การประชุมของธนาคารกลางในสัปดาห์นี้ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ธนาคารกลางแคนาดา (BoC) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสร้างผลกระทบในเชิงลบต่อสกุลเงินของแต่ละประเทศมากกว่าเชิงบวก เมื่อวานนี้ดอลลาร์ออสเตรเลียเป็นสกุลเงินแรกที่อ่อนค่าลงทันทีก่อนใครเพื่อนหลังจากทราบผลการประชุม ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าได้แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานฯ ในเดือนสิงหาคมจะออกมาน้อยที่สุดในรอบเจ็ดเดือน นั่นจึงทำให้นักลงทุนเป็นกังวลว่าดอลลาร์แคนาดาหลังจากทราบผลการประชุมในวันนี้จะอ่อนค่าลงตามดอลลาร์ออสเตรเลียด้วยหรือไม่ และทำให้ตลาดเลือกที่จะขายดอลลาร์แคนาดาออกมาก่อน ส่วนสกุลเงินยูโรปรับตัวลดลงมาจากจุดสูงสุด 1.19 ก่อนการประชุมของ ECB ในวันพรุ่งนี้
ตามปฏิทินทางเศรษฐกิจ ในสัปดาห์นี้ไม่มีเหตุการณ์ไหนสำคัญไปมากกว่าการประชุมของทั้งสามธนาคารกลางที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น ก่อนหน้านี้ถือเป็นช่วงที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่มีความมั่นใจต่อสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศของตนมากยิ่งขึ้น ธนาคารกลางแคนาดาถือเป็นธนาคารกลางกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แต่สำหรับการประชุมวันนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่า BoC จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินใดๆ เพิ่มเติม ถึงแม้ว่าการเติบโตของตัวเลข GDP ในไตรมาสที่สองจะหดตัวลดลงอย่างไม่คาดคิดก็ตาม
แม้ว่าแคนาดาจะมีภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลงกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา แต่ถึงอย่างนั้น BoC ก็ยังเลือกที่จะชะลอแผนการปรับลดวงเงิน QE ออกไป ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจเป็นเพราะธนาคารกลางอาจต้องการรอดูผลการเลือกตั้งในวันที่ 20 กันยายนที่อาจส่งผลกระทบถึงตำแหน่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนายจัสติน ทรูโด ด้วยสถานการณ์ในแคนาดาที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเช่นนี้ จึงทำให้กราฟ USD/CAD แข็งค่าขึ้นก่อนการประชุมของธนาคารกลาง
การล็อกดาวน์ของออสเตรเลียไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย และความมั่นใจนั้นทำให้สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นหลังการประกาศจาก RBA ธนาคารกลางฯ ยังคงยืนยันว่าในเดือนนี้ว่าจะลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่อไป ธนาคารกลางออสเตรเลียประเมินสถานการณ์โควิดภายในประเทศตอนนี้ว่าเป็นการล็อกดาวน์เพียงชั่วคราวเท่านั้น และการล็อกดาวน์นี้ไม่ได้ทำให้การฟื้นตัวภายในประเทศชะลอตัว อย่างไรก็ตาม RBA ก็ยอมรับว่ากว่าเศรษฐกิจของออสเตรเลียจะกลับไปอยู่ในระดับก่อนการแพร่ระบาด อาจจะต้องรอไปจนถึงช่วงครึ่งปีหลังของปี 2022 ดังนั้นการเทขายของดอลลาร์ออสเตรเลียเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐถือเป็นผลกระทบมากกว่าการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐมากกว่า
สถานการณ์ของสกุลเงินยูโรถือว่าเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องจับตามองด้วยเช่นกัน ก่อนที่การประชุมของธนาคารกลางยุโรปในวันพรุ่งนี้จะมาถึง ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของยุโรปในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีความผันผวนอยู่พอสมควร รายงานตัวเลขผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งของเยอรมันสามารถชดเชยตัวเลขความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลงได้ แต่ในขณะเดียวกันรายงานตัวเลขที่วัดบรรยากาศทางเศรษฐกิจในยุโรปจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจแห่งยุโรป (ZEW) กลับหดตัวลดลงเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน สร้างจุดต่ำสุดใหม่นับตั้งแต่มีการระบาดเกิดขึ้น
จากที่ได้กล่าวไป เราจะเห็นว่าแม้สกุลเงินหลักอื่นๆ จะมีปัจจัยที่ทำให้แข็งค่าได้ แต่สกุลเงินเหล่านั้นกลับสู้การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่ตัวเลขการจ้างงานในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นเพียง 235,000 ตำแหน่งเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ 750,000 ตำแหน่ง การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อคืนนี้สะท้อนความเชื่อของนักลงทุนที่ว่าตัวเลข NFP ที่หดตัว ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอให้เฟดจะยกเลิกแผนปรับลด QE ที่คาดว่าจะประกาศในการประชุม FOMC ในช่วงปลายเดือนนี้ รายงานสรุปภาวะทางเศรษฐกิจจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันนี้อาจจะเป็นตัวยืนยันหรือสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้
สกุลเงินปอนด์ปรับตัวลดลงเพราะการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐและความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อแผนปรับปรุงระบบดูแลสุขภาพในสังคมใหม่ของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เมื่อคืนนี้มีข่าวว่าบอริส จอห์นสันต้องการที่จะปรับขึ้นภาษีอีก 1.25% เพื่อเอามาใช้จ่ายกับการปฏิรูประบบดูแลสุขภาพในครั้งนี้ แน่นอนว่าสำหรับคนทั่วไป การปรับขึ้นภาษีมักนำมาซึ่งความกังวลมากกว่าความรู้สึกอุ่นใจ และในตอนนี้สหราชอาณาจักรก็กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อไม่ต่างจากแคนาดาหรือสหรัฐอเมริกา สังเกตได้จากตัวเลขราคาที่อยู่อาศัยจาก Halifax ของสหราชอาณาจักรที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