ต้องขมชมเลยว่าก่อนที่ปีใหม่จะมาถึง เหล่านักลงทุนทองคำทำได้ดีมาตลอดสี่สัปดาห์ ในแง่ของการรักษาระดับแนวรับให้ราคาทองคำไม่ลงไปต่ำกว่า $1,800 แต่เมื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2022 อย่างเป็นทางการ ดูเหมือนว่าผู้สนับสนุนทองคำเหล่านี้จะไม่สามารถยืนชนกับความเป็นจริงได้ไหวอีกต่อไป ทันทีที่ตลาดซื้อขายในวันจันทร์เกิดขึ้น ภาพเดจาวูของการลงทุนทองคำในปีที่แล้วก็กลับมาทันที การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจากความคาดหวังที่มีต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ย กำลังบุกโจมตีป้อมปราการแนวรับ $1,800 อย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ แนวรับ $1,800 ของทองคำก็ยังคงถูกรักษาเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ราคาซื้อขายทองคำล่วงหน้าบนตลาดนิวยอร์กยังสามารถยืนเหนือระดับ $1,800.10 ต่อออนซ์ได้ ในขณะที่ราคาทองคำสปอตยังคงยืนเหนือ $1,800.85
ที่มา: skcharting.com
สถานการณ์การลงทุนในตลาดทองคำตอนนี้คือการแบ่งขั้วอย่างชัดเจน ฝ่ายสนับสนุนทองคำยังคงเชื่อมั่นว่าทองคำคือสินทรัพย์คานเงินเฟ้อ และต่อให้ปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้น ก็ไม่สามารถกู้สถานการณ์วิกฤตเงินเฟ้อได้ ในขณะที่ฝั่งมีความหวังก็เชื่อว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึงสามครั้งจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง และทำให้ดอลลาร์สหรัฐกลับมาเป็นที่เชื่อถืออีกครั้ง ทำให้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯ อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นสู้กับราคาทองคำ
ทองคำจะเหนื่อยเกินไปหรือเปล่าหากต้องขึ้นยืนเหนือ $1,830
การเทขายของทองคำเมื่อวันจันทร์ทำให้เราได้เห็นภาพของสิ่งที่เรียกว่า “กำแพงแนวต้าน” ที่รอทองคำอยู่เหนือ $1,830 ต่อออนซ์ เพราะทันทีที่ทองคำเปิดตลาดหลังจากช่วงปีใหม่ ก็ตั้งราคาเปิดเอาไว้แล้วที่ $1,830.10 ก่อนที่จะวิ่งขึ้นไปถึง $1,833 และถูกเทขายร่วงลงมาถึง $1,798.20 อย่างรวดเร็ว เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับทองคำสปอตเช่นกัน ที่มีราคาเปิดอยู่ที่ $1,830.14 ขึ้นไปยัง $1,832.06 ก่อนที่จะร่วงลงมายัง $1,797.93
ส่วนตัวนั้นเราคิดว่านักลงทุนขาขึ้นผู้เฝ้าปราการ $1,800 จะสามารถยื้อสถานการณ์นี้เอาไว้ได้จนกระทั่งถึงวันนี้ วันที่มีรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อเดือนธันวาคมออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อพวกเขาได้เห็นความจริงเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็คงต้องยอมแพ้ให้กับขาลงแต่โดยดี ต่อให้รายงานการประชุมในวันนี้จะไม่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน แต่การที่จะให้ทองคำขึ้นยืนเหนือ $1,830 ในตอนนี้ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก
James Stanley นักวิเคราะห์จาก DailyFX วิเคราะห์สถานการณ์ของตลาดทองคำเอาไว้ยาวเหยียดดังนี้
“ทั้งแนวต้านที่ $1,829 และ $1,832 ต่างก็เป็นการคำนวณมาจากเครื่องมือ Fibonacci Retracement ทั้งคู่ ซึ่งทั้งคู่คือระดับ 38.2% ของแนวต้านในปี 2020-2021 ในปี 2021 ระดับแนวต้านนี้เคยทำหน้าที่เป็นด่านทดสอบกำลังของขาขึ้นให้แล้วในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีระยะเวลาที่กำหนดมาอย่างแน่นอนจากเฟด แต่ความเชื่อที่ว่าปีนี้จะได้เห็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่ๆ ทำให้มีโอกาสจะเกิดขาลงระยะสั้นกับทองคำได้ตลอด และขาลงในแต่ละครั้งจะสามารถส่งทองคำลงไปวิ่งต่ำกว่า $1,700 ได้ง่ายๆ”
“งั้นผมขอพูดถึงแนวรับไปเลยละกัน” เขากล่าวต่อ “ในปี 2021 การที่ทองคำลงมาทดสอบแนวรับ $1,680 ได้ถึงสามครั้งทำให้แนวรับนี้เป็นแนวรับที่เชื่อถือได้ เพราะทุกครั้งที่ทองคำลงมาที่แนวรับนี้ และดีดกลับขึ้นไป แต่ไม่สามารถตั้งเทรนด์ขาขึ้นได้ ก่อให้เกิดจุดสูงสุดใหม่ที่กลายเป็นฐานให้กลับรูปแบบสามเหลี่ยมขาลง ที่สุดท้ายแล้วมักจะระเบิดออกมาเป็นแนวโน้มขาลงยาว”
