ระดับราคาน้ำมันที่สูงกว่าที่เคยเป็นมาในรอบเจ็ดปี แม้จะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภค แต่ในมุมมองของผู้ผลิตแล้วถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับบริษัทน้ำมัน และการขยายตัวของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม เราเห็นสิ่งผิดปกติในประเด็นนี้
ด้วยราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น การสำรวจและการผลิต (E&P) ก็ควรที่เพิ่มมากขึ้นตาม แต่นั่นกลับไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น จากข้อมูลของ Amrita Sen นักวิเคราะห์ในบริษัทด้านพลังงานเผยว่า อุตสาหกรรมพลังงานต้องการ "การลงทุนอย่างน้อย 520 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี" เพื่อให้การผลิตทั่วโลกอยู่ในระดับ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการวิเคราะห์ของเธอ อุตสาหกรรมในตอนนี้มีการลงทุนเพียง 370 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น
เหตุใดเราจึงไม่เห็นการลงทุนเพิ่ม และการขาดแคลน E&P นี้มีความหมายต่อตลาดในระยะยาวอย่างไร?
อะไรคือปัจจัยฉุดรั้งระดับการสำรวจและการผลิตน้ำมัน?
กำลังการผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาปัจจุบันอยู่ที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าระดับการผลิตในเดือนมกราคม 2020 แม้ว่าราคาจะสูงขึ้นอย่างน้อย 35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และดึงดูดผู้ผลิตมากขึ้น เมื่อมาดูที่จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน พบว่ายังอยู่ที่ประมาณ 500 แท่น เทียบกับแท่นขุดเจาะน้ำมันเกือบ 700 แห่งที่เปิดทำการก่อนเกิดโรคระบาด สิ่งนี้บ่งชี้ว่ากำลังการผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักทั้งๆ ที่มีโอกาสทำกำไรได้มากกว่า
ตัวชี้วัดอย่างเช่นผลสำรวจจากธนาคารกลางแห่งดัลลัส และอื่นๆ บอกเราว่าผู้ผลิตในสหรัฐฯ มีความกังวลเกี่ยวกับการลงทุนในการผลิต ด้วยเหตุผลหลายประการ เหตุผลบางอย่างเหล่านี้เป็นปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะในสหรัฐฯ แต่บางปัญหาก็ส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตอื่นๆ นอกชายฝั่งของสหรัฐอเมริกาด้วย
1. ความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐ
กฎระเบียบของรัฐบาลกลางที่ควบคุมการผลิตน้ำมันและก๊าซนั้นไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎที่ควบคุมการปล่อยมลพิษ ความชัดเจนของการอนุญาต และการเช่าซื้อ แม้จะมีศักยภาพในการสร้างผลกำไรในระยะสั้น แต่ผู้ผลิตในสหรัฐฯ ยังคงวิตกกังวลว่านโยบายของรัฐบาลจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนที่พวกเขาที่พวกเขามีอยู่ในตอนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในโครงการระยะยาว
2. เหล่านายทุนไม่กล้าตัดสินใจ
เมื่อนโยบายภาครัฐไม่ชัดเจน ธนาคารและนักลงทุนก็ไม่มั่นใจในอนาคตเช่นเดียวกัน ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากนักเคลื่อนไหว เกี่ยวกับการลงทุนขนาดใหญ่ในบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเผชิญกับแรงกดดันให้ยกเลิกการทำกิจการเกี่ยวกับพลังงานไปเลย แรงกดดันและความไม่แน่นอนเหล่านี้ลดแรงจูงใจในการรับความเสี่ยงที่จะทำธุรกิจในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
3. ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม
ด้วยความไม่แน่นอนมากมาย ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซจึงระมัดระวังที่จะดำเนินนโยบายให้ไม่ขัดกับสิ่งที่ขบวนการนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องการน้อยที่สุด ซึ่งสิ่งนี้รวมถึงความสามารถในการขยายและเพิ่มงบประมาณให้กับ E&P ประเด็นเหล่านี้ละเอียดอ่อนเป็นพิเศษในยุโรป ที่นโยบายของรัฐบาลกีดกันผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากการมีส่วนร่วมในการสำรวจและผลิตใหม่ บริษัทหลายแห่ง เช่น BP (NYSE:BP) ยังคงทุ่มเงินและลงทุนในโครงการที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าการขายและการกลั่นน้ำมันดิบยังคงเป็นแหล่งรายได้และกำไรที่ใหญ่ที่สุด และราคาน้ำมันจะสูงมากก็ตาม
4. ราคาหุ้น
บริษัทน้ำมันยังคงพอใจกับราคาหุ้นสูงในระยะสั้น นับตั้งแต่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในปี 2014 ผู้ผลิตน้ำมันก็ได้ลดงบประมาณของ E&P ลง พวกเขาลดการลงทุนเพื่อปกป้องราคาหุ้นของตนเอง เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นอีกครั้ง ผู้ผลิตสามารถนำรายได้กลับมาลงทุนใน E&P (พร้อมสิทธิประโยชน์ทางบัญชีและการลดหย่อนภาษี) หรืออาจใช้ผลกำไรเพื่อหนุนราคาหุ้นผ่านเงินปันผลและรายงานตัวเลขผลประกอบการที่ออกมาดีเยี่ยม เพื่อให้การลงทุนกับ E&P ไม่สูงจนเกินรับได้ ผู้ประกอบการในวงการนี้ส่วนใหญ่เลือกอย่างหลัง เนื่องจากปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ มีโอกาสที่จะได้ราคาหุ้นและเงินปันผลสูง (ไม่ใช่เฉพาะผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่เลือกดำเนินนโยบายเช่นนี้)
ระดับการสำรวจและผลิตต่ำมีความหมายอย่างไรกับอุตสาหกรรมและตลาดลงทุน
สำหรับตลาดลงทุน ระดับการผลิตในอนาคตระยะสั้นที่ยังไม่เพิ่มขึ้นจะเป็นการลดความกังวลในแง่ของอุปทานส่วนเกิน แต่หลังจากนั้น ในระยะยาว (หลายปีต่อจากนี้) เราอาจเห็นการขาดแคลนอุปทานที่สำคัญหากผู้ผลิตไม่เริ่มลงทุนใน E&P เพิ่มในเร็วๆ นี้
สำหรับอุตสาหกรรมผู้ผลิตพลังงาน การลงทุนใน E&P อย่างจำกัดหมายความว่าราคาของหุ้นส่วนใหญ่จะสูงตราบเท่าที่ราคาน้ำมันยังสูง แต่หากทำเช่นนี้ต่อไป ผู้ผลิตจำนวนมากจะต้องประสบปัญหาในระยะยาว หากพวกเขาไม่กระตือรือร้นหาวิธีการผลิตพลังงาน ในอนาคต ผู้ผลิตพลังงานที่ลงทุนใน E&P หรือที่สามารถซื้อสินทรัพย์ ที่พร้อมสำหรับการผลิตได้ จะมีความได้เปรียบมากกว่าผู้ผลิตที่ไม่ได้เตรียมตัวในเรื่องนี้