เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมอยู่ดีๆ ราคาน้ำมันดิบ WTI ก็สามารถทะยานขึ้นมาได้อย่างหน้าตาเฉย? ทั้งๆ ที่เมื่อสองเดือนก่อน ราคาน้ำมันดิบยังมีราคาวิ่งอยู่ต่ำกว่า $63 ต่อบาร์เรล แต่ล่าสุดหรือสัปดาห์ที่แล้วกลับมีราคาขึ้นยืน $80 ต่อบาร์เรล สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2014 แม้ว่าตอนนี้ราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงมาแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับเวลาเท่านั้นที่จะกลับไปยืนเหนือ $80 ต่อบาร์เรลได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง
ในบทความนี้ เราจะพาไปดูว่าอะไรคือสาเหตุเบื้องหลังของขาขึ้นครั้งนี้ ทุกอย่างเป็นเพียงกลไกธรรมดาของอุปสงค์อุปทานเท่านั้นหรือ? ข้อมูลที่คุณจะได้รับจากบทความนี้จะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือบรรยากาศนักลงทุนและการเก็งกำไรในตลาด
กลไกอุปสงค์และอุปทานคือความจริงเพียงบางส่วน
ความจริงอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับคือความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นจริงในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา และก็เป็นความจริงอีกเช่นกันที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่เพิ่มขึ้นคือแรงกดดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง แต่ตอนนี้ทั้งสองสิ่งนี้กำลังกลับด้านกัน อ้างอิงข้อมูลจาก GasBuddy ระบุว่าความต้องการน้ำมันในเดือนกันยายนลดลง 3.35% เศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด มีแหล่งข่าวไม่ระบุสำนัก (ฟังหูไว้หู) ระบุว่าฤดูหนาวนี้เศรษฐกิจของโซนอเมริกาเหนืออาจจะทรุดลงอีกครั้งเพราะอาจมีการระบาดใหญ่อีกรอบ
สำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา (EIA) เปิดเผยข้อมูลว่าความสามารถในการกลั่นน้ำมันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีตัวเลขอยู่ที่ 89.6% และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในแต่ละสัปดาห์ก็ทยอยเพิ่มขึ้นตามลำดับ สิ่งที่เราได้จากข้อมูลนี้คือซัพพลายน้ำมันของอเมริกาตอนนี้หรืออนาคตระยะสั้นจะไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน
อีกหนึ่งข่าวดีที่อาจจะทำให้นักลงทุนน้ำมันเบาใจได้บ้างคือเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน กำลังการผลิตที่ก่อนหน้านี้เจอพายุเฮอริเคนไอดาถล่มสามารถกลับมาผลิตได้อย่างเต็มกำลัง หากขาขึ้นของตลาดน้ำมันในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนเป็นเพราะพายุไอดานั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่กับเดือนตุลาคมตอนนี้ไม่ใช่ประเด็นผลักดันราคาน้ำมันอีกต่อไปแล้ว
กำลังการผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันไม่ได้เพิ่มขึ้น
ผลกระทบจากกิจกรรมการผลิตน้ำมันด้วยการขุดหินน้ำมันส่งผลต่อราคาน้ำมันสองประการ หนึ่งคือบริษัทผู้ผลิตไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิตกลับมาเหมือนช่วงก่อนการระบาด และสองคือบริษัทผู้ผลิตน้ำมันหลายแห่งพูดตรงกันว่ายังไม่ยินดีที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไปมากกว่าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม
ก่อนที่เชื้อไวรัสโควิดจะระบาด กำลังการผลิตน้ำมันของสหรัฐอเมริกาเคยมีตัวเลขสูงสุดอยู่ที่ 13.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่กำลังการผลิตในปัจจุบันเฉลี่ยแล้วมีตัวเลขอยู่ที่ 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ความคาดหวังของผู้บริโภคและตลาดก้าวข้ามผ่านตัวเลข 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวันไปแล้ว เมื่อความคาดหวังมีสูงกว่าความเป็นจริง ประกอบกับผู้ผลิตน้ำมันยังไม่ต้องการที่จะผลิตน้ำมันเพิ่ม ราคาน้ำมันจึงปรับตัวสูงขึ้นตามความคาดหวังของนักลงทุนในตลาด
ความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ
นักลงทุนในตลาดบางกลุ่มเริ่มเป็นกังวลอย่างจริงจังแล้วว่าในช่วงฤดูหนาวนี้อาจจะได้เห็นปรากฎการณ์ก๊าซธรรมชาติขาดแคลนในสหรัฐอเมริกา เหตุผลที่เชื่อกันอย่างเป็นจริงเป็นจังก็เพราะยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่ แม้แต่ทำเนียบขาวก็ได้ออกมาเตือนชาวอเมริกันแล้วว่าบิลเก็บเงินจากฮีตเตอร์ในปีนี้อาจแพงขึ้น 50% จากค่าเฉลี่ยเดิมที่เคยจ่าย
หากเกิดเหตุการณ์ก๊าซธรรมชาติขาดแคลนในสหรัฐอเมริกาจริง โรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติ (ที่ปกติพลังงานไฟฟ้า) อาจจะต้องเปลี่ยนไปพึ่งพาพลังงานน้ำมันแทน อนึ่ง ในปัจจุบันก๊าซธรรมชาติคิดเป็น 40% ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ ทั้งหมด
การเก็งกำไรในตลาดลงทุน
การเก็งกำไรเป็นสิ่งที่อยู่คู่ตลาดลงทุนมาอย่างช้านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนทั่วไปต่างลงทุนด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือหวังผลกำไรกลับคืน และตอนนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ทำท่าว่าพร้อมที่จะเข้าสู่ขาลงได้ทุกเมื่อหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศลดวงเงิน QE การลงทุนในตลาดน้ำมันดิบจึงเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา