รายงานผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในช่วงกลางเดือนธันวาคมแสดงให้เห็นว่าผู้มีสิทธิ์วางนโยบายการเงินมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อนโยบายการเงินมากขึ้น การยอมรับว่าเงินเฟ้อมีอยู่จริง และเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขนำไปสู่การเทขายในตลาดหุ้นนับตั้งแต่ช่วงปีใหม่มาจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลจากรายงานผลการประชุมระบุว่าธนาคารกลาวสหรัฐฯ ไม่เพียงต้องการสิ้นสุดการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ให้เร็วที่สุดเท่านั้น แต่ยังต้องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และปรับบัญชีงบดุลของธนาคารกลางฯ ให้มีความตึงตัวมากยิ่งขึ้น
ความต้องการเปลี่ยนนโยบายการเงินที่รวดเร็วเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นการเทขายเกิดขึ้นในตลาดหุ้นและพันธบัตร ถึงแม้ว่านักวิเคราะห์บางคนจะมองว่าตลาดลงทุนเป็นกระต่ายตื่นตูมมากเกินไป แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือช่วงเวลาหรรษาของปาร์ตี้ขาขึ้นได้จบลงแล้ว แลร์รี่ ซัมเมอร์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า
“ตลาดลงทุนประเมินอำนาจที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีเพื่อควบคุมเงินเฟ้อต่ำเกินไป และในขณะเดียวกันทั้งเฟดและนักลงทุนเองก็ยังไม่รู้ตัวว่าตอนนี้ทั้งสองฝ่ายควรร่วมมือกันอย่างไรเพื่อจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อ การตัดสินใจของทั้งสองฝ่ายที่จริงแล้วสามารถช่วยให้ดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐปล่อยกู้เงินสำรองให้ซึ่งกันและกัน (Fed Fund Rate) ขึ้นไม่เกิน 2.5% ได้”
ซัมเมอร์ได้เน้นย้ำถึงภาพรวมการลงทุนในปี 2022 ว่าอาจจะเปราะบางมากกว่าที่นักลงทุนจะตระหนักได้ ความท้าทายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปีนี้คือจะทำให้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้นอยู่ในระดับเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม เพราะตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) เมื่อวันศุกร์ที่แล้วก็ชัดเจนว่าถึงการว่างงานจะลดลง แต่การจ้างงานก็ไม่เพิ่ม ประเด็นนี้จะยิ่งส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นได้ต่อไป
เรย์ ดาลิโอ นักเศรษฐศาสตร์และเจ้าของหนังสือชื่อดัง Principles ตั้งข้อสงสัยในความสามารถของเฟดที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชดเชยปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ในการให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า
“การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองมีส่วนกับการจำกัดขอบเขตอำนาจของสิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะสามารถทำได้ ด้วยปริมาณสภาพคล่องที่มีสูง ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบไปได้ ผมไม่เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะสามารถวางนโยบายที่สามารถไล่ต้อนเงินเฟ้อได้ทัน และไม่สามารถทำให้ดอลลาร์กับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กลายเป็นตัวเลือกการลงทุนที่น่าดึงดูดได้อีก”
หลังจากที่พักผ่อนในช่วงวันหยุดปีใหม่กันมาอย่างเต็มที่ ในสัปดาห์นี้บรรยากาศการลงทุนจะเริ่มจริงจังมากขึ้นด้วยถ้อยแถลงของบุคคลากรในธนาคารกลางสหรัฐฯ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดจะต้องแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารและการคลังในวันนี้ เพื่อฟังคำรับรองการทำงานของเขาในสมัยที่สอง ในขณะที่อดีตคู่แข่งนางเลล์ เบรนาร์ด จะต้องแถลงการณ์เป็นครั้งแรกในฐานะของรองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ
คณะกรรมการนโยบายการเงินคนอื่นๆ ก็มีคิวที่จะต้องแถลงการณ์ในสัปดาห์นี้ไม่ว่าจะเป็นลอเร็ตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสาขาคลีฟแลนด์ เอสเธอร์ จอร์จ ประธานฯ สาขาเคนซัส ซิตี้ ชาร์ล อีแวน ประธานฯ สาขาชิคาโก เจมส์ บลูราร์ด ประธานฯ สาขาเซนต์หลุยส์ โทมัส บาร์กิ้น ประธานฯ สาขาริชมอนต์ และจอห์น วิลเลียม ประธานฯ สาขานิวยอร์ก
ถึงหลายฝ่ายจะเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะไม่สามารถปรามเงินเฟ้อครั้งนี้ลงมาได้ แต่ก็คุ้มค่าที่จะดูว่าความพยายามของพวกเขาจะผ่อนหนักเป็นเบาได้มากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยที่สุดก็จะได้เห็นว่าเหล่าผู้มีสิทธิ์วางนโยบายการเงินกำลังคิดอะไรกันอยู่
อีกหนึ่งประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตามคือสามคนที่โจ ไบเดนเสนอชื่อให้เข้ามามีตำแหน่งในธนาคารกลางสหรัฐฯ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าที่จริงชื่อของบุคคลทั้งสามต้องถูกประกาศมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่เพราะพายุหิมะในวอร์ชิงตันจึงทำให้การประกาศนี้ต้องล่าช้าออกไป ถ้าหากสถานการณ์ดีขึ้น เชื่อว่าจะได้เห็นการประกาศภายในสัปดาห์นี้