รับส่วนลด 40%
ใหม่! 💥 รับ ProPicks เพื่อดูกลยุทธ์ที่ให้ผลตอบแทน ชนะดัชนี S&P 500 มากกว่า 1,183% รับส่วนลด 40%

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตธนาคารเริ่มบรรเทาลง กดดันราคาทองคำในเมื่อคืนนี้

เผยแพร่ 22/03/2566 11:06
อัพเดท 09/07/2566 17:32

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตธนาคารเริ่มบรรเทาลง กดดันราคาทองคำในเมื่อคืนนี้

ตลาดหุ้นทั่วโลกดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งหลังจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารเริ่มบรรเทาลง ภายหลังจากภาครัฐและภาคเอกชนได้พร้อมใจกันแสดงศักยภาพในการฟื้นฟูและให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินที่อ่อนแอ

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นติดต่อกันวันที่ 2 ในเมื่อคืนนี้ เนื่องจากตลาดคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตสภาพคล่องในภาคธนาคาร ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเวลา 01:00 คืนนี้ และรอถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดในช่วงเวลา 01:30 - 02:30 ในคืนนี้เช่นเดียวกัน

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นมากกว่า 1% ในเมื่อคืนนี้ โดยหุ้นกลุ่มธนาคารนำตลาดฟื้นตัวขึ้น หลังจากมีการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับภาคธนาคาร

ในขณะที่ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกขึ้นมากกว่า 1% ในเมื่อคืนนี้เช่นเดียวกัน โดยหุ้นกลุ่มธนาคารดีดตัวขึ้นหลังจากคลายความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตธนาคาร

ราคาหุ้นของธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB พุ่งขึ้นในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในเมื่อคืนนี้ ขานรับมาตรการช่วยเหลือภาคธนาคารของทางการสหรัฐ

ราคาหุ้น FRB พุ่งขึ้น 29.5% หลังดิ่งลงเกือบ 50% ในวันจันทร์

หุ้น FRB และหุ้นกลุ่มธนาคารภูมิภาคของสหรัฐดีดตัวขึ้นในเมื่อคืนนี้ หลังจากนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และอดีตประธานเฟด กล่าวยืนยันว่า ระบบธนาคารของสหรัฐมีเสถียรภาพ หลังจากที่ทางการสหรัฐออกมาตรการสกัดวิกฤตสภาพคล่องก่อนหน้านี้ และรัฐบาลพร้อมดำเนินการมากขึ้น หากพบว่าวิกฤตการณ์ลุกลามออกไป

ทั้งนี้ ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสมาคมธนาคารอเมริกัน นางเยลเลนกล่าวว่า การดำเนินการของรัฐบาลในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาในการคุ้มครองเงินฝากที่ไม่ได้รับการค้ำประกันของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ และการจัดตั้งกองทุนสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐ เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการใช้มาตรการที่มีความจำเป็นเพื่อคุ้มครองเงินฝากของประชาชน และทำให้ระบบธนาคารมีความปลอดภัย

"การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นการพุ่งเป้าช่วยเหลือธนาคารแห่งหนึ่งแห่งใด หรือธนาคารประเภทใดเป็นพิเศษ โดยการแทรกแซงของเรามีความจำเป็นเพื่อปกป้องระบบธนาคารโดยรวม และเราจะดำเนินการเช่นนี้อีก หากพบว่าสถาบันการเงินขนาดเล็กได้รับผลกระทบจากการที่ลูกค้าแห่ถอนเงินฝาก และเกิดความเสี่ยงที่จะทำให้วิกฤตการณ์ลุกลามออกไป" นางเยลเลนกล่าว

นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวว่า การที่ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐอัดฉีดเม็ดเงินในรูปเงินฝากจำนวน 3 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB ถือเป็นการแสดงความเชื่อมั่นต่อระบบธนาคารของสหรัฐ

นางเยลเลนกล่าวถ้อยแถลงดังกล่าว หลังมีข่าวว่า กระทรวงการคลังสหรัฐกำลังศึกษาแนวทางในการทำให้บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) สามารถคุ้มครองเงินฝากได้ทั้ง 100% จากปัจจุบันที่ให้การคุ้มครองไม่เกิน 250,000 ดอลลาร์

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวระบุว่า นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐ กำลังเป็นผู้นำการเจรจาร่วมกับผู้บริหารของธนาคารขนาดใหญ่แห่งอื่นๆ เกี่ยวกับมาตรการครั้งใหม่ในการสร้างเสถียรภาพต่อ FRB

รายงานระบุว่า ธนาคารดังกล่าวกำลังพิจารณาเข้าลงทุนใน FRB โดยอาจมีการแปลงเงินฝาก 3 หมื่นล้านดอลลาร์ก่อนหน้านี้ ให้เป็นการเพิ่มทุนในธนาคาร

