🐦 Early bird ค้นพบหุ้นที่มาแรงที่สุดตอนนี้ด้วยราคาเบา ๆ รับส่วนลดสูงถึง 55% สำหรับ InvestingPro กับโปรโมชัน Black Fridayรับส่วนลด

Weaker THB for Longer? …อย่างน้อย เงินบาทจะไม่อ่อนค่าถึง 38 บาทต่อดอลลาร์

เผยแพร่ 06/10/2566 08:50
อัพเดท 09/07/2566 17:32
USD/THB
-
DX
-
THB/USD
-

Weaker THB for Longer?
อย่างน้อย เงินบาทจะไม่อ่อนค่าถึง 38 บาทต่อดอลลาร์!

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตลาดการเงินยังคงอยู่อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หลัง Dot Plot ใหม่ของเฟดยิ่งเพิ่มความกังวลแนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน(Higher for Longer) ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าเกือบ 3% ส่วนเงินบาทอ่อนค่าหนัก -4% ตามทิศทางเงินดอลลาร์ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และแรงขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะบอนด์จากประเด็นความกังวลเสถียรภาพการคลังของไทย

มุมมองเงินบาทของเราในเดือนก่อนหน้าผิดในทุกมิติหลังเงินบาทกลับอ่อนค่า สวนทางกับที่เราประเมินไว้ โดยปัจจัยที่ทำให้เรามองผิดไปล้วนเป็นสิ่งที่เรามองว่าอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่ากว่าคาด โดยเฉพาะ Dot Plot ใหม่ ที่ผิดไปจากคาด โดย Dot Plot ใหม่ ย้ำจุดยืนเฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อและเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น หรือ Higher for Longer (เฟดอาจลดดอกเบี้ยในปีหน้า น้อยกว่าที่ระบุใน Dot Plot เดือนมิถุนายน) ซึ่งภาพดังกล่าวได้กดดันให้ตลาดการเงินตกอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์ ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลงแรง ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง สร้างแรงกดดันต่อตลาดบอนด์ไทย ซึ่งก็เผชิญปัจจัยเสี่ยง อย่าง ความกังวลเสถียรภาพการคลังของไทย ทำให้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังคงไหลออกจากตลาดทุนไทย นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้ตลาดยิ่งกังวลต่อแนวโน้ม Higher for Longer ขณะเดียวกัน ก็ทำให้แนวโน้มดุลการค้าของไทยเสี่ยงขาดดุลมากขึ้น จนกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัด โดยเฉพาะในช่วง Low season ของการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ปัจจัยหนุนเงินบาท กลับเป็น ภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนที่ดีกว่าคาด ซึ่งช่วยหยุดแนวโน้มการอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินหยวนจีน

สำหรับเดือนตุลาคม เรามองว่า ในช่วงแรกเงินบาทยังมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าได้บ้าง แต่เริ่มเห็นโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้น หากปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่า เริ่มคลี่คลายลง โดยเราประเมินกรอบ 35.50-37.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยเรายอมรับว่า บทวิเคราะห์นี้ ได้ออกมาก่อนรับรู้รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls:NFP) ทำให้คาดการณ์เงินบาทของเราอาจผิดไปได้ ทั้งนี้ เราเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงมากขึ้นของตลาดแรงงานสหรัฐฯ จาก Quit Rate, Hire Rate และ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ที่ลดลงต่ำกว่าคาด ทำให้ หาก NFP รวมถึงรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อื่นๆ เช่น อัตราการเติบโตของค่าจ้าง ชะลอลงต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ ตลาดคลายกังวลต่อแนวโน้ม Higher for Longer ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยลดสถานะ Long USD และ สถานะ Short Long-bond ซึ่งอาจหนุนให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลง พร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ (บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว) ในกรณีดังกล่าว เรามองว่า เงินบาทก็มีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นได้ ทว่า เรายังคงกังวลต่อแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจมีความผันผวนอยู่ ทั้งนี้ เรายังคงมีมุมมองว่า จุดอ่อนค่าสุดของเงินบาทอาจไม่เกินระดับ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ และไม่น่าจะเห็นระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ ในปีนี้ ดังนั้น เราจึงคงคำแนะนำ “SELL on RALLY” โดยผู้เล่นในตลาดควรอาศัยจังหวะที่เงินบาทผันผวนอ่อนค่าในการทยอยสะสมสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) หรือปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออก อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทได้อยู่ในช่วงผันผวนสูงกว่าปกติและสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้อาจผิดได้ไม่ยาก (เช่นที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน) ทำให้เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดก็ควรใช้กลยุทธ์ Options เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยง และนอกจากกลยุทธ์ Options ผู้ประกอบการก็อาจศึกษาการทำธุรกรรมบน Local Currency ของคู่ค้า เพื่อเป็นทางเลือกในการป้องกันความเสี่ยงได้

