ตลาดหุ้นยังคงไม่ฟื้น ขณะที่ราคาทองคำ น้ำมัน และ ETH ร่วงลงอย่างหนัก

เผยแพร่ 16/09/2565 20:19
DX
-

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (15 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ตลาดถูกกดดันจากการที่ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกรายงานเตือนว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะถดถอย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,961.82 จุด ลดลง 173.27 จุด หรือ -0.56%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,901.35 จุด ลดลง 44.66 จุด หรือ -1.13% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,552.36 จุด ลดลง 167.32 จุด หรือ -1.43%

นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งหลายรายการเมื่อคืนนี้ ซึ่งรวมถึงยอดค้าปลีกเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทรงตัว หลังจากที่ลดลง 0.4% ในเดือนก.ค.

ขณะที่ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 213,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 226,000 ราย

ข้อมูลล่าสุดจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%

ทั้งนี้ หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนก.ย. ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค.

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่ IMF และธนาคารโลกออกรายงานเตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าใกล้ภาวะถดถอยเนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกพากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ร่วงลงหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ โดยหุ้นแอปเปิล ร่วงลง 1.89% หุ้นเมตา แพลทฟอร์มส์ ดิ่งลง 1.27% หุ้นแอมะซอน ร่วงลง 1.77% หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 2.71% หุ้นอัลฟาเฟท ดิ่งลง 1.99%

หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง หลังจากราคาน้ำมัน WTI ดิ่งลงกว่า 3% โดยหุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ร่วงลง 3.29% หุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ ร่วงลง 1.83% หุ้นเชฟรอน ลดลง 1.62% หุ้นเอ็กซอน โมบิล ดิ่งลง 2.91%

หุ้นอะโดบี (Adobe) ทรุดตัวลง 16.79% หลังจากอะโดบีประกาศซื้อกิจการฟิกม่า (Figma) เครื่องมือสำหรับออกแบบ UX (User Experience) และ UI (User Interface) ที่กำลังได้รับความสนใจในขณะนี้ ในวงเงินสูงถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มธนาคารดีดตัวขึ้นสวนทางตลาด เนื่องจากเป็นหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยหุ้นเจพีมอร์แกน พุ่งขึ้น 1.44% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ดีดขึ้น 1.24% หุ้นโกลด์แมน แซคส์ พุ่งขึ้น 1.33%

หุ้นกลุ่มธุรกิจทางรถไฟดีดตัวขึ้น โดยหุ้นหุ้นยูเนียน แปซิฟิก บวก 0.21% หุ้นนอร์ฟอล์ค เซาเทิร์น ขยับขึ้น 0.34% หลังจากคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับสหภาพแรงงาน ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงการประท้วงของคนงานและการปิดเส้นทางเดินรถไฟ

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 213,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยปรับตัวลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 แตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 226,000 ราย

นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐ

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 2,000 ราย สู่ระดับ 1.4 ล้านราย

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากลดลง 0.4% ในเดือนก.ค.

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดค้าปลีกทรงตัวในเดือนส.ค. หรือเพิ่มขึ้น 0.0%

ยอดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวลงของราคาพลังงาน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเพิ่มการใช้จ่าย

ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ทรงตัวในเดือนส.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก.ค.

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) สูงกว่าคาดในวันนี้

ทั้งนี้ เฟดสาขานิวยอร์ก รายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตดีดตัวขึ้นสู่ระดับ -1.5 ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -13.8 จากระดับ -31.3 ในเดือนส.ค.

ดัชนีภาคการผลิตได้รับปัจจัยหนุนจากการดีดตัวขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ภาคธุรกิจเพิ่มความเชื่อมั่นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ถึงการหดตัวของภาคการผลิตในนิวยอร์ก

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ร่วงลงสู่ระดับ -9.9 ในเดือนก.ย. จากระดับ +6.2 ในเดือนส.ค.

ดัชนีภาคการผลิตดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ +2.8

ดัชนีภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่

ดัชนีปรับตัวต่ำกว่าระดับ 0 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกอยู่ในภาวะหดตัว โดยหดตัวเป็นเดือนที่ 3 ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานในวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐลดลง 0.2% ในเดือนส.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.ค.

ทั้งนี้ ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน, เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค

การผลิตของภาคโรงงานเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนส.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าทรงตัว หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนก.ค.