ทั้งนี้ ธนาคารรายใหญ่จำนวน 11 แห่งของสหรัฐมีมติในสัปดาห์ที่แล้วในการอัดฉีดเม็ดเงินในรูปเงินฝากจำนวน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1 ล้านล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ FRB

ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำข้อตกลงดังกล่าว ได้แก่ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายไดมอน

ตามข้อตกลงดังกล่าว ธนาคารขนาดใหญ่ในวอลล์สตรีทจะฝากเงินใน FRB เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ทางธนาคาร โดยแบงก์ ออฟ อเมริกา, เวลส์ ฟาร์โก, ซิตี้กรุ๊ป และเจพีมอร์แกน จะฝากเงินใน FRB รายละ 5 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ จะฝากเงินรายละ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนธนาคารทรูอิสต์ ไฟแนนเชียล, พีเอ็นซี, ยูเอส แบงคอร์ป, สเตทสตรีท และแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน จะฝากเงินใน FRB รายละ 1 พันล้านดอลลาร์

ดัชนี S&P500 banking index ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารที่คำนวณใน S&P500 พุ่งขึ้น 3.6% โดยหุ้นโกลด์แมน แซคส์ พุ่งขึ้น 2.5% หุ้นเวลส์ ฟาร์โก พุ่งขึ้น 2.67% หุ้นเจพีมอร์แกน พุ่งขึ้น 2.71% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ทะยานขึ้น 3.64% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา พุ่งขึ้น 3.03%

ดัชนี KBW regional banking index ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารระดับภูมิภาค พุ่งขึ้น 4.8% นำโดยหุ้น FRB ทะยานขึ้น 29.5% ส่วนหุ้นแพคเวสต์ บันคอร์ป และหุ้นเวสเทิร์น อัลลิอันซ์ บันคอร์ป พุ่งขึ้น 18.8% และ 15% ตามลำดับ

ตลาดหุ้นสเปนและอิตาลี ซึ่งหุ้นแบงก์มีน้ำหนักส่วนใหญ่ในตลาด ต่างก็พุ่งขึ้น 2.5%

หุ้นกลุ่มธนาคารของยุโรป พุ่งขึ้น 3.8% โดยหุ้นธนาคารเครดิต สวิส พุ่ง 7.3% และหุ้นยูบีเอส พุ่งขึ้น 12.1%

หุ้นกลุ่มธนาคารทั่วโลกฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่วันจันทร์ หลังยูบีเอสเข้าเทกโอเวอร์เครดิต สวิส และการที่ธนาคารกลางต่าง ๆ ดำเนินการร่วมกันเพื่อหนุนสภาพคล่องนั้นได้เพิ่มความหวังว่า จะสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตด้านการธนาคารกลางได้ในระยะสั้น

ความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตด้านการธนาคารนั้นดูเหมือนจะคลี่คลายลงแล้ว หลังธนาคารยูบีเอสของสวิตเซอร์แลนด์ตกลงที่จะซื้อธนาคารเครดิต สวิสในวงเงิน 3.23 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

หุ้นกลุ่มธนาคารของอังกฤษ พุ่งขึ้น 3.3% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดในรอบกว่า 2 เดือน ขณะที่หุ้นบาร์เคลยส์ พุ่งขึ้น 5.0%

ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาแข็งแกร่งของสหรัฐในเมื่อคืนนี้ เป็นอีกปัจจัยที่หนุนดัชนีดอลลาร์ให้มีการฟื้นตัวขึ้น และกดดันราคาทองคำเช่นเดียวกัน

สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองพุ่งขึ้น 14.5% สู่ระดับ 4.58 ล้านยูนิตในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน และเป็นการพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2563

ยอดขายบ้านมือสองได้รับแรงหนุนจากการร่วงลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านดิ่งลง 22.6% ในเดือนก.พ.

ส่วนสต็อกบ้านในตลาดอยู่ที่ระดับ 980,000 ยูนิตในเดือนก.พ. ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนม.ค.

นอกจากนี้ ราคาเฉลี่ยของบ้านอยู่ที่ระดับ 363,000 ดอลลาร์ ลดลง 0.2% เมื่อเทียบรายปี

เมื่อพิจารณายอดขายบ้าน และสต็อกบ้านในตลาด พบว่า ผู้ขายบ้านต้องใช้เวลา 2.6 เดือนในการขายบ้านจนหมดสต็อกในตลาด ลดลงจาก 2.9 เดือนในม.ค.

ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3.2% ในไตรมาส 1/2566

เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 24 มี.ค.