ทั้งนี้ เงินบาทอาจไม่ได้ทยอยแข็งค่าตามที่เราประเมินไว้ หาก 1) เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไม่หยุด เช่น ดัชนีเงินดอลลาร์ DXY ปรับตัวขึ้นทดสอบ 109 จุด ซึ่งอาจเกิดขึ้นในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด (สวนทางกับที่เราประเมินไว้) หรือ ตลาดกังวลความเสี่ยงการเกิด Stagflation ของเศรษฐกิจยุโรป จนทำให้สกุลเงินฝั่งยุโรปอ่อนค่าลงหนัก 2) เศรษฐกิจจีนกลับไม่ได้ฟื้นตัวชัดเจนและปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯ ทวีความรุนแรงมากขึ้น กดดันให้ เงินหยวนจีนอ่อนค่าต่อเนื่อง 3) นักลงทุนต่างชาติยังคงขาดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและกังวลปัญหาเสถียรภาพการคลัง และ 4) ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นต่อเนื่องอีกครั้ง กดดันแนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย และทำให้ตลาดยิ่งกังวลแนวโน้ม Higher for Longer

Fundamental Perspectives

ปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่า/ชะลอการอ่อนค่าในระยะสั้นนี้
1) “Repricing Higher for Longer” หรือ ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) โดยหากพิจารณาจาก มุมมองของผู้เล่นในตลาดล่าสุดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ผ่าน CME FedWatch Tool จะพบว่า ผู้เล่นในตลาดยังให้โอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนธันวาคม ราว 38% ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดก็มองว่ามีโอกาสราว 58% ที่เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยลงในเดือนมิถุนายน จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายทยอยลดลงสู่ระดับ 4.50-4.75% ณ สิ้นปีหน้า ซึ่ง ไม่ต่างจาก Dot Plot ล่าสุดของเฟด ที่ประเมินว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อ 1 ครั้ง และลดดอกเบี้ยลงราว -50bps ในปีหน้า นอกจากนี้ มุมมองดังกล่าว คือ การประเมินภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวไม่มาก หรือ Soft to No Landing ซึ่งไม่ใช่สมมติฐานของเรา โดยเรายังคงให้โอกาสเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงต่อเนื่องและเสี่ยงเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เป็น base case โดยภาพดังกล่าวจะถูกยืนยันด้วยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้น   

ดังนั้น หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานล่าสุด อัตราเงินเฟ้อ CPI รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ ออกมาแย่กว่าคาด หรือ สะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น ก็อาจส่งผลให้ตลาดเริ่มคลายกังวลต่อประเด็น Higher for Longer ซึ่งจะสะท้อนผ่าน การพลิกกลับมาปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ และหากพิจารณาจาก positioning ของผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะ Long USD, Short Long-end bond, Short Gold พอสมควร ดังนั้น การปรับมุมมองดังกล่าว อาจนำมาสู่การปรับสถานะถือครอง หรือ unwinding positions ได้บ้าง ซึ่งมีโอกาสทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวนสูงได้ 

2) “พลังแห่งการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำหากสมมติฐานการ repricing Higher for Longer ของเรานั้นถูกต้อง ราคาทองคำมีโอกาสพลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้ไม่ยาก นอกจากนี้ ในเชิง technical เราพบว่า การปรับฐานล่าสุดของราคาทองคำ ถือว่า เป็นการปรับตัวลงที่หนัก จน RSI เข้าสู่โซน Oversold ที่เป็นจุดต่ำสุดตั้งแต่ปี 2018 และเป็นระดับที่ ราคาทองคำมักจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี หากใช้เงื่อนไข RSI พบว่า ราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นหลังเกิดสัญญาณดังกล่าว ราว +5.2% โดยเฉลี่ยในช่วง 20 วันทำการ (Win rate 100%) ดังนั้น หากราคาทองคำรีบาวด์ขึ้น เราคาดว่าผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายทำกำไรทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