ส่วนการผลิตในภาคเหมืองแร่ทรงตัวในเดือนส.ค. แต่ภาคสาธารณูปโภคดิ่งลง 2.3%

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากดีดตัวขึ้น 1.4% ในเดือนมิ.ย.

เมื่อเทียบรายปี สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจพุ่งขึ้น 18.4% ในเดือนก.ค.

สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าปลีกเพิ่มขึ้น 1.2% ส่วนสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเพิ่มขึ้น 0.6%

ยอดขายในภาคธุรกิจลดลง 0.9% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.2% ในเดือนมิ.ย.

นอกจากนี้ เจ้าของธุรกิจจะใช้เวลา 1.32 เดือนในการขายสินค้าจนหมดสต็อก เพิ่มขึ้นจาก 1.30 เดือนในมิ.ย.

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจ เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ขณะที่การลดลงของสต็อกสินค้าคงคลัง บ่งชี้ถึงความไม่เชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่อยอดขายในอนาคต

ธนาคารโลกออกรายงานเตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าใกล้ภาวะถดถอย เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกกำลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพร้อมกันเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ

รายงานเปิดเผยว่า เศรษฐกิจของสหรัฐ จีน และยูโรโซนได้ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง และเศรษฐกิจโลกอาจเผชิญภาวะถดถอยในปีหน้า

นอกจากนี้ รายงานระบุว่า ธนาคารกลางต่างๆจำเป็นจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2% เพื่อสกัดเงินเฟ้อให้อ่อนตัวลง นอกเหนือจากที่ปรับขึ้นแล้ว 2% ก่อนหน้านี้ ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นดังกล่าวท่ามกลางภาวะตึงตัวในตลาดการเงินจะฉุดให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลกลดลงสู่ระดับ 0.5% ในปี 2566 ขณะที่รายได้ต่อหัวจะหดตัวลง 0.4% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าเกณฑ์การเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิค

ธนาคารโลกเตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวหนักที่สุดหลังจากที่ฟื้นตัวขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยนับตั้งแต่ปี 2513 และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ดิ่งลงหนักกว่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะถดถอยก่อนหน้านี้

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันพฤหัสบดี (15 ก.ย.) โดยหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลงมากที่สุด ขณะที่นักลงทุนยังคงวิตกกับภาวะเงินเฟ้อที่ระดับสูง และแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 414.78 จุด ลดลง 2.73 จุด หรือ -0.65%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,157.84 จุด ลดลง 64.57 จุด หรือ -1.04%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,956.66 จุด ลดลง 71.34 จุด หรือ -0.55% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,282.07 จุด เพิ่มขึ้น 4.77 จุด หรือ +0.07%

ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลงต่อเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน โดยราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงจากความวิตกเกี่ยวกับอุปสงค์นั้นได้ฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง 2.1%

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ร่วง 1.8% และลากดัชนี STOXX 600 ลงมากที่สุด โดยนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มนี้ เนื่องจากคาดว่าภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงจะกดดันผลประกอบการในอนาคตของหุ้นกลุ่มนี้

ตลาดยังคงถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่ระดับสูงในสหรัฐ และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในสัปดาห์หน้า ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เช่นกันในเดือนนี้ และส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

แต่หุ้นกลุ่มธนาคารของยุโรป ปรับตัวขึ้น 1.7% สวนทางตลาด โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยมอร์แกน สแตนลีย์ ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยระบุว่าราคาหุ้นยังคงต่ำกว่ามูลค่า และผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัว

ส่วนหุ้นรายตัวที่ปรับตัวลง อาทิ หุ้นเอชแอนด์เอ็ม (H&M) ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายสินค้าแฟชั่นของสวีเดน ร่วงลง 4.7% หลังเปิดเผยยอดขายรายไตรมาสที่ต่ำกว่าคาด เนื่องจากผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลง ท่ามกลางภาวะราคาพลังงานและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น และเอชแอนด์เอ็มยังเผชิญกับความยากลำบากในการแข่งขันกับซาร่าซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งด้วย

เอชแอนด์เอ็ม (H&M) บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก เปิดเผยวันนี้ (15 ก.ย.) ว่า ยอดขายสุทธิช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค. เติบโตต่ำกว่าการคาดการณ์