สำหรับในปี 2565 เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 และ 0.6% ในไตรมาส 2 ซึ่งทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ก่อนที่มีการขยายตัว 3.2% และ 2.9% ในไตรมาส 3 และ 4 ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตลอดทั้งปี 2565 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.1% หลังจากพุ่งแตะระดับ 5.9% ในปี 2564

บรรดานักลงทุนมุ่งความสนใจในขณะนี้ไปที่ผลการประชุมนโยบายการเงินเป็นเวลา 2 วันของเฟดซึ่งจะสิ้นสุดลงในคืนนี้ ขณะที่เทรดเดอร์คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%

เฟดจะสิ้นสุดการประชุมนโยบายการเงินในคืนนี้เวลา 01:00 ขณะที่สัญญาอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐบ่งชี้ว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% หลังเกิดวิกฤตธนาคารในช่วงที่ผ่านมา

ผลการสำรวจนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมรอบนี้ ซึ่งจะเป็นการแสดงความเชื่อมั่นของเฟดว่าสามารถรับมือวิกฤตการณ์ในระบบธนาคารขณะนี้ และเฟดจะยังคงให้ความสำคัญต่อการสกัดเงินเฟ้อ แม้มีสัญญาณการชะลอตัว แต่ก็ยังคงสูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

"เราคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในวันพรุ่งนี้ โดยเราไม่คิดว่าภาวะไร้เสถียรภาพในระบบการเงินจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้เฟดคงดอกเบี้ย เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงที่ว่าเฟดจะสูญเสียความเชื่อมั่นในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ซึ่งเฟดต้องการที่จะรักษาเอาไว้" นักวิเคราะห์จากเจฟเฟอรรี ไฟแนนเชียล กรุ๊ปกล่าว

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 84.9% ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. และให้น้ำหนักเพียง 15.1% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ย

ในขณะที่ทำเนียบขาวแถลงว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้น หลังนางเอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกสหรัฐ ได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนายพาวเวล และกล่าวว่าเขาไม่ควรอยู่ในตำแหน่งต่อไป

"คุณพาวเวลมีหน้าที่ 2 ประการ คือการดำเนินนโยบายการเงิน และดูแลเรื่องกฎระเบียบ ซึ่งเขาล้มเหลวทั้งคู่" นางวอร์เรนกล่าวในรายการ Meet the Press ของสถานี NBC

นางวอร์เรนแสดงความไม่พอใจต่อนายพาวเวล ท่ามกลางวิกฤตการณ์ในภาคธนาคาร ซึ่งนางวอร์เรนกล่าวโจมตีการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และการผ่อนคลายกฎระเบียบธนาคารว่าเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้ระบบธนาคารไร้เสถียรภาพ

นี่คือโฆษณาของบุคคลที่สาม ไม่ใช่ข้อเสนอหรือคำแนะนำจาก Investing.com ดูการเปิดเผยข้อมูลที่นี่หรือ หรือลบโฆษณา

ความคิดเห็นล่าสุด

การเปิดเผยความเสี่ยง: การซื้อขายตราสารทางการเงินและ/หรือเงินดิจิตอลจะมีความเสี่ยงสูงที่รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียจำนวนเงินลงทุนของคุณบางส่วนหรือทั้งหมดและอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุนทั้งหมด ราคาของเงินดิจิตอลแปรปรวนอย่างมากและอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเงิน กฎหมายกำกับดูแล หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง การซื้อขายด้วยมาร์จินทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ก่อนการตัดสินใจซื้อขายตราสารทางการเงินหรือเงินดิจิตอล คุณควรตระหนักดีถึงความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดการเงิน ควรพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และ การยอมรับความเสี่ยงและแสวงหาคำแนะนำทางวิชาชีพหากจำเป็น
Fusion Media อยากเตือนความจำคุณว่าข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ไม่ใช่แบบเรียลไทม์หรือเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป ข้อมูลและราคาที่แสดงไว้บนเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหรือตลาดหลักทรัพย์เสมอไปแต่อาจได้รับจากผู้ดูแลสภาพคล่องและดังนั้นราคาจึงอาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำและอาจแตกต่างจากราคาจริงในตลาดซึ่งหมายความว่าราคานี้เป็นเพียงราคาชี้นำและไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อขาย Fusion Media และผู้ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้จะไม่รับผิดชอบใด ๆ สำหรับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เป็นผลมาจากการซื้อขายของคุณหรือการพึ่งพาของคุณในข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้
ห้ามใช้ จัดเก็บ ทำซ้ำ แสดงผล ดัดแปลง ส่งผ่าน หรือ แจกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Fusion Media และ/หรือจากผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้
Fusion Media อาจได้รับผลตอบแทนจากผู้โฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของคุณที่มีกับโฆษณาหรือผู้โฆษณา
เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเอกสารฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นหลักซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่เหนือกว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อขัดแย้งไม่สอดคล้องตรงกันระหว่างเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย