร่ง ส่วนภาวะตลาดแรงงาน แม้จะชะลอลงตั้งแต่ต้นปีก่อนหน้า แต่โดยรวมยังคงแข็งแกร่งอยู่ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงต่อเนื่อง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ คณะกรรมการ FOMC ได้ให้ความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการจ้างงานที่เต็มศักยภาพและเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ซึ่งคณะกรรมการก็มองว่า แม้แนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน แต่ความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวก็มีความสมดุลมากขึ้น โดยความเสี่ยงเงินเฟ้อยังคงเป็นสิ่งที่เฟดให้ความสำคัญอย่างมาก ดังนั้น คณะกรรมการจึงมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% พร้อมกับเดินหน้าลดงบดุล โดย FOMC มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%
- นอกจากนี้ คณะกรรมการ FOMC ยังระบุว่า ในการปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยนโยบายนั้น คณะกรรมการจะพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด แนวโน้มเศรษฐกิจและความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ซึ่งคณะกรรมการมองว่า การปรับลดดอกเบี้ยนั้นอาจยังไม่เหมาะสม จนกว่าคณะกรรมการจะมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมาย 2% ได้อย่างยั่งยืน
- ถ้อยแถลงของประธานเฟด ได้สะท้อนว่า “เฟดยังไม่รีบลดดอกเบี้ย” ในการประชุมเดือนมีนาคม ยกเว้นว่า เฟดจะมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมาย 2% ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ประธานเฟด ยังระบุว่า คณะกรรมการ FOMC จะพิจารณาเกี่ยวกับการปรับลดงบดุล (Quantitative Tightening: QT) อย่างจริงจัง ในการประชุมเดือนมีนาคม
โอกาสเฟดลดดอกเบี้ยเดือนมีนาคม (Poon’s base case) ลดลง แต่เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมได้ หากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่อง เร็วกว่าคาด พร้อมการชะลอลงของการจ้างงานที่ชัดเจน
- แม้ว่าผลการประชุมเฟดและถ้อยแถลงของประธานเฟดล่าสุด จะย้ำจุดยืนว่า “เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย” และยังเร็วเกินไปที่เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม แต่เรายังขอคงมุมมองเดิมว่า เฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนมีนาคม (Poon’s base case) ซึ่งเราจะมั่นใจต่อมุมมองดังกล่าว หากนับจากวันนี้เป็นต้นไป อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ CPI มีการชะลอตัวลงต่อเนื่องชัดเจนและเป็นภาพ Downside Surprise หรือชะลอลงเร็วกว่าคาด รวมถึง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ลดลงต่อเนื่อง จนต่ำกว่าระดับ +1.5 แสนตำแหน่ง โดยเรายังขอคงมุมมองเดิมดังกล่าว เนื่องจากเครื่องชี้แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็น Employment Cost Index (ECI) หรือ สัญญาณจาก Soft Data อย่าง Regional Fed Survey ต่างๆ และความแตกต่างกันอย่างชัดเจนของข้อมูลการจ้างงาน ทำให้เรายังเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะชะลอลงต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อก็มีโอกาสกลับสู่เป้าหมาย 2% ของเฟดได้
- ทั้งนี้ เรายอมรับว่า หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ การลดดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดนั้นอาจเกิดขึ้นช้ากว่าที่เราประเมิน โดยเฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคม หรือ เดือนมิถุนายน (เป็นอย่างช้า เพราะ Dot Plot ล่าสุดของเฟด อาจสะท้อนว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน)
- ท่ามกลางความไม่แน่นอนของแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (โดยเฉพาะประเด็น Timing การลดดอกเบี้ยของเฟด) เรามองว่า ตลาดการเงินจะยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง โดยเราประเมินว่า หากเรามองผิดไป และผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ 4 ครั้ง (ซึ่งเป็นมุมมองส่วนใหญ่ของบรรดานักวิเคราะห์ในตลาด) หรือ น้อยกว่านั้น เราคาดว่า เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104.5 หรือสูงกว่านั้น ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 4.20% ซึ่งในกรณีดังกล่าว ค่าเงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงสู่โซน 36.00-36.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ อนึ่ง ในส่วนของเงินบาทนั้น เรามองว่า โซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ จะเป็นโซนที่เงินบาทนั้นอ่อนค่าพอสมควร หรือ Undervalued จากการประเมินเชิง Valuation ทำให้เรามองว่า หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงฝั่งอ่อนค่ากดดันเงินบาทเพิ่มเติม ผู้เล่นในตลาดควรเริ่มทยอย Sell on Rally USDTHB เมื่อเงินบาทอ่อนค่าเข้าสู่โซนดังกล่าว เนื่องจากในระยะกลาง ถึง ระยะยาว เรายังคงประเมินว่า เงินบาทจะมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นได้ แม้ว่าอาจจะผันผวนในระหว่างทาง และอาจสูงกว่าเป้าเงินบาท ณ สิ้นปีของเรา แถว 33 บาทต่อดอลลาร์ (ก่อนปรับคาดการณ์ ซึ่งเราจะปรับอีกครั้ง หลังรับรู้ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ล่าสุด) นอกจากนี้ หากมุมมองของเราถูกต้อง ผู้เล่นในตลาดก็ยังควรใช้จังหวะเงินบาทผันผวนอ่อนค่าในการ Sell on Rally เช่นกัน
- และเนื่องจากเรายังมีมุมมองที่ Bearish ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และมีมุมมองที่ Bullish ต่อการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พอสมควร ทำให้ ผู้เล่นในตลาดควรเน้นรอจังหวะ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น มากกว่าที่จะไล่ราคาซื้อ