ผลกำไรสุทธิในไตรมาส 3/65 ของเอชแอนด์เอ็มนั้นเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบรายปี แตะที่ 5.75 หมื่นล้านคราวน์ (5.36 พันล้านดอลลาร์) ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยเรฟินิทีฟ (Refinitiv) คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 5% แตะที่ 5.86 หมื่นล้านคราวน์

ทั้งนี้ เอชแอนด์เอ็มระบุผ่านแถลงการณ์ว่า ไตรมาสที่ 3/65 เริ่มต้นอย่างอ่อนแอ โดยสอดคล้องกับธุรกิจรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

สำนักงานสถิติของรัฐบาลเยอรมนี (FSO) เปิดเผยในวันนี้ (15 ก.ย.) ว่า ราคาขายส่งของเยอรมนีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนส.ค.เมื่อเทียบกับเดือนก.ค. โดยได้แรงหนุนจากราคาผลิตภัณฑ์นมและไขมันที่ปรับตัวสูงขึ้น

รายงานระบุว่า ราคาผลิตภัณฑ์นม ไข่ รวมถึงน้ำมันและไขมันสำหรับการบริโภคปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือนส.ค.เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่ ราคาเศษวัสดุและวัสดุเหลือใช้ปรับตัวลง 5.1% ส่วนแร่ โลหะ และผลิตภัณฑ์โลหะกึ่งสำเร็จรูปราคาลดลง 4.7%

เมื่อเทียบเป็นรายปี ราคาขายส่งของเยอรมนีเติบโตชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 18.9% ในเดือนส.ค.

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นในวันพฤหัสบดี (15 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยชดเชยการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,282.07 จุด เพิ่มขึ้น 4.77 จุด หรือ +0.07%

หุ้นกลุ่มธนาคาร พุ่งขึ้น 1.8% โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่ามีโอกาส 70% ที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 22 ก.ย.นี้

ขณะที่ข้อมูลที่เปิดเผยในวันพุธบ่งชี้ว่า เงินเฟ้อของอังกฤษลดลงเกินคาดในเดือนส.ค.นั้น ผลสำรวจของ BoE ระบุว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อของอังกฤษในช่วงปีหน้านั้นได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนที่ผ่านมา

บรรดานักลงทุนยังคงวิตกว่าการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารรายใหญ่ต่าง ๆ นั้น จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

หุ้นก่อสร้างบ้านดีดตัวขึ้น 3.7% หลังร่วงลงมากกว่า 3% ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา

หุ้นรายตัวที่บวกขึ้น อาทิ หุ้นโวดาโฟน พุ่งขึ้นราว 2% หลังสื่อรายงานว่า บริษัทเคเคอาร์ แอนด์ โค และบริษัทโกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ พาร์ตเนอร์ ได้แข่งขันกันเสนอซื้อหุ้นในบริษัทแวนเทจ ทาวเวอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโวดาโฟนที่ทำธุรกิจเสาส่งสัญญาณไร้สาย

ส่วนหุ้นพลังงาน อาทิ หุ้นเชลล์ ร่วงลง 1.1% เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับอุปสงค์

เชลล์ บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ประกาศแต่งตั้งนายวาเอล ซาวาน หัวหน้าฝ่ายธุรกิจก๊าซและพลังงานทดแทน ขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอของบริษัท แทนที่นายเบน ฟาน เบอร์เดน เพื่อมุ่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การประกาศแต่งตั้งดังกล่าวมีขึ้นในห้วงเวลาที่สำคัญของบริษัท ซึ่งตั้งเป้าปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แม้ว่าขณะนี้ยุโรปจะมองหาแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิมมาใช้เพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤตพลังงานที่เลวร้ายลงก็ตาม

นายซาวาน เชื้อสายเลบานอน-แคนาดา วัย 48 ปี จะเข้ามารับตำแหน่งแทนนายเบน ฟาน เบอร์เดน ซึ่งกำลังจะลาออกในปลายปีนี้ หลังจากที่เป็นซีอีโอมาเกือบทศวรรษ และทำงานให้เชลล์มาเกือบ 40 ปี

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของธนาคารเครดิตสวิสกล่าวว่า นายซาวานเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักลงทุน และคาดว่าการแต่งตั้งครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์ของบริษัทเพียงเล็กน้อย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังบักกิงแฮมระบุว่า พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 19 กันยายน เวลา 11.00 น.ตามเวลาอังกฤษ หรือ 17.00 น.ตามเวลาไทย

