Economic Highlight
ตลาดจะรอจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน รวมถึงผลการประมูลบอนด์สหรัฐฯ ส่วนในฝั่งไทย ควรรอลุ้นรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports & Imports) เดือนพฤศจิกายน
**ราคาทองคำ = สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.
FX Highlight
- เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด อาทิ GDP ไตรมาส 3 และอัตราเงินเฟ้อ PCE
- เราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี ที่ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มเข้าสู่ช่วงเตรียมหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ ทั้งนี้ควรระวังความผันผวน จากปริมาณธุรกรรมในตลาดค่าเงินที่จะเบาบางลง
- แม้ว่า สัปดาห์นี้อาจมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ/มีความสำคัญต่อตลาดการเงินไม่มาก ทว่าผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประมูลบอนด์สหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ในช่วงนี้ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำได้ โดยหากบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าและกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลง
- ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำย่อตัวลงต่อ เข้าใกล้โซนแนวรับ ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
- ขณะที่ หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นหรือปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้าน เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายทำกำไรทองคำ ซึ่งจะช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้
- ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจยังคงทยอยขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า ทว่าแรงขายอาจลดลง ตามปริมาณธุรกรรมในตลาดที่จะเริ่มเบาบางลง
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นเป้าเงินบาท ณ สิ้นปี ที่เราประเมินไว้ตั้งแต่สิ้นเดือนกันยายน
- อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ Time Frame ที่สั้นลง เช่น H4 และ H1 สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD ที่ชี้ว่า เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ เงินบาทอาจยังมีแนวต้าน แถว 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับจะอยู่ในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับสำคัญ ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นชัดเจน ก็อาจมีโซนแนวรับถัดไปแถว 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์
Gold Highlight
- ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับคาดการณ์ของเรา ทว่า ราคาทองคำยังไม่สามารถผ่านโซนแนวต้านสำคัญไปได้ และเริ่มเสี่ยงที่จะย่อตัวลงได้ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา
- สัปดาห์นี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจอาจมีไม่มาก ทำให้ราคาทองคำอาจผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ซึ่งต้องรอลุ้นผลการประมูลบอนด์สหรัฐฯ
- อนึ่ง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี S&P500 ได้ปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านสำคัญ เกิดภาพ Overbought และ RSI Bearish Divergence ทำให้มีความเสี่ยงที่ ดัชนี S&P500 จะย่อตัวลงได้ (รอสัญญาณจาก MACD เพื่อคอนเฟิร์ม) โดยภาพดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงิน และทิศทางราคาทองคำได้
- ในกรณีที่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ราคาทองคำอาจพอได้แรงหนุนบ้าง ทว่า หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นด้วย ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ก็อาจลดทอนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ
- ส่วนกรณีที่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เปิดรับความเสี่ยง ราคาทองคำก็อาจปรับตัวขึ้นได้ ถ้าเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในกรณีที่ ตลาดมั่นใจว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยในปีหน้าได้ตามคาด ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่แย่กว่าคาด
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ อย่างไรก็ดี สัญญาณจาก Time Frame ที่สั้นลง อย่าง H4 และ H1 ชี้ว่า ราคาทองคำมีโอกาสย่อตัวลงได้ หลังราคาทองคำไม่สามารถผ่านแนวต้านไปได้
- ในช่วงนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจเน้นเล่น Range-trading โดยจับตาโซนแนวรับ 2,040-2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อหาจังหวะ Long ทองคำ โดยอาจตั้ง Stop loss สำหรับ สถานะ Long ราว -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าการรีบาวด์แถวโซนแนวต้าน 2,080 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นแนวต้านล่าสุดที่ราคาทองคำยังไม่สามารถผ่านไปได้