ตลาดสกุลเงินปรับตัวขึ้นอย่างสังเกตได้โดยเฉพาะสกุลเงินยูโร ที่ทะยานขึ้นมากกว่าหลักเซนต์หลังทราบผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) กราฟ EUR/USD ได้แรงสนับสนุนขาขึ้น ในช่วงเวลาที่รายงานผลประกอบการของบริษัทเฟซบุ๊กทำหุ้นร่วงลงเป็นอย่างมาก และ BoE กังวลผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในยุโรป ที่จะส่งผลกระทบมาถึงสหราชอาณาจักร นอกจากขาขึ้นของ EUR/USD ยังมีตลาดอื่นๆ ที่ปรับตัวขึ้นตามในลักษณะที่คล้ายกันเช่นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลฯ EUR/JPY และ NZD/JPY สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะหากทั่วโลกปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัว จะทำให้อัตราผลตอบแทนฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น
คำตอบสำหรับคำถามที่ว่าทำไมสกุลเงินปอนด์ถึงนิ่งเฉยหลังจากทราบผลการประชุมอัตราดอกเบี้ย ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เพราะนักลงทุนคาดการณ์ผลการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษไว้ก่อนแล้ว ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปตัดสินใจคงนโยบายการเงินของตัวเองเอาไว้ดังเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร อย่างไรก็ตามตัวเลข 0.25% ที่ออกมาถือว่าน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์บางกลุ่มคาดการณ์ (0.50%) ถึงจะเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสองครั้งติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2004 แต่ตัวเลขที่ออกมาก็ถือว่าไม่เป็นไปตามคาดสำหรับนักลงทุนบางกลุ่ม
ในการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษเมื่อวานนี้ ผู้มีสิทธิ์วางนโยบายการเงิน 4 จาก 9 คนลงความเห็นว่าควรขยับทำมาตรการทางการเงินให้ตึงตัวมากกว่านี้ ในขณะที่อีก 5 คน (ซึ่งรวมถึงผู้ว่าการ BoE นายแอนดรูว์ ไบลีย์) มองว่าเพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจยังอ่อนแรง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจทำให้ได้ผลกระทบเชิงลบอย่างเช่นการเติบโตหยุดชะงักมาแทน นอกจากนี้ BoE ยังประกาศด้วยว่าจะมีการลดขนาดของการถือครองพันธบัตรรัฐบาล สรุปแล้วในความเห็นของนักวิเคราะห์ พวกเขายังเชื่อว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก BoE จะยังเกิดขึ้นอีกในอนาคตแน่นอน
นักลงทุนไม่ควรดูถูกแรงหนุนขาขึ้นครั้งนี้ของกราฟ EUR/USD ขาขึ้นรูปตัววี (V-Shape) เช่นนี้มีโอกาสส่งราคาให้ขึ้นทดสอบระดับราคา 1.15 หรืออาจจะหลุดแนวต้านนี้ขึ้นไปเลยก็เป็นได้ สิ่งที่นักวิเคราะห์หวังจากยูโรโซนในตอนนี้คือต้องการให้ ECB สัมผัสได้ถึงราคาสินค้าที่แพงขึ้น และควรมีการชี้แจงรายละเอียดนโยบายการเงินที่นางคริสตีน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวเป็นนัยว่าอาจจะทำให้ตึงตัวมากขึ้น เพราะเธอเป็นคนกล่าวเองว่านโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นของ ECB ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับธนาคารกลางสหรัฐ
“ปัญหาเงินเฟ้ออาจจะอยู่คู่กับชาวยุโรปยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนธันวาคม ภาพรวมเงินเฟ้อมีโอกาสจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะสั้นๆ ดังนั้นเราจึงเห็นสมควรว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินบางมาตรการอย่างจริงจัง”