ถึงแม้ว่าทุกตำราเศรษฐศาสตร์จะเขียนเหมือนกันว่าทองคำเป็นสินทรัพย์คานเงินเฟ้อ แต่ความจริงนี้กลับมีความน่าเชื่อถือลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันขึ้นไปอยู่ในจุดที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องเกือบจะงัดน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้ ทั้งๆ ที่ดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อทำตัวเลขสูงที่สุดในรอบหลายปี แต่ราคาทองคำกลับไปสามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้ตามที่หนังสือว่าเอาไว้เลย
ฝั่งนักลงทุนที่สนับสนุนการเงินของรัฐบาลยังคงมีความหวังกับแผนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปีนี้ แต่สิ่งที่ข่าวไม่ได้เขียนออกไปคือแผนนั้นจะขึ้นอยู่กับว่าธนาคารกลางฯ จะสามารถกดเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ที่ 2% ได้ก่อนหรือไม่ และอัตราการจ้างงานในปีนี้ต้องไม่วิ่งขึ้นเกิน 4% จึงจะเรียกว่า “การกลับมาจ้างงานอย่างเต็มรูปแบบ” ในความหมายของเฟด
Philip Streible นักวิเคราะห์ตลาดโลหะมีค่าจากบริษัท Blue Line Futures ในชิคาโกวิเคราะห์สถานการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่า
“อันที่จริงตัวเลขสามครั้งที่ตลาดคิดเอาเองว่าจะเกิดขึ้นกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังคงต้องรอดูตัวเลขการจ้างงานประกอบ ถ้าหากการจ้างงานยังเติบโตอย่างเชื่องช้า การลงทุนในทองคำก็จะกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังจากที่อัตราการว่างงานเคยเพิ่มขึ้นถึง 14.8% ในปี 2020 เมื่อเดือนที่แล้วสามารถลดลงมาเหลือ 4.2% ได้ แต่ดัชนีราคาผู้บริโภค และการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานยังคงเป็นดาวค้างฟ้า สูงที่สุดในรอบ 40 ปี นี่คือโจทย์ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญมากที่สุดในปีนี้”
ใครบอกว่าปีนี้ขาขึ้นของทองคำไม่มีโอกาสแล้ว
ความหวังเดียวของนักลงทุนขาขึ้นทองคำในปีนี้คือ “เงินเฟ้อ เงินเฟ้อเท่านั้น” หากว่าภาวะเงินเฟ้อไม่สามารถถูกทำลายได้จากการเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด ความน่าเชื่อถือของดอลลาร์และธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดลง และนั่นอาจทำไปสู่การทะยานขึ้นทดสอบจุดสูงสุดตลอดกาลในปี 2020 ที่ $2,100 ได้อีกครั้ง
นาย Sunil Kumar Dixit นักวิเคราะห์เจ้าประจำจาก skcharting.com ให้ความเห็นเกี่ยวกับขาขึ้นของทองคำเอาไว้ว่า
“สำหรับผู้ศรัทธาในทองคำให้รอดูที่ระดับแนวรับ $1,790 - $1,798 เพราะทั้งสองแนวนี้อาจกลายเป็นสปริงบอร์ดส่งราคาทองคำให้ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เมื่อกลับขึ้นมาได้แล้ว ทองคำต้องรีบยืนเหนือ $1,830 - $1,835 ให้ได้โดยเร็วที่สุด จึงจะมีโอกาสขึ้นไปถึง $1,877 ได้ อีกหนึ่งความเป็นไปได้คือการปรับตัวขึ้นอย่างมั่นคง เพราะอินดิเคเตอร์ RSI ของผมยังวิ่งอยู่ที่ระดับ 50 โดยประมาณ จึงยังมีความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นทองคำวิ่งขึ้นจาก $1,800 ไปยัง $1,825 ก่อนที่จะไปยัง $1,835 แต่จะเป็นขาขึ้นอย่างเรียบง่าย แต่มั่นคง”
“หากมีแรงซื้อเข้ามามากพอ ก็มีโอกาสที่จะได้เห็น $1,835, $1,860 และ $1,880 ตามลำดับ” เขากล่าวต่อ “แต่ถึงกระนั้น จากการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐานในกราฟรายเดือน ผมยังเห็นตัวแปรมากมายที่อาจทำให้ทองคำผันผวน และวิ่งไซด์เวย์ไปตลอดช่วงครึ่งปีแรกของ 2022 ในช่วงครึ่งปีหลัง เป็นไปได้ที่ราคาทองคำจะขึ้นจากการซื้อสะสมของนักลงทุนรายย่อย สถาบันการเงิน กองทุน และธนาคารกลาง เพราะพวกเขารู้ดีว่ากำลังจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเมื่อทองคำลงเพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะเป็นช่วงเวลาสะสมของเหล่านักลงทุนรายใหญ่จากสถาบันต่างๆ”