แม้การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจะคืบคลานมายังตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมากขึ้นเรื่อยๆ แต่นักลงทุนในตลาดก็ยังไม่คิดว่าปัญหานี้น่ากังวลแต่อย่างใด สังเกตได้จากการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของดัชนีหลักอย่างดาวโจนส์และเอสแอนด์พี 500 ที่สามารถทะยานสร้างจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลได้อีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว นับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2021 มาจนถึงปัจจุบัน ดัชนีเอสแอนด์พี 500 สร้างจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลไปแล้ว 48 ครั้ง แม้ว่าจะมีฝ่ายต่อต้านที่พยายามตั้งคำถามว่าขาขึ้นครั้งนี้จะยาวนานไปได้อีกนานเท่าไหร่ แต่ Reflation Trade ก็ยังสามารถพาตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
นอกจากตลาดหุ้นที่วิ่งขึ้นมาแล้ว ตลาดผลตอบแทนพันธบัตรก็ปรับตัวตามขึ้นมาด้วยเช่นกัน แต่สาเหตุที่อัตราผลตอบแทนปรับขึ้นเป็นเพราะรายงานตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากมหาลัยมิชิแกนหดตัวลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2011 เมื่ออัตราผลตอบแทนวิ่งขึ้น ย่อมหมายความว่านักลงทุนในตลาดได้เทขายดอลลาร์สหรัฐ และหันไปซื้อสินทรัพย์สำรองปลอดภัยอย่างเช่นบิทคอยน์หรือทองคำแทน ส่วนราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลเกี่ยวกับความต้องการน้ำมันที่อาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของเดลต้า
ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ยังสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลได้เป็นสัปดาห์ที่สี่ติดต่อกันอย่างทุลักทุเล ปรับตัวกลับขึ้นมาจากการย่อตัวลง ขึ้นมาปิดตลาดในวันศุกร์ได้ 0.2% สร้างเป็นแท่งเทียนรูปแบบดาวตก (Evening Star) เอาไว้ให้นักลงทุนในสัปดาห์นี้ได้ลุ้นกันต่อว่าตลาดจะปรับตัวลดลงมาหรือไม่
หุ้นกลุ่มที่วิ่งขึ้นในวันศุกร์ที่แล้วคือหุ้นสายตั้งรับ นำโดยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นมา 0.8% กลุ่มสาธารณูปโภค 0.7% และกลุ่มเฮลท์แคร์ 0.6% ส่วนกลุ่มที่ติดลบมากที่สุดได้แก่พลังงาน -1.2% การเงิน 0.75% อุตสาหกรรมและสินค้าฟุ่มเฟือยตัวละ -0.3% แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วในสัปดาห์ก่อนจะยังสามารถทำจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่ได้ แต่ก็ถือว่าปรับตัวขึ้นได้เพียง 0.7% เท่านั้น
ความกังวลของนักลงทุนตลอดทั้งสัปดาห์ที่แล้วได้สะท้อนผ่านออกมาถึงการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 2.2% และสาธารณูปโภค 1.8% ในเวลาเดียวกันกลุ่มที่เคยเป็นผู้นำในสัปดาห์ก่อนหน้านั้นอย่างวัสดุก่อสร้าง และการเงินถึงจะยังอยู่ในขาขึ้น 2.75% และ 1.9% ตามลำดับ แต่ก็ถือว่าเป็นขาขึ้นที่ขึ้นได้น้อยลง
ในขณะเดียวกัน ดัชนีหลักอีกหนึ่งตัวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างดาวโจนส์ก็สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลได้ เฉพาะวันศุกร์วันเดียว ดาวโจนส์ยังสามารถปิดบวกได้ 0.04% แต่ถ้าพิจารณาภาพรวมทั้งสัปดาห์จะพบว่าดาวโจนส์สามารถปรับตัวขึ้น 0.9% ที่น่าสนใจก็คือภาพรวมของขาขึ้นในดัชนีดาวโจนส์นั้นมีความชัดเจนมากกว่าเอสแอนด์พี 500 ดังที่ปรากฎอยู่ในรูปด้านล่าง
ขาขึ้นในสัปดาห์ที่แล้วทำให้ดัชนีดาวโจนส์จบการปรับฐานแบบธงลู่ลงในระยะสั้น กลายเป็นว่ากรอบขาลงเล็กๆ นั้นคือกองสุมกำลังของนักลงทุนฝั่งกระทิง ให้ปรับตัวขึ้นต่อตามรูปแบบสามเหลี่ยมลู่ขึ้นรูปใหญ่
การปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มวัฐจักรทำให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่สังกัดอยู่ในแนสแด็กไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างโดดเด่น ในวันศุกร์ดัชนีแนสแด็กสามารถทำขาขึ้นได้เพียง 0.04% เท่านั้น ในขณะที่ผลงานตลอดทั้งสัปดาห์แนสแด็กกลับปิดติดลบ 0.1%
จากรูปจะเห็นว่าปลายทางของขาขึ้นตลอดเจ็ดสัปดาห์ สุดท้ายก็ลงเอยด้วยรูปแบบลิ่มลู่ขึ้น โดยปกติแล้วรูปแบบการวิ่งของราคาแบบนี้มักจะหมายความว่ากราฟกำลังจะวิ่งไปในทิศทางตรงกันข้ามกับเทรนด์เดิม และขาลงที่หลุดออกจากกรอบลงมา อาจจะเป็นสัญญาณเริ่มต้นของตลาดหมี
ดัชนีของบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กและกลางอย่างรัสเซล 2000 ทำผลงานได้น่าผิดหวัง ไม่สามารถปรับตัวขึ้นตามดัชนีใหญ่ๆ ได้ เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว รัสเซลปรับตัวลดลง 1% และถือเป็นขาลงวันที่สองติดต่อกันจากวันพฤหัสบดี ในขณะที่ผลงานตลอดทั้งสัปดาห์ถือว่ารัสเซล 2000 ได้ติดลบไป 1.1% เป็นไปได้ว่าสัปดาห์นี้รัสเซล 2000 จะต้องเผชิญกับขาลงต่อเนื่อง
ที่ผ่านมาดัชนีรัสเซล 2000 ได้ปรับตัววิ่งอยู่ในรูปแบบไซด์เวย์มาโดยตลอด และไม่เคยทำจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่ได้เลยนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ขาลงที่ปรากฎขึ้นเมื่อวันศุกร์อาจเป็นสัญญาณจบรูปแบบธงที่ราคาสร้างมาตลอดสามสัปดาห์ล่าสุด คำถามก็คือว่าการลงมาจนหลุดกรอบสามเหลี่ยมนี้จะนำไปสู่ขาลงในระยะยาวหรือไม่
ถึงแม้ว่าโดยปกติแล้ว ในยามที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตร โดยเฉพาะรุ่นอายุ 10 ปีจะปรับตัวขึ้นเป็นเพื่อนกันมาโดยตลอด แต่ครั้งนี้อัตราผลตอบแทน 10 ปี กลับหักหัวลง ในขณะที่ดัชนีหลักสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่ได้
จากรูปจะเห็นว่าขาลงครั้งนี้ได้ปรับตัวผ่านเส้น neckline ลงมาแล้ว ตอนนี้ต้องมาลุ้นว่ากราฟจะสามารถผ่านแนวรับ 1.250 ลงมาได้หรือไม่
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนจะต้องติดตามกันต่อว่าความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจะหดตัวลงแล้วจริงๆ หรือไม่ เพราะสัปดาห์ที่แล้วรายงานตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้นำร่องหดตัวไปก่อนแล้ว 11 จุด จนตัวเลขที่ออกมาลดลงเหลือ 70.2 จุด ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2011
โดยปกติแล้วการบริโภคภายในประเทศของสหรัฐอเมริกาถือเป็น 70% ของตัวเลข GDP หากการบริโภคหดตัวลดลงเพราะเงินเฟ้อและยอดผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ รัฐบาลและธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องพิจารณานโยบายการเงินที่จะทำให้ปัญหาเงินเฟ้อลดลงโดยเร็วที่สุด ดังนั้นรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกที่จะประกาศในสัปดาห์นี้อาจจะเป็นตัวยืนยันความสามารถของการจับจ่ายที่ลดลง หากตัวเลขที่ประกาศออกมาหดตัว
อีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สามารถบ่งบอกถึงภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาได้คือการดูหุ้นในกลุ่มพลังงานบนดัชนีเอสแอนด์พี 500 กองทุน ETF ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานอย่าง Select Sector SPDR® Fund (NYSE:XLE) ในสัปดาห์ที่แล้วเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่กองทุนที่ปิดติดลบ จบสถิติขาขึ้น 19 วันติดต่อกันที่ทำได้เป็นครั้งที่สองนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 1950
จากรูปประกอบจะเห็นว่าในตอนนี้มีความเป็นไปได้ที่กราฟของกองทุนดังกล่าวกำลังสร้างรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) สำหรับขาลง เหลือเพียงการตัดเส้น neckline ที่ 46.23 ลงไปเท่านั้น
การคุกคามของโควิดสายพันธุ์เดลตาในสหรัฐอเมริกาตอนนี้ต้องเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการระบาดดังกล่าวในช่วงปลายหน้าร้อนเริ่มทำให้ความต้องการท่องเที่ยวและการเดินทางน้อยลง แม้ธนาคารชื่อดังโกลด์แมน แซคส์ จะประเมินว่าความต้องการท่องเที่ยวที่กำลังหายไปเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว แต่องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) กลับมีความเห็นตรงกันข้าม และได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ความต้องการพลังงานในช่วงที่เหลือของปี 2021 ลงแล้ว
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันอาทิตย์
19:50 (ญี่ปุ่น) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่า QoQ จะปรับตัวขึ้นจาก -1.0% เป็น 0.2% ส่วนตัวเลข YoY คาดว่าจะปรับตัวขึ้นจาก -3.9% เป็น 0.7%
22:00 (ประเทศจีน) รายงานตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม: คาดว่าตัวเลขในเดือนกรกฎาคมจะลดลงจาก 8.3% เป็น 7.8%
วันจันทร์
08:30 (สหรัฐฯ) ดัชนีภาคการผลิตจากเอ็มไพร์ สเตต: คาดว่าจะหดตัวลดลงจาก 43 จุดเป็น 29 จุด
21:30 (ออสเตรเลีย) รายงานผลการประชุมของธนาคารกลาง
วันอังคาร
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานจำนวนคนว่างงานที่ใช้สิทธิประโยชน์จากการว่างงาน: ตัวเลขครั้งก่อนออกมาอยู่ที่ -114.8K
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีกพื้นฐาน: คาดว่าจะหดตัวลดลงจาก 1.3% เป็น 0.2%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีก: คาดว่าจะลดลงจาก 0.6% เป็น -0.2%
13:30 (สหรัฐฯ) ถ้อยแถลงจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเจอโรม พาวเวลล์
22:00 (นิวซีแลนด์) ผลการประชุมของธนาคารกลางนิวซีแลนด์: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 0.25% เป็น 0.50%
วันพุธ
02:00 (สหราชอาณาจักร) ดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่า YoY จะลดลงจาก 2.5% เป็น 2.3%
05:00 (ยูโรโซน) ดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่า YoY จะคงที่ 2.2%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขการอนุญาตก่อสร้าง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.594M เป็น 1.610M
08:30 (แคนาดา) ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน: คาดว่าจะหดตัวลดลงจาก 0.3% เป็น 0.1%
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: ตัวเลขของสัปดาห์ก่อนออกมาอยู่ที่ -0.447M
14:00 (สหรัฐฯ) รายงานสรุปการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ
21:30 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลขการจ้างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก 21.1K เป็น -45.0K
วันพฤหัสบดี
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงจาก 375K เป็น 360K
08:30 (สหรัฐฯ) ดัชนีภาคการผลิตจากธนาคารกลางแห่งฟิลาเดเฟีย: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 21.9 จุดเป็น 25.0 จุด
วันศุกร์
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีก: คาดว่าจะคงที่ 0.5%
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีกพื้นฐาน: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -2.1% เป็น 4.4%
21:20 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีก: ตัวเลขครั้งก่อนออกมาอยู่ที่ 0.1%