อย่างไรก็ตาม คริสตีน ลาการ์ด ไม่ได้เอ่ยถึงจำนวนครั้งที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเท่าไหร่ อ้างอิงข้อมูลจาก ECB การขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในสิ้นปี 2022 ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในการพิจารณา ดังนั้นถึงแม้ว่า ECB จะคงนโยบายการเงินเอาไว้ดังเดิม และไม่ได้พูดถึงรายละเอียดการเปลี่ยนนโยบายการเงินมากนัก แต่การบอกใบ้เพียงเล็กน้อยก็สามารถเพิ่มความต้องการถือครองสกุลเงินยูโรได้ ตอนนี้ตลาดเริ่มคาดการณ์แล้วว่ามีความเป็นไปได้ที่ ECB จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ภายในเดือนธันวาคมปี 2022
เนื่องจากวันนี้เป็นวันศุกร์แรกของเดือนใหม่ จึงเป็นธรรมเนียมของตลาดลงทุน ที่วันนี้จะมีรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ถึงกราฟ USD/JPY และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯ จะปรับตัวขึ้น แต่เทรดเดอร์ก็ควรระวังความผันผวนของกราฟ จากรายงานตัวเลขตลาดแรงงานทั้งสองประเทศเอาไว้ให้ดี
ภาพรวมล่าสุดของตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ปรากฎว่าตัวเลขดัชนี PMI ภาคบริการจาก ISM ในเดือนมกราคมหดตัวลดลงจาก 54.7 เป็น 52.3 จุด การชะลอตัวในภาคบริการถือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมาจากอัตราการเติบโตของการจ้างงานที่ลดลง ตัวเลขดังกล่าวออกมาน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม นอกจากนี้เศรษฐกิจอเมริกาเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวจากตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่ภาคเอกชน (ADP) เป็นผู้คำนวณลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2004
ความสอดคล้องกันของตัวเลขเศรษฐกิจเกิดขึ้นเมื่อตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นมากกว่าเดือนธันวาคม รายงานตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจามหาลัยมิชิแกนลดลงสู่จุดต่ำสุดในรอบศตวรรษ จริงอยู่ว่าตัวเลขการจ้างงานในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรวมลดลง แต่นั่นก็ยังไม่พอที่จะลดความเสี่ยงของเศรษฐกิจอเมริกาที่กำลังหดตัวลงได้
ดังนั้น วันนี้นักเศรษฐศาสตร์จึงจะให้ความสำคัญกับการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ของเดือนมกราคม ที่คาดว่าจะลดลงจาก 199,000 ตำแหน่งเหลือ 150,000 ตำแหน่ง ถึงแม้ว่าตัวเลขในวันนี้อาจจะไม่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เปลี่ยนใจ คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเอาไว้ดังเดิมได้ แต่ถ้าตัวเลขลดลง จะยิ่งทำให้ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
เหตุผลสนับสนุนให้ตัวเลขนอนฟาร์มในวันนี้ลดลง
1.) ตัวเลขการจ้างงานในภาคบริการจาก ISM ลดลง
2.) ตัวเลขการจ้างงานฯ จากภาคเอกชน (ADP) ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ธันวาคม 2004
3.) ตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้น
4.) ตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากมหาลัยมิชิแกนร่วงลงสู่จุดต่ำสุดในรอบศตวรรษ
5.) ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลง
เหตุผลสนับสนุนให้ตัวเลขนอนฟาร์มในวันนี้เพิ่มขึ้น
1.) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในภาพรวมยังถือว่าลดลง
2.) ตัวเลขการจ้างงานในภาคการผลิตของ ISM เพิ่มขึ้น
3.) รายงานตัวเลขการถูกเลิกจ้างจาก Challenger คงที่
สำหรับแคนาดา นักวิเคราะห์คาดว่าอัตราการจ้างงานในแคนาดาก็จะลดลงตามสหรัฐฯ ด้วย ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ตลาดแรงงานของแคนาดาถือว่าปรับตัวขึ้นมาตลอดอย่างต่อเนื่อง แต่เพราะความกลัวที่มีต่อโอมิครอน และการนำมาตรการควบคุมทางสังคมมาใช้ใหม่ จะทำให้ตัวเลขการจ้างงานลดลงเป็นเดือนแรก นับตั้งแต่เดือนพฤศภาคมปี 2021