คำมั่นของนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังคนปัจจุบันของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในตอนนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ ในขณะที่อีกฝ่ายกลับมองว่าไม่ได้น่ากังวลขนาดนั้น นับตั้งแต่เจเน็ต เยลเลน ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ท่าทีของเธอก็ดูมีความเป็นนักการเมืองมากขึ้น จนถึงตอนนี้เธอยังใจเย็นมองว่ายังไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
หากเป็นเยลเลนสมัยที่ครองบัลลังก์ประธานเฟด เป็นไปได้ว่าตอนนี้เธออาจจะตัดสินใจลดวงเงิน QE ไปนานแล้ว แต่จนถึงตอนนี้ เธอยังเชื่อว่าระดับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะกลับลงมาอยู่ที่ 2% เหมือนเดิมภายในช่วงครึ่งปีหลังของ 2022 ความชะล่าใจของฝ่ายบริหารด้านการเงินทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวกลับขึ้นไปยัง 1.64% เมื่อวานนี้ โดยมีจุดสูงสุดในวันก่อนหน้าคือ 1.67%
ในวันศุกร์ที่แล้ว อัตราผลตอบแทนฯ อายุ 10 ปีเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดเอาไว้ที่ 1.68% จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อการประกาศตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ที่ได้ตัวเลขต่ำกว่าคาดการณ์ 290,000 ตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจยังสามารถรีบาวด์กลับมาได้อย่างต่อเนื่อง
เงินเฟ้อชั่วคราว Vs ความต้องการที่มากล้นจนราคาสินค้าแพงขึ้น
นักวิเคราะห์บางคนเห็นด้วยกับเหตุผลของเจเน็ต เยลเลน และนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดที่บอกว่าภาวะเงินเฟ้อตอนนี้เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว พวกเขาให้เหตุผลว่าภาวะเงินเฟ้อตอนนี้เป็นเพราะปัญหาซัพพลายเชนขาดแคลน ไม่ใช่เป็นเพราะความต้องการสินค้าจนล้นตลาด พวกเขาเชื่ออย่างนั้นทั้งๆ ที่รายงานตัวเลขสรุปภาวะเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ เองก็บอกว่าราคาสินค้าที่มีราคาแพงในตอนนี้เกิดจากความต้องการที่มากล้นของผู้บริโภค
ตอนนี้ฝั่งที่สนับสนุนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมีความได้เปรียบกว่า เพราะผู้ที่มีสิทธิ์กำหนดนโยบายการเงินการคลังทั้งสองคนคิดคล้ายกัน เยลเลนต้องการให้ตลาดมีสภาพคล่องต่อไปเช่นนี้เพื่อรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจ และต้องการให้แผนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลผ่าน ในขณะที่เจอโรม พาวเวลล์ต้องการเห็นตัวเลขการจ้างงานกลับมาก่อน เพื่อหวังว่าจะสามารถรักษาเก้าอี้ประธานเฟดไปได้อีกสี่ปี
ฝ่ายที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจสมควรเป็นไปตามกลไกเศรษฐศาสตร์ต้องอ่อนกำลังลงอีกเมื่อเยินส์ ไวด์มันน์ (Jens Weidmann) ผู้ว่าการธนาคารธนาคารกลางเยอรมัน ประกาศลงจากตำแหน่งหลังจากที่ดำรงมานานถึง 10 ปี ถึงแม้ว่าผู้ที่ขึ้นมารับตำแหน่งต่อคาดว่าจะเป็นสายสนับสนุนกลไกเศรษฐศาสตร์ไม่ต่างจากคนเดิม แต่ก็มีสื่อหลายสำนักวิเคราะห์ว่าคนใหม่ที่จะมาแทนนั้นอาจจะไม่แข็งกร้าวจนถึงกับดื้อดึงอย่างเยินส์คนนี้
อันที่จริง เราไม่ได้ประหลาดใจเท่าไหร่ที่จะเห็นนักลงทุนเกิดความสับสน นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ทุกคนก็ทราบดีถึงผลกระทบที่เกิดสามารถทำไปสู่เงินเฟ้อ และเหล่าผู้มีสิทธิ์วางนโยบายการเงินก็เคยพูดตรงกันว่าจะหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันดูจะสวนทางกับคำพูดเมื่อ 14 ปีก่อน ทุกธนาคารกลางยังคงต้องการกู้ราวกับรู้ว่าไม่มีอะไรมาขวางกั้นอำนาจของพวกเขาได้
แต่สิ่งที่เป็นสัจธรรมก็ยังคงเป็นสัจธรรมอยู่วันยังค่ำ ถ้าโลกยังคงหมุนรอบพระอาทิตย์ แอปเปิลยังคงหล่นลงมาจากต้นไม้ มนุษยชาติก่อไม่มีวันหลีกหนีสิ่งที่ตัวเองก่อพ้น ซึ่งถือว่าเป็นไปตามกฎที่มิลตั้น ฟรีดแมน (Milton Friedman) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้สนับสนุนสังคมเสรีตลาด เคยกล่าวเอาไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า “เมื่อมีเงินสดอยู่ในระบบมหาศาล ก็ยากที่จะหนีภาวะเงินเฟ้อพ้น”
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อว่าเงินเฟ้อมาแน่ ไบรอัน เรดดิ้ง นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งอดีตเคยทำงานกับรัฐบาลมองว่าอเมริกายังไม่ได้เข้าสู้สภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน (Stagflation) เขาวิเคราะห์ว่าต้องแยกกันให้ออกระหว่างเงินเฟ้อที่ดันราคาสินค้าให้แพงขึ้นกับเงินเฟ้อที่ดันระดับอุปสงค์ แบบแรกจะทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่อย่างหลังจะทำให้อัตราการว่างงานลดลง
อย่างไรก็ตาม ไบรอันก็ไม่ได้เห็นด้วยกับทุกสิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำ ถึงเขาจะเชื่อว่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องชั่วคราวเหมือนกับโควิดที่อีกไม่นานก็จะจากไป แต่ธนาคารกลางก็ควรปล่อยสินทรัพย์ที่ไม่มีประโยชน์ออกไปได้แล้ว เขามองว่ายิ่งถือไว้นานเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับตัวธนาคารกลางรวมถึงระบบการเงินก็ยิ่งมีมากขึ้น แน่นอนว่าหุ้นบางกลุ่มอาจจะต้องล้มครืนลงมา แต่ในภาพรวมแล้วจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจมากกว่า