3) “Entering High Season of Tourisms” โดยเดือนตุลาคมจะเริ่มเข้าสู่ช่วง High Season ของการท่องเที่ยว นอกจากนี้ เรามองว่า มาตรการฟรีวีซ่าของรัฐบาลก็อาจช่วยหนุนให้นักท่องเที่ยวจีน เดินทางมาเที่ยวในไทยมากขึ้นได้ อย่างไรก็ดี เหตุกราดยิงล่าสุดอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนได้ สะท้อนจากผลสำรวจโดย 新浪新闻 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (84%) ระบุว่า ยังไม่กล้าไปไทยในช่วงนี้ ทั้งนี้ แม้ว่าการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนอาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวบ้าง แต่เรามองว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ อาทิ โซนอเมริกาเหนือและยุโรป ก็มีแนวโน้มกลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นได้ 

4) “Returning of Foreign Fund Flows?” โดยนักลงทุนต่างชาติอาจทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยอีกครั้ง แม้ว่าในเดือนที่ผ่านมา เราจะมีมุมมองดังกล่าว ซึ่งเรียกได้ว่า ผิดคาดชัดเจน หลังนักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง ทว่า หากประเมินสถานะการถือครองล่าสุดของนักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า แรงขายหุ้นไทยอาจเหลือไม่มากนัก นอกจากนี้ ระดับราคาหุ้นไทย (Valuation) ก็ได้ลดลงมาสู่ระดับที่เรามองว่ามีความน่าสนใจมากขึ้น ด้วยระดับ Forward P/E ราว 16.2 เท่า ซึ่งน้อยกว่า ค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปี ที่ 18 เท่า พอสมควร และหากบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เราคาดว่า นักลงทุนต่างชาติก็พร้อมทยอยกลับมาซื้อหุ้นไทยได้บ้าง

อย่างไรก็ดี ในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดบอนด์ไทย เรามองว่า แรงขายบอนด์ไทยอาจยังคงมีอยู่บ้าง จนกว่าจะเห็นการกลับตัวลงที่ชัดเจนของบอนด์ยีลด์ฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งต้องเห็นการ Repricing Higher for Longer ก่อน นอกจากนี้ ความกังวลเสถียรภาพการคลัง และสภาพคล่องในตลาดการเงิน ก็อาจยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่รีบกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทยในระยะสั้น ซึ่งต้องรอติดตามอย่างใกล้ชิดว่า รัฐบาลไทยจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้มากน้อยเพียงใด โดยเรามองว่า หากตลาดเห็นความชัดเจนของมาตรการ Digital Wallet ทั้งในแง่ของการดำเนินการ อานิสงส์ที่อาจเกิดขึ้น และการหาแหล่งเงินทุนสำหรับมาตรการ ก็อาจช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้บ้างและจะสะท้อนผ่านการทยอยกลับเข้าซื้อบอนด์ของนักลงทุน

5) “Red Dragon will start to fly again” โดยเรามีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมากขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนล่าสุด ส่งสัญญาณดีขึ้น สะท้อนผ่านการทยอยปรับตัวขึ้นของดัชนี Economic Surprise ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือนตุลาคม อาจยังไม่เห็นการตอบสนองของผู้เล่นในตลาดต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจจีนมากนัก เนื่องจากติดช่วงวันหยุด Golden Week ทำให้เรามองว่า หากตลาดการเงินจีนกลับมาเปิดทำการตามปกติและในช่วงเดือนตุลาคม รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีนสะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินหยวนจีน (CNY) ซึ่งอาจส่งผลดีต่อสกุลเงินฝั่งเอเชียด้วยเช่นกัน และจากการประเมิน cross-asset correlation ล่าสุด เราพบว่า เงินหยวนของจีน ก็เป็นหนึ่งในสามสินทรัพย์ที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทมากที่สุด (นอกจาก ทองคำและเงินดอลลาร์) ดังนั้น หากเงินหยวนสามารถทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

