สัปดาห์การลงทุนที่ผ่านมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดลงทุนในปี 2022 ดัชนีเอสแอนด์พี 500 และดาวโจนส์ยังคงปรับตัวลดลงตามแรงกดดันที่มีมาตลอดทั้งสัปดาห์ ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เข้าสู่แนวโน้มขาลงอย่างเป็นทางการ แต่ที่น่าสนใจและเป็นข่าวใหญ่โตมากที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้นสถานการณ์ของวงการสกุลเงินดิจิทัล ที่เรียกได้ว่ายืนอยู่บนขอบเหวแล้ว อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าถ้าโชคยังมี ยักลงทุนในตลาดอาจจะได้เห็นการรีบาวด์กลับขึ้นมาของราคาในระยะสั้น ที่อาจจะต่อลมหายใจของนักลงทุนไปได้อีกเล็กน้อย
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าตลอดระยะเวลา 11 สัปดาห์ล่าสุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ได้ปรับตัวลดลงมาแล้ว 10 จาก 11 สัปดาห์ การวิ่งลงมาทั้งหมด 24.5% จากจุดสูงสุดตลอดกาลในวันที่ 4 มกราคมได้ทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงมาแล้วทั้งสิ้น 24.5% เข้าสู่ตลาดหมีอย่างเป็นทางการตามที่นักลงทุนในตลาดได้นิยามเอาไว้ แล้วทำไมเราถึงเชื่อว่ากราฟอาจมีโอกาสดีดตัวกลับขึ้นได้เล็กน้อยในสัปดาห์หน้า? ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเทขายที่เกิดขึ้นก็กินเวลามานานพอสมควรแล้ว และเชื่อเถอะว่าต้องมีคนที่มองต่างเข้ามาสวนซื้อในจังหวะนี้ แม้แต่การวิเคราะห์ทางเทคนิคก็ยังเห็นด้วยกับความเป็นไปได้ของเรา
ในภาพรวมแล้ว ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ได้ปรับตัวลดลงมาเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า 5.1% และสัปดาห์ก่อนหน้านั้นอีก 5.75% ซึ่งทำให้การวิ่งลงมาตามเป้าหมายของรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) สำหรับนักลงทุนบางคนนั้นเสร็จสิ้นแล้ว นั่นจึงมีโอกาสให้ราคาปรับตัวขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ตาม เพราะราคาอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 สัปดาห์ 4.7% จึงยังมีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวลดลงไปต่อจนกระทั่งถึงแนวรับที่เส้นค่าเฉลี่ยสำคัญ เราจึงเชื่อว่าถ้าไม่ดีดตัวกลับขึ้นมาบ้างในสัปดาห์นี้ ราคาก็อาจจะลงยาวไปเลยจนกว่าจะถึงเส้นค่าเฉลี่ยแล้วค่อยดีดตัว
ขาลงที่เข้ามาปกคลุมตลาดลงทุนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทำให้ไม่มีหุ้นกลุ่มไหนจากทั้งหมด 11 ตัวของดัชนีเอสแอนด์พี 500 เลยที่สามารถปิดบวกได้ยกเว้นหุ้นกลุ่มพลังงานที่ยังคงได้รับอานิสงส์จากสงครามรัสเซียยูเครน นอกนั้นไม่ว่าจะเป็นหุ้นในกลุ่มสาธารณูปโภค สินค้าอุปโภคบริโภค ข้าวของเครื่องใช้จำเป็น ผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร และเทคโนโลยีต่างปิดติดลบเหมือนกันหมดทั้งสิ้น
อันที่จริง ก่อนที่เอสแอนด์พี 500 จะเข้าสู่ตลาดหมีอย่างเป็นทางการ ดัชนีอื่นอย่างเช่นแนสแด็ก 100 และรัสเซล 2000 ได้ล่วงหน้าเข้าสู่ตลาดหมีไปก่อนแล้ว ด้วยการปรับตัวลดลง 34.2% และ 32.25% ตามลำดับ
ภาพรวมทางเทคนิคของดัชนีแนสแด็ก 100 ไม่ต่างจากเอสแอนด์พีมากเท่าไหร่ ราคาได้ลงมาถึงระดับเป้าหมายของรูปแบบหัวไหล่แล้ว และอยู่ห่างจากเส้นค่าเฉลี่ย 200 สัปดาห์ประมาณ 4% แต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมากลับสามารถวิ่งขึ้นมาจากจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายนได้
ตอนนี้ดัชนีดาวโจนส์เป็นดัชนีเดียวที่ยังไม่เข้าสู่แนวโน้มขาลงอย่างเป็นทางการ แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ในสัปดาห์นี้หากราคายังคงปรับตัวลดลงต่อ จากการวิเคราะห์ทางเทคนิค ความน่ากังวลของดัชนีดาวโจนส์คือราคาได้หลุดระดับแนวรับสำคัญที่ 30000 จุดลงมาแล้ว และยังหลุดลงมาวิ่งต่ำกว่ากรอบราคาขาลงด้วย แต่ถึงแม้ว่าจะปรับตัวลดลงมา 19.7% จากจุดสูงสุดตลอดกาลในวันที่ 5 มกราคม แต่เมื่อวันศุกร์ก็สามารถปรับตัวขึ้น 1% จากเส้นค่าเฉลี่ย 200 สัปดาห์ และปิดสูงกว่าเส้นค่าเฉลี่ยนั้นได้ 2%
ดัชนีที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดตามอันดับหนึ่งอย่างแนสแด็ก 100 คือดัชนีรัสเซล 2000 ตอนนี้หุ้นของบริษัทในสหรัฐอเมริกากำลังเสียเปรียบหุ้นของบริษัทต่างชาติที่ยังมีโอกาสทำกำไรได้อยู่เนื่องจากธนาคารกลางในประเทศอื่นๆ นั้นยังไม่กล้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย เมื่อเทียบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีแผนจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี หากนับจากจุดสูงสุดตลอดกาลเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนของดัชนีรัสเซล 2000 ตอนนี้ราคาได้ปรับตัวลดลงมามากถึง 32.35% และรัสเซล 2000 เป็นดัชนีเดียวที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 สัปดาห์
มาตรการทางการเงินที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กำลังดำเนินการนั้นส่งผลต่อตลาดทุนอย่างมหาศาล ความเก็บกดนี้ทำให้ดัชนีแนสแด็ก 100 และรัสเซล 2000 ดีดตัวกลับขึ้นมาบ้างเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และนั่นจึงทำให้เราเชื่อว่าสัปดาห์นี้ก็อาจจะได้เห็นเช่นนั้นในดัชนีดาวโจนส์และเอสแอนด์พี 500 แต่ในระยะยาว ตลา่ดหุ้นในตอนนี้ก็คงต้องจมอยู่ในตลาดหมีไปอีกอย่างน้อยครึ่งปี ตราบใดที่เฟดยังคงมุ่งมั่นที่จะขึ้ันอัตราดอกเบี้ยไม่หยุดเพื่อหยุดเงินเฟ้อ อย่างที่พวกเขาได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 0.75% มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
หากจะให้กล่าวโดยสรุปก็คือ นักลงทุนบางคนพึ่งจะได้ชื่อว่าเป็นนักลงทุนในช่วงที่โรคระบาดโควิดพึ่งเริ่มต้น และรัฐบาลสหรัฐฯ ได้พิมพ์เงินออกมามหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นักลงทุนรุ่นใหม่เหล่านั้น ได้นำเงินที่ได้มาฟรีๆ ไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงหลายๆ ประเภทเช่นหุ้น ทองคำ คริปโตฯ พวกเขาเหล่านั้นอาจจะไม่เคยต้องลงทุนภายใต้สถานการณ์ตลาดขาลง เพราะฉะนั้น ตอนนี้ถึงเวลาต้องยอมรับความจริงแล้วว่า….
“โลกเปลี่ยนไปแล้ว และเทรนด์ในตลาดลงทุนก็เช่นกัน…”
กราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับตัวสูงขึ้น จนสามารถแตะจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2010 ได้ แม้จะย่อตัวลดลงมา แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2018 อย่างไรก็ตาม ขาลงครั้งนี้ก่อให้เกิดรูปแบบดาวตก (Shooting Star) เกิดขึ้น ถ้าหากสัปดาห์นี้ กราฟอัตราผลตอบแทนสามารถปรับตัวลดลงมาได้เพราะรูปแบบดาวตก นั่นจะช่วยคลายแรงกดดันในตลาดหุ้นด้วย และจะส่งผลให้ตลาดหุ้นจะสามารถดีดตัวกลับขึ้นมาได้ในระยะสั้น ตามที่คุยกันไว้ก่อนหน้านี้
อีกจุดหนึ่งที่น่าสังเกตจากการวิเคราะห์ทางเทคนิคคือเส้นค่าเฉลี่ย 50 สัปดาห์สามารถตัดเส้นค่าเฉลี่ย 200 สัปดาห์ขึ้นมาได้แล้ว นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2017 สอดคล้องกันกับแนวโน้มขาลงในตลาดหุ้น ในขณะเดียวกัน เมื่อไม่มีใครกล้าลงทุนในตลาดหุ้น ที่ที่เงินจะไปอยู่ได้ก็คือในดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้ดัชนีดอลลาร์ปรับตัวขึ้นสามสัปดาห์ติดต่อกัน สู่จุดสูงสุดในรอบสัปดาห์นับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2002
แน่นอนว่าเมื่อดอลลาร์ขึ้น ทองคำก็ได้ปรับตัวลดลง จบขาขึ้นสองวันติดต่อกันก่อนหน้านั้นไปเรียบร้อย การปรับตัวลดลงครั้งนี้ได้ทำให้ราคาทองคำกลับลงมาวิ่งต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันอีกครั้ง นอกจากเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันก็ได้ตัดลงไปวิ่งต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 100 วันเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ ราคาทองคำยังวิ่งอยู่เหนือเส้นเทรนด์ไลน์ขาขึ้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2021 และเส้นเทรนด์ไลน์ขาลงที่ลากมาตั้งแต่จุดสูงสุดในเดือนมีนาคมปี 2022 ในอนาคตอันใกล้ มีโอกาสที่ราคาจะต้องเลือกวิ่งไป ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
มาถึงไฮไลท์ประจำสัปดาห์ที่แล้วของตลาดลงทุนทั่วโลก และเชื่อว่าในสัปดาห์สถานการณ์ของบิทคอยน์ก็จะยังคงอยู่ในกระแสต่อไป หลังจากหลุดแนวรับ $20,000 เมื่อวันเสาร์ ลงไปสร้างจุดต่ำสุดใหม่ที่อยู่ต่ำกว่า $18,000
การปรับตัวลดลงต่ำกว่า $20,000 ของบิทคอยน์ในครั้งนี้ถือว่าหักปากกาเซียนของนักวิเคราะห์ และเหล่าสาวกที่เชื่อว่าบิทคอยน์ไม่มีวันลงมาวิ่งต่ำกว่าจุดสูงสุดของขาขึ้นในรอบก่อนหน้า ที่สำคัญการหลุด $20,000 ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ราคาบิทคอยน์ลงมาวิ่งต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 สัปดาห์ ซึ่งนับตั้งแต่มีการบันทึกราคาบิทคอยน์มา ไม่เคยเลยสักครั้งที่บิทคอยน์จะหลุดแนวรับนี้ลงมาได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงเชื่อว่ามีโอกาสที่บิทคอยน์จะลงไปวิ่งต่ำกว่า $10,000 ได้ในรอบนี้
สุดท้าย ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงไปยัง $110 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงเมื่อวันศุกร์มากถึง 6% สาเหตุที่ราคาน้ำมันลงมามากขนาดนั้นได้เพราะความกังวลของนักลงทุน ที่มีต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดว่าจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และเมื่อเกิดภาวะถดถอย ความต้องการพลังงานจะลดลง
การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันเมื่อวันศุกร์ ทำลายขาขึ้นที่ทำมาตลอดห้าสัปดาห์ติดต่อกัน และยังก่อให้เกิดรูปแบบดาวตก (Evening Star) ด้วย ขาลงครั้งนี้อาจจะกลับไปทดสอบสามเหลี่ยมที่หลุดขึ้นมาก่อนหน้านี้ หรืออาจจะทำให้เกิดรูปแบบ double-top ก็เป็นได้
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันอาทิตย์
21:15 (ประเทศจีน) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารกลาง: ครั้งที่แล้วออกมาอยู่ที่ 3.70%
วันจันทร์
11:00 (ยูโรโซน) ถ้อยแถลงของคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB
21:30 (ออสเตรเลีย) การประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง
วันอังคาร
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีกพื้นฐาน: คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 2.4% เป็น 0.6%
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยมือสอง: คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 5.61M เป็น 5.39M
วันพุธ
02:00 (สหราชอาณาจักร) ดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่าจะปรับตัวขึ้นจาก 9.0% เป็น 9.1%
08:30 (แคนาดา) ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน: คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 0.7% เป็น 0.4% MoM
10:00 (สหรัฐฯ) ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาสูง
วันพฤหัสบดี
03:30 (เยอรมัน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะลดลงจาก 54.8 เป็น 54.0
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะคงที่ 54.6
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการบริการ: คาดว่าจะคงที่ 51.8
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 229K เป็น 225K
11:00 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: ครั้งก่อนออกมาอยู่ที่ 1.956 ล้านบาร์เรล
วันศุกร์
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีก: คาดว่าจะลดลงจาก 1.4% เป็น -0.9% MoM
04:00 (เยอรมัน) ดัชนีวัดความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดย Ifo: คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 93.0 เป็น 92.9
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่: คาดว่าจะออกมาลดลงจาก 591K เป็น 585K