ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น ประกอบกับขาขึ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อคืนนี้ทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ถึงแม้ว่าพันธบัตรรัฐบาลจะปรับตัวขึ้น แต่กราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีกลับกำลังลุ้นว่าจะสามารถผ่านจุดสูงสุดในรอบสี่เดือนขึ้นไปได้หรือไม่ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งว่าทำไมในช่วงนี้นักลงทุนจากฝั่งเอเชียและยุโรปยังไม่ต้องการที่จะถือครองดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางของอเมริกาได้ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในตลาดแรงงานว่าอาจมีการจ้างงานได้น้อยเช่นนี้ไปอีกสักระยะถึงแม้ว่าจะผ่านวิกฤตโรคระบาดไปแล้วก็ตาม เพราะปัญหาต่อไปที่มนุษยชาติต้องเผชิญร่วมกันคือเงินเฟ้อ และซัพพลายเชนขาดแคลน
ถึงแม้ว่าทางฝั่งสหรัฐอเมริกาจะไม่มีรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ แต่สหราชอาณาจักรและแคนาดาจะมีการรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค สิ่งที่ทุกฝ่ายกำลังเป็นกังวลมากที่สุดในตอนนี้คือผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ฝ้าย ทองแดง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีราคาที่แพงขึ้น นี่ขนาดว่ายังไม่เข้าช่วงฤดูหนาวที่จะมีความต้องการใช้พลังงานเพื่อสร้างความอบอุ่นเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเวลาอีกสองเดือนข้างหน้า นักวิเคราะห์ประเมินว่าสภาพอากาศที่เย็นลง จะยิ่งส่งผลกระทบต่อปัญหาซัพพลายเชนขาดแคลนให้รุนแรงขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางจะพยายามออกมาบอกว่าผลกระทบนี้เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว แต่จากสภาพแวดล้อมความเป็นจริงที่สัมผัสได้ด้วยตัวเอง ประชาชนก็ตระหนักดีแล้วว่าปัญหานี้อาจจะอยู่กับเรานานกว่าที่คิดเอาไว้
ถ้อยแถลงของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ก่อนหน้านี้ที่แสดงความพร้อมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้สินทรัพย์และสกุลเงินของสหราชอาณาจักรแข็งค่าขึ้น นักวิเคราะห์จากตลาดฟิวเจอร์สหลายคนคาดการณ์เอาไว้ว่าปีนี้ BoE อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 15 จุดเบสิส และสหราชอาณาจักรจะมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1% ภายในปี 2022 นั่นจึงเป็นเหตุผลให้กราฟ GBP/USD แข็งค่าขึ้นในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนคาดว่าการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหราชอาณาจักรในวันนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น และหากเป็นเช่นนั้นก็จะได้เห็นการดำเนินการบางอย่างจาก BoE เพราะนายแอนดรูว์ ไบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษกล่าวเอาไว้ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า หากปัญหาเงินเฟ้อยังไม่ลด BoE จำเป็นต้องใช้มาตรการบางอย่างเข้าสกัดกั้น
ข้อมูลจากดัชนี PMI ของสถาบัน IVEY ในแคนาดาชี้ให้เห็นว่าปัญหาเงินเฟ้อกำลังส่งเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ จนตัวเลข PMI ในเดือนกันยายนปรับตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง กราฟ USD/CAD สามารถลงไปสร้างจุดต่ำสุดในรอบสามเดือนได้เมื่อคืนนี้ ก่อนที่จะปรับตัวกลับขึ้นมาได้บ้าง สำหรับสกุลเงินดอลลาร์แคนาดาในตอนนี้ อนาคตอาจจะสามารถแข็งค่าไปได้อีกสักระยะ เพราะราคาน้ำมันที่แพงขึ้นกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ หากรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของแคนาดาเพิ่มขึ้น นักลงทุนจะเริ่มคาดการณ์อย่างจริงจังถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางแคนาดาจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าช่วงครึ่งปีหลังของ 2022 ที่เคยประเมินเอาไว้ในตอนแรก
สกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดเมื่อคืนนี้คือดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์ รายงานการประชุมของธนาคารกลางออสเตรเลียไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตัวสกุลเงินมาก RBA คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะกลับคืนมาในไตรมาสที่ 4 เพราะออสเตรเลียได้ผ่านช่วงเวลาที่แย่ที่สุดของการล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดมาแล้ว ถึงกระนั้น RBA ก็ยอมรับว่าการฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 4 จะช้ากว่าช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2021 เหตุผลทั้งหมดนี้คือคำตอบว่าทำไม RBA จึงยังไม่คิดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนกว่าจะถึงปี 2024 สถานการณ์ในออสเตรเลียช่างแตกต่างจากนิวซีแลนด์ ที่เราได้เห็น RBNZ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วเสียเหลือเกิน
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญที่นักลงทุนจะให้ความสนใจในวันนี้คือรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของอเมริกาจากธนาคารกลาง และรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ปรับตัวเลขแล้วของยูโรโซน เราคาดว่ารายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจในวันนี้จะเป็นมุมมองเชิงบวกมากขึ้น เพราะใกล้ถึงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะต้องเริ่มลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แล้ว