ส่วนปัจจัยฝั่งอ่อนค่าที่อาจกดดันค่าเงินบาทได้ คือ
1) “Return of the Black Gold” โดยเรายังคงกังวลอยู่ว่า การปรับตัวลงล่าสุดของราคาน้ำมันดิบอาจเป็นเพียงการพักฐาน ซึ่งหากทางกลุ่ม OPEC+ ยังคงมีการลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง ก็อาจหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นได้อีกครั้ง ซึ่งในจังหวะที่ภาคการส่งออกไทยเริ่มจะฟื้นตัวได้ การปรับตัวขึ้นอีกครั้งของราคาน้ำมันดิบ ก็อาจกดดันให้ ดุลการค้าของไทยมีความเสี่ยงที่จะขาดดุลได้ เนื่องจากประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีการนำเข้าพลังงานสูง อีกทั้งยังเป็นประเทศที่พึ่งพาการใช้พลังงานในระดับที่สูง โดยโครงสร้างดังกล่าวก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนผ่าน ระดับอัตราการบริโภคพลังงานต่อ GDP หรือ Energy-Intensity ที่ทรงตัว สวนทางกับแนวโน้มการปรับตัวลดลงในฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว หรือ แม้กระทั่งประเทศในอาเซียนด้วยกัน ซึ่งการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น ก็อาจกดดันให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยลง หรือ เสี่ยงขาดดุลได้ 

2) “Stagflation risk for Europe”หรือความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยุโรป โดยปัจจัยนี้ เรามองว่า อาจส่งผลกระทบต่อเงินบาทผ่านการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หากผู้เล่นในตลาดกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า เศรษฐกิจยุโรปมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ Stagflation และอาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ก่อนฝั่งสหรัฐฯ หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาคเอกชนของยุโรปอาจรับผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่สูงได้ไวกว่าฝั่งสหรัฐฯ เนื่องจากการกู้ยืมเกินกว่า 70% นั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ในขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ การกู้ยืมเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวมีสัดส่วนไม่เกิน 25% และหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรปยังคงออกมาไม่สดใสต่อเนื่อง ก็จะยิ่งกดดันทั้ง ตลาดหุ้นยุโรป และสกุลเงินฝั่งยุโรปให้อ่อนค่าลงได้ โดยเราพบว่า สกุลเงินยูโร (EUR) ก็มีการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับตลาดหุ้นยุโรป หรือ ดัชนี STOXX600 พอสมควร นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ย (ใช้ส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 2 ปี ระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ) 

3) “Credit rating Downgrade risk” สำหรับประเทศไทย แม้เรามองว่า โอกาสเกิดการปรับลดเครดิตเรทติ้งของไทยนั้นมีอยู่น้อยมากในปัจจุบัน แต่ความกังวลต่อภาพดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบต่อตลาดทุนไทยได้ โดยในกรณีที่ Credit rating agency บางแห่ง หรือ หลายแห่ง เริ่มแสดงความกังวลต่อเสถียรภาพการคลังของไทย จากแนวโน้มการกู้เงินเพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล หรือมีการออกคำเตือนพร้อมปรับเครดิตเรทติ้งหรือมุมมอง (outlook) ก็อาจยิ่งเพิ่มความกังวลต่อประเด็นเสถียรภาพการคลังของไทย ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังสามารถเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะบอนด์ไทยได้ไม่ยาก (แม้ว่าแรงกดดันจากบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จะลดลงก็ตาม)

Technical Perspectives

ในเชิงเทคนิคัล ในภาพ Time Frame รายสัปดาห์ (Weekly) สัญญาณจาก RSI และ MACD ชี้ว่า โมเมนตัมการอ่อนค่ายังคงมีอยู่ ทว่า RSI เริ่มเข้าสู่โซน Overbought ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสให้เงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ทั้งนี้ ต้องจับตาว่า เงินบาทจะสามารถอ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญ 37.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ เพราะการอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าวก็อาจเปิดทางให้เงินบาทยังสามารถอ่อนค่าต่อทดสอบจุดอ่อนค่าสุดที่เราประเมินไว้ วันที่ 26 กันยายน แถว 37.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก 

ส่วนใน Time Frame รายวัน (Daily) ทั้ง RSI และ MACD เริ่มสะท้อนว่าโมเมนตัมการอ่อนค่าอาจชะลอลง และเห็นโอกาสเกิดสัญญาณ Bearish Divergence บน RSI และ MACD Forest นอกจากนี้ กราฟแท่งเทียนของเงินบาทก็เริ่มเห็นความลังเลของผู้เล่นในตลาดมากขึ้น สะท้อนโอกาสการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้างในช่วงนี้ 

