Economic Highlight
ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ พร้อมจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
FX Highlight
- ความกังวลแนวโน้มเฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยของผู้เล่นในตลาด ได้ส่งผลให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงและเกือบอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
- เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลง โดยเฉพาะหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด
- ไฮไลท์ข้อมูลสำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอลงตามคาด หรือข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งกรณีดังกล่าวจะหนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้
- ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำย่อตัวลงต่อ เข้าใกล้โซนแนวรับ ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
- นอกจากนี้ ทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ก็อาจส่งผลต่อเงินบาทได้ โดยต้องรอลุ้นว่า เงินหยวนจะอ่อนค่าลงต่อหรือไม่ หลังมีรายงานข่าวธนาคารเงา (Shadow Banking) รายใหญ่ของจีนได้ยื่นล้มละลาย
- อีกปัจจัยที่ควรจับตาและอาจส่งผลต่อเงินบาทได้ คือ สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ที่ล่าสุดได้ส่งผลกระทบต่อเส้นทางเดินเรือผ่านทะเลแดง จนทำให้ค่าขนส่ง ค่าระวางเรือพุ่งสูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบเงินบาทผ่านแรงกดดันต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยได้
- ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายสุทธิสินทรัพย์ไทยต่อได้ หลังดัชนี SET ปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน ส่วนตลาดบอนด์ ความกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ก็อาจกระทบต่อบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และบอนด์ยีลด์ไทยได้ ทำให้ผู้เล่นต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรได้
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลง โดยอาจมีแนวต้านแถวโซน 34.80-35.00 บาทต่อดอลลาร์
- ส่วนของ Time Frame ที่สั้นลง เช่น H4 และ H1 สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD ที่ชี้ว่า เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงได้ หรืออาจแกว่งตัว sideway ในกรอบ โดยแนวรับสำคัญยังคงเป็นโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีโซน 34.35 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับถัดไป
Gold Highlight
- ราคาทองคำปรับตัวลดลง ทดสอบโซนแนวรับระยะสั้น กดดันโดยความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด
- สัปดาห์นี้ ราคาทองคำจะยังคงผันผวนไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งจะสะท้อนผ่านทิศทางเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ
- อนึ่ง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นหลักอาจเริ่มเข้าสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้ แม้ว่าราคาทองคำอาจย่อตัวลง แต่ก็จะไม่ปรับตัวลงแรง เนื่องจากยังมีความต้องถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยช่วยพยุงไว้
- ในช่วงนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีผลกับราคาทองคำ คือ มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ
- โดยหากผู้เล่นในตลาดกลับมามั่นใจว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยในปีหน้าได้ตามคาด (ซึ่งต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่แย่กว่าคาด) ราคาทองคำก็มีโอกาสรีบาวด์ขึ้นบ้าว
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า ราคาทองคำมีโอกาสแกว่งตัว sideway หรือย่อลงได้บ้าง ขณะที่สัญญาณจาก Time Frame ที่สั้นลง อย่าง H4 และ H1 ชี้ว่า ราคาทองคำมีโอกาสรีบาวด์ขึ้น หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัว sideway ใกล้โซนแนวรับ
- ในช่วงนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจเน้นเล่น Range-trading โดยจับตาโซนแนวรับ 2,040-2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อหาจังหวะ Long ทองคำ โดยอาจตั้ง Stop loss สำหรับ สถานะ Long ราว -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าการรีบาวด์แถวโซนแนวต้าน 2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทว่าควรจับตาแนวต้านแรกแถว 2,070-2,080 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อประเมินโอกาสในการปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์