ทันทีที่ย่างเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน ความสนใจของนักลงทุนสัปดาห์นี้นอกจากการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนตุลาคมแล้ว จะตกไปอยู่ที่การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในค่ำคืนของวันพุธที่ 3 พฤศจิกายน การประชุมของเฟดเดือนนี้จะมีความสำคัญมากกว่าการประชุมครั้งไหนๆ เพราะตลาดลงทุนเชื่อไปแล้วว่าการประชุมนี้จะต้องมีการประกาศลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มูลค่า $120,000 ล้านเหรียญสหรัฐอย่างแน่นอน
ตลาดลงทุนยิ่งเชื่อมั่นเกี่ยวกับประเด็นการลด QE มากขึ้นเมื่อพวกเขาได้เห็นตัวเลขดัชนีราคาการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.6% YoY ทำสถิติเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบสี่เดือนติดต่อกัน การที่ตัวเลขดังกล่าวซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อของเฟดเพิ่มขึ้นทำให้นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดยอมจำนนต่อหลักฐาน และออกมายอมรับว่าปัญหาเงินเฟ้อในตอนนี้อาจคงอยู่ยาวนานกว่าที่เคยประเมินเอาไว้
นอกจากการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ แล้ว ในสัปดาห์นี้ยังมีการประชุมของธนาคารกลางในประเทศอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นธนาคารกลางนอร์เวย์ที่พึ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเมื่อเดือนกันยายน (และคาดว่าจะปรับขึ้นอีกในเดือนธันวาคม) ธนาคารกลางออสเตรเลีย และธนาคารกลางอังกฤษ การประชุมของธนาคารกลางอังกฤษนั้นจะเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดี ซึ่งดูเหมือนว่า BoE จะมีโอกาสได้ปรับนโยบายการเงินให้กลับเข้าสู่ระดับปกติก่อนใครเพื่อน ผู้ว่าการธนาคารกลางนายแอนดรูว์ ไบลีย์ต้องการที่จะชิงขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนเพื่อควบคุมสถานการณ์เงินเฟ้อ ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามกว้างไปมากกว่านี้
ถึงกระนั้น สกุลเงินปอนด์ก่อนยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทำให้สกุลเงินปอนด์ปรับตัวลดลง 0.75% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รูปนี้แสดงให้เห็นจังหวะที่กราฟ GBP/USD หลุดกรอบขาขึ้นระยะสั้นลงมา กลายเป็นว่าตอนนี้กราฟได้กลับเข้าสู่แนวโน้มขาลงดังเดิมเรียบร้อยแล้ว
กลับมาที่สหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าประธานเฟดจะออกมายอมรับว่าเงินเฟ้ออาจอยู่ยาวกว่าที่คาด แต่มุมมองของเขาโดยรวมในตอนนี้ก็ยังเชื่อมั่นว่าภาวะเงินเฟ้อเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวอยู่ดี เพราะสาเหตุนั้นเกิดขึ้นจากซัพพลายเชนขาดแคลน ที่น่าสนใจคือมีนักวิเคราะห์บางคนประเมินว่าปัญหาซัพพลายเชนขาดแคลนรอบนี้อาจรุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าต่อให้วันหนึ่งปัญหาสินค้าขาดแคลนนี้จะจบลง แต่ราคาสินค้าจะไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิม เหมือนอย่างในปี 2019 ได้อีกแล้ว
นั่นจึงทำให้การรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังคงอยู่ในความสนใจของตลาดลงทุน เพราะสัปดาห์นี้จะมีการรายงานฯ ของบริษัทผู้ผลิตชิปประมวลผลอย่างเช่น Rambus (NASDAQ:RMBS), ON Semiconductor (NASDAQ:ON) และ NXP (NASDAQ:NXPI) ตัวเลขผลประกอบการจากบริษัทเหล่านี้จะสามารถบอกถึงความรุนแรงของปัญหาซัพพลายเชนขาดแคลนได้
หากตัวเลขที่ออกมาไม่สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ จะยิ่งสอดคล้องกับการรายงานผลประกอบการของบริษัทแอมาซอน (NASDAQ:AMZN) และแอปเปิล (NASDAQ:AAPL) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ไม่สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ได้
อย่างไรก็ตาม เราก็ยังได้เห็นดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทะยานขึ้นสร้างจุดสูงสุดใหม่ไม่ว่าจะเป็นเอสแอนด์พี 500 ดาวโจนส์และแนสแด็ก ขาขึ้นเมื่อวันศุกร์ส่งให้เอสแอนด์พีและแนสแด็กสร้างสถิติขาขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2020 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสแอนด์พี 500 ที่สามารถปิดเดือนตุลาคมไปได้ด้วยขาขึ้นตลอดทั้งเดือน 6.9%
พฤติกรรมของตลาดลงทุนเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าการพลาดท่าของบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่สามารถทำลายความเชื่อมั่นของพวกเขาได้ ตราบใดที่นโยบายการเงินของเฟดยังให้ท้ายการใช้เงินของตลาดอยู่เช่นนี้ แต่สำหรับคุณผู้อ่าน เราขอแนะนำว่าระวังเอาไว้สักนิดก็ดี เพราะพฤติกรรมราคาของกราฟเอสแอนด์พี 500 ได้เกิดแท่งเทียนรูปแบบดาวตก (Evening Star) ออกมาแล้ว สร้างความเป็นไปได้ที่อาจะเกิดการย่อตัวทางเทคนิค
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามาตลอดทั้งสัปดาห์เช่นเดียวกันกับกราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี
แม้ว่าดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีการอ่อนตัวในระยะเวลาสั้นๆ แต่เมื่อลงมาทดสอบเส้น neckline ของรูปแบบ double-bottom ก็สามารถดีดตัวกลับขึ้นไปได้ในทันที
ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ภาวะเงินเฟ้อในตอนนี้กลับไม่สามารถหนุนทองคำให้สามารถขึ้นยืนเหนือ $1,800 ได้ ทั้งๆ ที่ควรเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายราวกับการผลิกฝ่ามือ
สัปดาห์ที่แล้ว ทองคำสู้สุดชีวิตกับการพยายามขึ้นมายืนเหนือ $1,800 แต่ขาขึ้นในตอนนี้ก็ต้องเผชิญกับแนวต้านที่เกิดจากเส้นเทรนด์ไลน์ในรูปอีกครั้ง
ขาขึ้นช่วงก่อนของราชาแห่งสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์ได้สงบลงแล้ว แต่เป็นการสงบลงเพื่อกำลังรอคอยอะไรบางอย่างอยู่หรือไม่
เหตุผลที่เรามองว่าบิทคอยน์กำลังรออะไรบางอย่างเพราะพฤติกรรมแท่งเทียนฟ้องว่ากราฟกำลังสร้างรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) ใหม่ ขาลงในรอบล่าสุดนี้อาจจะกลายเป็นไหล่ขวา เรียกนักลงทุนขาขึ้นให้กลับเข้ามาในตลาดก็เป็นได้
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเมื่อวันศุกร์ สร้างสถิติขาขึ้นเป็นวันที่สองติดต่อกัน แต่จากพฤติกรรมทางเทคนิค ดูเหมือนว่ากราฟกำลังจะสร้างไหล่ขวา ที่เป็นส่วนประกอบของรูปแบบหัวไหล่ และส่งราคาน้ำมันให้ปรับตัวลดลงได้
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันอาทิตย์
21:45 (ประเทศจีน) ดัชนี PMI ภาคการผลิตจากมหาลัยไซซิน: คาดว่าจะคงที่ 50.0 จุด
วันจันทร์
05:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะคงที่ 57.7 จุด
11:00 (สหรัฐฯ) ดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก ISM: คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 60.5 เป็น 60.1 จุด
19:50 (ญี่ปุ่น) การประกาศนโยบายการเงินจากธนาคารกลาง
23:30 (ออสเตรเลีย) การประชุมเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง: คาดว่าจะคงที่ 0.10%
วันอังคาร
04:55 (เยอรมัน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะคงที่ 58.2 จุด
วันพุธ
05:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการบริการ: คาดว่าจะคงที่ 58.0 จุด
08:15 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขการจ้างงานจากภาคเอกชน ADP: คาดว่าจะลดลงจาก 568K เป็น 400K
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: สัปดาห์ที่แล้วมีตัวเลขอยู่ที่ 4.267M
11:00 (สหรัฐฯ) ดัชนี PMI ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตจาก ISM: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 61.9 จุดเป็น 62.9 จุด
14:00 (สหรัฐฯ) การประชุมของธนาคารกลาง
วันพฤหัสบดี
05:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการก่อสร้าง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 52.6 เป็น 54.0 จุด
08:00 (สหราชอาณาจักร) การประชุมของธนาคารกลาง: คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 0.10%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงจาก 281K เป็น 275K
วันศุกร์
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 194K เป็น 413K
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขอัตราการว่างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก 4.8% เป็น 4.7%
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลขอัตราการจ้างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก 157.1K เป็น 50.0K
10:00 (แคนาดา) ดัชนี PMI จาก IVEY: ตัวเลขในเดือนกันยายนออกมาอยู่ที่ 70.4 จุด