อนึ่ง เราพบว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) และบางส่วนก็อาจเริ่มเพิ่มสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) ได้บ้าง หากประเมินว่า ผู้เล่นที่มีมุมมองดังกล่าว มีจุดเข้าแถว 37.00 บาทต่อดอลลาร์ และอาจมีจุด Stop Loss แถว 37.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนจุดขายทำกำไรก็อาจอยู่ในโซน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ หรือ ต่ำกว่านั้น ซึ่งจะให้ Risk-Reward Ratio 1:2 เป็นอย่างน้อย

ในกรณีที่ เงินบาทสามารถทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จนต่ำกว่าระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเพิ่มสถานะ Long THB มากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทสามารถแข็งค่าต่อทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ อย่างไรก็ตาม เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพราะบรรดาผู้นำเข้าต่างก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ในจังหวะที่เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า

Risk Factors to keep eyes on

ปัจจัยความเสี่ยงที่ควรติดตามในเดือนนี้ (เรียงตามความสำคัญและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมากสุดไปน้อยสุด) จะประกอบไปด้วย

1) ความเสี่ยงเศรษฐกิจยูโรโซนและอังกฤษมีโอกาสเข้าสู่ภาวะ Stagflation หลังอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวลงต่อเนื่อง

2) ตลาดกลับมาเชื่อใน Dot Plot ล่าสุดของเฟด หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด

3) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้เล่นในตลาดต่อตลาดทุนจีนและตลาดทุนฝั่ง EM Asia

4) ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อเสถียรภาพการคลังของไทยและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

5) การเข้าแทรกแซงค่าเงินของทางการญี่ปุ่น หากทางการญี่ปุ่นพิจารณาแล้วพบว่า เงินเยนอ่อนค่าและผันผวนหนัก

และ

6) ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risk) อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจร้อนแรงขึ้น จนส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะ สินค้าพลังงาน ทั้ง ราคาน้ำมันดิบ และ ราคาแก๊สธรรมชาติ ซึ่งช่วงนี้ก็เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวในฝั่งซีกโลกเหนือ

ความคิดเห็นล่าสุด

กำลังโหลดบทความถัดไป...
การเปิดเผยความเสี่ยง: การซื้อขายตราสารทางการเงินและ/หรือเงินดิจิตอลจะมีความเสี่ยงสูงที่รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียจำนวนเงินลงทุนของคุณบางส่วนหรือทั้งหมดและอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุนทั้งหมด ราคาของเงินดิจิตอลแปรปรวนอย่างมากและอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเงิน กฎหมายกำกับดูแล หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง การซื้อขายด้วยมาร์จินทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ก่อนการตัดสินใจซื้อขายตราสารทางการเงินหรือเงินดิจิตอล คุณควรตระหนักดีถึงความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดการเงิน ควรพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และ การยอมรับความเสี่ยงและแสวงหาคำแนะนำทางวิชาชีพหากจำเป็น
Fusion Media อยากเตือนความจำคุณว่าข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ไม่ใช่แบบเรียลไทม์หรือเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป ข้อมูลและราคาที่แสดงไว้บนเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหรือตลาดหลักทรัพย์เสมอไปแต่อาจได้รับจากผู้ดูแลสภาพคล่องและดังนั้นราคาจึงอาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำและอาจแตกต่างจากราคาจริงในตลาดซึ่งหมายความว่าราคานี้เป็นเพียงราคาชี้นำและไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อขาย Fusion Media และผู้ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้จะไม่รับผิดชอบใด ๆ สำหรับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เป็นผลมาจากการซื้อขายของคุณหรือการพึ่งพาของคุณในข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้
ห้ามใช้ จัดเก็บ ทำซ้ำ แสดงผล ดัดแปลง ส่งผ่าน หรือ แจกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Fusion Media และ/หรือจากผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้
Fusion Media อาจได้รับผลตอบแทนจากผู้โฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของคุณที่มีกับโฆษณาหรือผู้โฆษณา
เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเอกสารฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นหลักซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่เหนือกว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อขัดแย้งไม่สอดคล้องตรงกันระหว่างเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย