เรียกได้ว่ากลับลำแทบไม่ทันเลยทีเดียวสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย ที่ก่อนหน้านี้เคยคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือถ้าทำก็อาจจะเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หลังจากได้เห็นตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อเมื่อสัปดาห์ที่แล้วออกมา 8.6% YoY พวกเขาก็รีบเปลี่ยนคาดการณ์เป็นเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมกลางสัปดาห์นี้ และจะขึ้นอีก 0.50% ในการประชุมเดือนกรกฎาคม
ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคจากกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่แล้วเปิดเผยว่า ราคาผู้บริโภคแบบเดือนต่อเดือนปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% ซึ่งถ้าคิดเป็นปีก็ 12% ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานก็ได้ปรับตัวขึ้น 6% YoY และ 0.6% แบบ MoM ตัวเลขที่น่ากลัวเช่นนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ไปจนถึงเดือนกันยายน บางคนถึงกับพูดถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% แล้ว ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้เฟดจะออกมาบอกว่าไม่มีทางที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึงขนาดนั้น
การที่อัตราเงินเฟ้อกลับมาทะยานสูงขึ้นยิ่งกว่าเดิมทำให้ความสนใจของนักลงทุนหันมาอยู่ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เพราะหน้าที่หลักของพวกเขาคือการปกป้องเศรษฐกิจจากภาวะเงินเฟ้อ แม้ว่าก่อนหน้านี้นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดและนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเหมือนจะยอมรับแบบอ้อมๆ แล้วว่าประเมินเงินเฟ้อผิดไป แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เงินเฟ้อหยุดเติบโตแต่อย่างใด
เมื่อคำตอบจากคนที่เป็นผู้ปกป้องออกมาเป็นเช่นนี้ คำถามมากมายที่ตามมาจึงมีไม่หยุดหย่อน ส่วนใหญ่แล้วล้วนแต่เป็นคำถามที่เกี่ยวกับความเชื่อมั่นที่มีต่อทั้งสองคน และสองหน่วยงานนี้ว่าแผนใดๆ ในอนาคตจะสามารถยับยั้งการเติบโตของเงินเฟ้อได้จริงหรือ Mohamed El-Erian หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจของ Allianz และอดีต CEO ของ PIMCO กล่าวเมื่อวานนี้ว่า
“เงินเฟ้อที่ชาวอเมริกันต้องเผชิญในตอนนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้เห็นๆ ถ้าเฟดยอมรับความจริง และเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้่ยตั้งแต่กลางๆ ปีที่แล้ว”
ณ จุดๆ นี้ หากจะใช้คำว่าสถานการณ์ของเฟดเข้าขั้น “งานหยาบ” แล้วก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะนอกจากต้องเร่งแก้ไขในความผิดพลาดของตัวเอง พวกเขายังต้องรีบกู้เครดิตและชื่อเสียงของตนกลับมา การอยู่ภายใต้บรรยากาศที่ทุกคนมีความเชื่อว่าเงินเฟ้อจะอยู่ไปอีกนานไม่ใช่สิ่งที่ดี และถ้าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้น จะมีคนอีกนับล้านที่ต้องตกงาน และสัญญาณนั้นก็เริ่มปรากฎให้เห็นกับบริษัทชื่อดังบางแห่งแล้ว
รายงานข้อมูลตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 2 จากเฟดสาขาแอตแลนต้าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วออกมาอยู่ที่ 0.9% ลดลงจาก 1.3% YoY ชี้ให้เห็นว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 อาจชะลอตัว หมายความว่าอย่างไร? ตามตำราเศรษฐศาสตร์แล้ว นี่คือหนึ่งในอาการของสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ต่อให้ไม่เกิดภาวะถดถอย หรือเกิดแบบอ่อนๆ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็เชื่อว่าตอนนี้อเมริกาได้เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน (Stagflation) เรียบร้อยแล้ว และเราอาจจะต้องอยู่ภาวะที่เงินเฟ้อสูงแต่อัตราการเติบโตต่ำอย่างนี้ไปอีกอย่างน้อยสองปี
ในขณะเดียวกัน ก็มีข่าวทำนองว่าทำเนียบขาวกำลังเริ่มพูดถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในแง่ของการมีสถานะที่เป็นอิสระถือเป็นภัยต่อเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่งในมุมมองของนักลงทุนเอง พวกเขาก็กำลังเถียงกันว่าเจอโรม พาวเวลล์ และทีมงานชุดนี้ของเขาล้มเหลวในการควบคุมเงินเฟ้อหรือไม่
ประธาน ECB กับการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน
ข้ามไปที่ฝั่งยุโรปกันบ้าง นางคริสตีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจะต้องกลืนน้ำลายตัวเอง เมื่อยุโรปก็ต้องเจอกับแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากเช่นกัน ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.1% YoY เลนกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2% ไปไกลเช่นกัน
ปีเตอร์ เพรต (Peter Praet) อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรปให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ถึงแนวทางของ ECB ที่จะทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมว่า
“สิ่งที่ทำให้เขาหงุดหงิดคือการสื่อสารของประธาน ECB คนปัจจุบันที่ไม่เหมือนกับเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน ถ้าเธอจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ขึ้นไปเลย ไม่ต้องมาลีลา ความลังเลจะทำให้ตลาดเกิดความไม่มั่นใจ ซึ่งสั่นคลอนเสถียรภาพได้ง่ายมากในช่วงเวลาแบบนี้”
ในบล็อกของคริสตีน ลาการ์ดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม เธอกล่าวถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่าต้องค่อยเป็นค่อยไปเพราะระดับอุปสงค์ในยูโรโซนมีมากเกินไป แต่สัปดาห์หลังจากนั้น ลาการ์ดก็กลับลำ เปลี่ยนเป็นขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนกรกฎาคม และอีก 0.25% ในเดือนกันยายน ส่วน 0.50% รอพิจารณาตามสถานการณ์
ปีเตอร์ยังกล่าวอีกว่าคำพูดของลาการ์ดไม่อธิบายให้ชัดเจนว่า ECB จะทำอย่างไรหากช่องว่างระหว่างพันธบัตรระยะสั้นและยาวห่างกันมากขึ้น ทั้งในยามที่เศรษฐกิจดีและไม่ดี เช่นนี้แล้วความมั่นใจของนักลงทุนในสกุลเงินยูโรจะยิ่งมีน้อยลง