ขณะนี้ หีบพระบรมศพแห่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้ถูกประดิษฐานไว้ที่เวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์ และเมื่อถึงวันที่ 19 กันยายนจะมีพิธีอัญเชิญพระบรมศพไปประกอบรัฐพิธีที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นพิธีจะมีการเคลื่อนพระบรมศพเพื่อประกอบพิธีฝังที่โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จภายในปราสาทวินด์เซอร์

มีการคาดการณ์กันว่า ผู้นำและประมุขของชาติต่างๆราว 2,000 คนจะเดินทางเข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยผู้นำสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งประเทศต่างๆที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอังกฤษ ต่างก็ได้ตอบรับเทียบเชิญแล้ว ซึ่งจะทำให้พระราชพิธีพระบรมศพในครั้งนี้ถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของผู้นำโลกในรอบหลายปี

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (15 ก.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.07% แตะที่ระดับ 109.7400

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 143.47 เยน จากระดับ 143.15 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3224 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3177 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9607 ฟรังก์ จากระดับ 0.9632 ฟรังก์

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 0.9996 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9982 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1467 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1541 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6703 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6740 ดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 213,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยปรับตัวลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 แตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 226,000 ราย

ส่วนยอดค้าปลีกเดือนส.ค.ของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากลดลง 0.4% ในเดือนก.ค. โดยยอดค้าปลีกได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวลงของราคาพลังงาน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเพิ่มการใช้จ่าย

ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยข้อมูลล่าสุดจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%

ทั้งนี้ หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนก.ย. ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค.

นางซัตสึกิ คาตายามะ หัวหน้าคณะกรรมการวิจัยด้านการเงินของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของญี่ปุ่น เตือนว่า การที่ญี่ปุ่นพยายามเข้าแทรกแซงตลาดเพียงฝ่ายเดียวเพื่อยับยั้งไม่ให้สกุลเงินเยนอ่อนค่าลงนั้น จะได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นางคาตายามะเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวานนี้ (14 ก.ย.) ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำเป็นพิเศษของญี่ปุ่นก็เป็นเรื่องยากเช่นเดียวกัน เนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อเงินกู้ธนาคารของญี่ปุ่นที่มีมูลค่า 550 ล้านล้านเยน (3.84 ล้านล้านดอลลาร์)

ในทำนองเดียวกัน นายยูอิจิโร ทามากิ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของญี่ปุ่น ให้ความเห็นว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อเศรษฐกิจ และเรียกร้องให้มีการสนับสนุนทางการคลังมากขึ้น

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่องในสหรัฐและในประเทศอื่น ๆ บีบบังคับให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมากจนสกุลเงินประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกอ่อนค่าลงหนัก โดยเฉพาะเงินเยน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและญี่ปุ่นนั้นแตกต่างกันอย่างมาก

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงานว่า ญี่ปุ่นขาดดุลการค้ารายเดือนสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนส.ค. เนื่องจากนำเข้าเชื้อเพลิงราคาแพงเพิ่มขึ้นและเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจญี่ปุ่นต่อแรงกดดันด้านราคาจากต่างประเทศ

เมื่อวานนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ดำเนินการตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Rate Check) ด้วยการสอบถามทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในตลาดปริวรรตเงินตราเกี่ยวกับการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นสัญญาณล่วงหน้าที่บ่งชี้ว่าจะมีการเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราโดยตรง

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงดีดตัวขึ้นในวันนี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟด ยังคงปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 3.8% ในวันนี้ และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี

การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 3.823% หลังพุ่งแตะระดับ 3.834% เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2550 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 3.449% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 3.499%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้น หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%

หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนก.ย. ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค.

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 1,700 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี (15 ก.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยกดดันตลาด

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 31.8 ดอลลาร์ หรือ 1.86% ปิดที่ 1,677.3 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 30 เซนต์ หรือ 1.53% ปิดที่ 19.269 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 1.7 ดอลลาร์ หรือ 0.19% ปิดที่ 903.7 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 26.60 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 2,146.10 ดอลลาร์/ออนซ์

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 109.7400 เมื่อคืนนี้ ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่นๆ

ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พุ่งขึ้นเหนือระดับ 3.8% เมื่อคืนนี้ และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี ซึ่งการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3% ในวันพฤหัสบดี (15 ก.ย.) โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลที่ว่าการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางทั่วโลกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 3.38 ดอลลาร์ หรือ 3.8% ปิดที่ 85.10 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย.

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ดิ่งลง 3.26 ดอลลาร์ หรือ 3.5% ปิดที่ 90.84 ดอลลาร์/บาร์เรล

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 109.7400 เมื่อคืนนี้ ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่นๆ

นักลงทุนวิตกว่าการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และธนาคารกลางทั่วโลกซึ่งรวมถึงธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะทำให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอย และส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน

ข้อมูลล่าสุดจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%

นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังถูกแรงกดดันจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกออกรายงานเตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าใกล้ภาวะถดถอยเนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกพากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทางด้านสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เตือนว่า การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะหยุดชะงักลงในไตรมาส 4 โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน และกลุ่มประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

การนำเข้าน้ำมันดิบของเอเชีย ซึ่งเป็นทวีปที่นำเข้าน้ำมันดิบอันดับหนึ่งของโลก ยังคงมีแนวโน้มซบเซาแบบต่อเนื่องในเดือนก.ย. เนื่องจากอุปสงค์ที่ไม่แน่นอนท่ามกลางราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ รีฟินิทิฟ ออย รีเสิร์ช (Refinitiv Oil Research) คาดการณ์ว่า การนำเข้าน้ำมันดิบของเอเชียจะอยู่ที่ประมาณ 24.98 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนก.ย. ซึ่งใกล้เคียงกับระดับของเดือนส.ค.ที่ 24.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และระดับของเดือนก.ค.ที่ 24.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การนำเข้าน้ำมันของเอเชียซบเซา โดยรีฟินิทิฟคาดการณ์ว่า จีนจะนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 9.15 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนก.ย. ลดลงจากตัวเลขอย่างเป็นทางการของศุลกากรจีนในเดือนส.ค.ที่ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในจีนปรับตัวลดลงจากระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 9.03 หยวน (1.3 ดอลลาร์) ต่อลิตร ในกลางเดือนมิ.ย. แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง หากเทียบกับมาตรฐานที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 8.1 หยวนต่อลิตร

ด้านอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับสองของเอเชีย ยังคงรักษาราคาน้ำมันดีเซลให้ทรงตัวตลอดช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลพยายามจำกัดการขาดทุนให้กับโรงกลั่นน้ำมันของรัฐ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ของอินเดีย

ความคิดเห็นล่าสุด

กำลังโหลดบทความถัดไป...
การเปิดเผยความเสี่ยง: การซื้อขายตราสารทางการเงินและ/หรือเงินดิจิตอลจะมีความเสี่ยงสูงที่รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียจำนวนเงินลงทุนของคุณบางส่วนหรือทั้งหมดและอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุนทั้งหมด ราคาของเงินดิจิตอลแปรปรวนอย่างมากและอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเงิน กฎหมายกำกับดูแล หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง การซื้อขายด้วยมาร์จินทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ก่อนการตัดสินใจซื้อขายตราสารทางการเงินหรือเงินดิจิตอล คุณควรตระหนักดีถึงความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดการเงิน ควรพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และ การยอมรับความเสี่ยงและแสวงหาคำแนะนำทางวิชาชีพหากจำเป็น
Fusion Media อยากเตือนความจำคุณว่าข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ไม่ใช่แบบเรียลไทม์หรือเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป ข้อมูลและราคาที่แสดงไว้บนเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหรือตลาดหลักทรัพย์เสมอไปแต่อาจได้รับจากผู้ดูแลสภาพคล่องและดังนั้นราคาจึงอาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำและอาจแตกต่างจากราคาจริงในตลาดซึ่งหมายความว่าราคานี้เป็นเพียงราคาชี้นำและไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อขาย Fusion Media และผู้ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้จะไม่รับผิดชอบใด ๆ สำหรับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เป็นผลมาจากการซื้อขายของคุณหรือการพึ่งพาของคุณในข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้
ห้ามใช้ จัดเก็บ ทำซ้ำ แสดงผล ดัดแปลง ส่งผ่าน หรือ แจกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Fusion Media และ/หรือจากผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้
Fusion Media อาจได้รับผลตอบแทนจากผู้โฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของคุณที่มีกับโฆษณาหรือผู้โฆษณา
เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเอกสารฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นหลักซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่เหนือกว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อขัดแย้งไม่สอดคล้องตรงกันระหว่างเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย