Economic Highlight
ไฮไลท์สำคัญในสัปดาห์นี้ จะอยู่ที่ ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของบรรดาเศรษฐกิจหลัก อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟดอย่างใกล้ชิด
**ราคาทองคำ = สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.
FX Highlight
- สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวอ่อนค่าลง แม้ว่า Dot Plot ใหม่ของเฟดจะชี้ว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้ง แต่ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่มั่นใจต่อมุมมองดังกล่าวของเฟด นอกจากนี้ แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของ ECB ก็หนุนให้เงินยูโรพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง กดดันเงินดอลลาร์
- เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ถึง 2 ครั้งตาม Dot Plot ใหม่ ซึ่งต้องอาศัยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน หรือ การส่งสัญญาณที่ชัดเจนของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดว่าพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ
- อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจเริ่มจำกัดลงและเงินดอลลาร์มีโอกาสกลับมาเป็นเทรนด์ขาลงอีกครั้ง ท่ามกลางภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และเรายังคงมองว่า เฟดอาจยังไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ใหม่ (เรามองเฟดจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว)
- อนึ่ง เงินดอลลาร์มีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากบรรยากาศในตลาดการเงินพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven)
- ในสัปดาห์นี้ เราคาดว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้ หากธนาคารกลางอังกฤษ (ECB) ขึ้นดอกเบี้ยตามคาดและย้ำจุดยืนขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก็อาจกดดันให้เงินปอนด์ (GBP) ทยอยแข็งค่าขึ้นกดดันเงินดอลลาร์ได้เช่นกัน
- ในช่วงนี้ ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเงินหยวนของจีนพอสมควร ซึ่งในช่วงนี้ เรามองว่า ตลาดอาจตอบรับกับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารกลางจีน (PBOC) ในเชิงบวก ส่งผลให้ทั้งเงินหยวนจีน ตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกง มีโอกาสแข็งค่าขึ้นหรือปรับตัวขึ้น และอาจเป็นปัจจัยหนุนเงินบาทฝั่งแข็งค่าได้
- เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจมีท่าทีระมัดระวังตัวมากขึ้น เพื่อรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟดผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทำให้แรงซื้อหุ้นไทยโดยนักลงทุนต่างชาติอาจกลับมาไม่มากนัก ขณะเดียวกัน ในประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาได้บ้าง
- สำหรับฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในส่วนตลาดบอนด์ เราคงมองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะกลาง-ระยะยาวได้บ้าง ในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น (รอ Buy on dip)
- อีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อทิศทางค่าเงินบาท คือ โฟลว์ธุรกรรมทองคำ โดยเรายังคงเห็นทั้งแรงซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ตามแนวโน้มการเคลื่อนไหว sideway ของราคาทองคำในช่วงนี้
- ในเชิงเทคนิคัล เรามองว่า RSI Divergence ที่เกิดขึ้นล่าสุด พร้อมกับ การตัดลงของ MACD ทำให้โดยรวมสัญญาณเชิงเทคนิคัลยังคงชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideway หรือ sideway down ได้
- เราคงมองว่า แนวต้านสำคัญคือ โซน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง ในการเพิ่มสถานะ Long THB หรือทยอยขายเงินดอลลาร์ ในส่วนของแนวรับนั้น จะยังคงอยู่ในช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ในระยะสั้นนี้
Gold Highlight
- ราคาทองคำเคลื่อนไหว sideway โดยมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับ ตามที่เราประเมินไว้ หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวลดลง หลังตลาดยังไม่เชื่อว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ถึง 2 ครั้ง
- เราประเมินว่า ควรระวังการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินเฟด ซึ่งต้องรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
- อนึ่ง หากราคาทองคำย่อตัวลงทดสอบโซนแนวรับ 1,940-1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เราคาดว่าจะยังคงเห็นแรงซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งจะพอช่วยให้โซนดังกล่าวเป็นแนวรับสำคัญของราคาทองคำในช่วงนี้
- เราคงมองว่า การย่อตัวลงของราคาทองคำอาจเริ่มจำกัด หลังโมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็แผ่วลง ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจปรับตัวขึ้นไม่ได้ไกลมากนัก เพราะผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ เมื่อบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงติดโซนแนวต้านแถว 3.80%
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD ต่างชี้ว่า ราคาทองคำอาจมีโอกาสแกว่งตัว sideway up หรือ sideway โดยในช่วงนี้อาจมีเส้นค่าเฉลี่ย EMA50 วันแถว 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นแนวต้านสำคัญ
- เราคงเป้าราคาทองคำไว้ที่ 2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะราคาทองคำปรับฐานในการทยอยเข้าซื้อได้ ซึ่งอาจรอสัญญาณการกลับตัวที่ชัดเจนก่อนทยอยเข้าซื้อได้เช่นกัน