เพียงพริบตาเดียวเราก็ก้าวเข้าสู่เดือนที่ 8 ของปี 2021 กันแล้ว ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาถือเป็นเดือนที่ดีของตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่น่าเสียดายที่มาแผ่วปลายลงในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน…
สรุปภาพรวมแบบคร่าวๆ สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ กันก่อน ในเดือนกรกฎาคมดัชนีหลักอย่างเอสแอนด์พี 500 ปิดเดือนไปด้วยการปรับตัวขึ้น 2.28% ทำสถิติขาขึ้นติดต่อกันหกเดือน และยังรักษาแนวโน้มขาขึ้นโดยภาพรวมต่อไปได้ ถัดมาดัชนีดาวโจนส์สามารถปิดบวกได้ 1.25% ทำสถิติขาขึ้นห้าเดือนจากเจ็ดเดือนล่าสุด และอีกหนึ่งดัชนีที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือแนสแด็กที่ปรับตัวขึ้นในเดือนกรกฎาคม 1.16% ทำสถิติขาขึ้นหกเดือนจากเจ็ดเดือนล่าสุด นับตั้งแต่วิ่งลงไป 1.5% ในเดือนพฤษภาคม
หากนับตั้งแต่ต้นปี 2021 มาจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้จะพบว่าเอสแอนด์พี 500 ทำขาขึ้นมาแล้วทั้งหมด 17% ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์สามารถทำขาขึ้นไปได้ 14.1% แนสแด็กวิ่งขึ้นมา 13.9% ถือเป็นภาพรวมที่ดีเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019 ก่อนที่โควิดจะระบาด แต่หากนับตั้งแต่จุดต่ำสุดในเดือนมีนาคมปี 2020 มาจนถึงปัจจุบัน จะพบว่าเอสแอนด์พี 500 วิ่งขึ้นมาแล้ว 100% แนสแด็ก 121.3% และดาวโจนส์ 92%
ด้วยตัวเลขสถิติที่เราเห็นอยู่ตรงนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมนักลงทุนทั่วโลกยังคงเหลือตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในหมุดหมายที่ดีสำหรับการลงทุน เฉพาะครึ่งปีแรก พวกเขาก็ใช้เงินลงทุนรวมกันไปแล้วมากถึง $900,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นลงทุนในตลาดหุ้นโดยตรง ผ่านกองทุน หรือ ETF ที่สำคัญรายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 2 ที่กำลังรายงานกันอยู่นี้ก็สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ได้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นภาพที่แตกต่างจากของปีที่แล้วที่ไตรมาสที่ 2 ถือเป็นช่วงเวลาที่แยกที่สุดในรอบหลายสิบปีของตลาดหุ้น
ดังนั้นเราจึงสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเดือนกรกฎาคมปี 2021 และปี 2021 ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งในบทความนี้เราจะพามาดูว่าในเดือนกรกฎาคม พวกเราได้ผ่านเหตุการณ์อะไรกันมาบ้าง
S&P กับจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่ 7 ครั้ง
อ้างอิงข้อมูลจากสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าภายในเดือนกรกฎาคมเดือนเดียว ดัชนีเอสแอนด์พี 500 สามารถทำจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่ไปได้ถึง 7 ครั้ง แต่ในช่วงท้ายเดือนกลับปรากฎสัญญาณความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ส่งผลให้หุ้นบางตัวถูกเทขายและกระทบถึงมูลค่าโดยรวมของดัชนี
- การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับมาเป็นประเด็นให้พูดถึงอีกครั้ง แต่คราวนี้เจ้าไวรัสได้กลับมาในร่างพัฒนาใหม่ ที่มีความเร็วมากขึ้น ติดง่ายขึ้น และทำร้ายมนุษย์ได้ง่ายขึ้น ในปัจจุบันพวกเราเรียกโควิดสายพันธุ์นี้ว่า “เดลตา”
- การขาดแคลนในหลายๆ มิติของสหรัฐอเมริกา ยกตัวอย่างเช่นแรงงาน ชิปคอมพิวเตอร์ ไม้แปรรูป และวัสดุก่อสร้างนำมาซึ่งความกังวลภาวะเงินเฟ้อ
- ความพยายามสกัดบริษัทที่มีการเติบโตมากเกินไปของประเทศจีน มีส่วนฉุดภาครวมของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ตลอดทั้งเดือนกรกฎาคมดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตของจีนปรับตัวลดลง 5.4% ดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงปรับตัวลดลงเกือบ 10% แม้แต่หุ้นของบริษัทไป๋ตู้ (NASDAQ:BIDU) ซึ่งเป็นหุ้นตัวใหญ่ของเอเชียที่มีมูลค่าสูงที่สุดยังร่วงลง 19%
- ราชาแห่งสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์ตลอดทั้งปีปรับตัวขึ้นมามากกว่า 118% ก่อนที่จะปรับตัวลดลงในวันที่ 15 เมษายน ขาลงรอบนี้เกือบล้างขาขึ้นที่ทำมาทั้งหมด อย่างไรก็ตามบิทคอยน์ยังไม่สามารถปรับตัวลงไปวิ่งต่ำกว่า $30,000 ก่อนที่จะดีดตัวกลับขึ้นมาในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม มีมูลค่าอยู่ที่ $40,000 โดยประมาณในขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่
- แพลตฟอร์มการลงทุนโรบินฮู้ด (NASDAQ:HOOD) และแอปพลิเคชันสำหรับการลงทุนอื่นๆ มีส่วนช่วยให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับโรบินฮู้ด พวกเขาได้เข้าสู่ตลาดหุ้น เป็นบริษัทจดทะเบียนเรียบร้อยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีราคาเปิดตลาดอยู่ที่ $38 ก่อนที่จะวิ่งลง 8.4% ตั้งแต่วันแรกที่ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
ขึ้นก็เร็ว ราคาหุ้นก็แสนแพง น้อยคนนักที่ได้กำไร
เป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่าในบางครั้งหุ้นที่น่าสนใจหลายๆ ตัวก็มีราคาที่แสนจะแพง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นที่สังกัดอยู่บนดัชนีแนสแด็ก 100 แต่ก็ถือเป็นความจริงอีกเช่นกันว่าเมื่อมีข่าวร้ายมากระทบเพียงนิดเดียว หุ้นเทคโนโลยีที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็มักจะร่วงลงก่อนหุ้นในกลุ่มอื่นๆ
โควิด-19 เป็นปัจจัยภายนอกที่น่ากังวลมากที่สุด แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะสามารถจัดการได้ดี คุมการกระขายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีบริษัทไหนที่กล้าพูดเลยว่าสามารถผลิตยาที่ทำลายโควิด-19 ได้เลย เราทำได้เพียงใช้ชีวิตอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าถ้าคนทั้งประเทศได้รับวัคซีนในมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันทั้งหมด เราก็จะมีภูมิคุ้มกันหมู่ และกดให้โควิดกลายเป็นเพียงโรคประจำถิ่นเท่านั้น แต่เพราะในความเป็นจริง เรายังไปไม่ถึงจุดนั้น และจากตรงนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าโควิดจะพัฒนากลายเป็นสายพันธุ์อะไรต่อไปในอนาคต และการพัฒนาของโควิดจะทำลายขาขึ้นของตลาดหุ้นที่มีอยู่ในตอนนี้หรือไม่
นอกจากนี้ขาขึ้นที่ยังขึ้นอยู่ นับวันก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น นักลงทุนที่เงินทุนไม่หนาพอก็ตัดสินใจออกจากตลาดไปก่อนเพื่อทำกำไร ทิ้งไว้เพียงกลุ่มคนเพียงหยิบมือที่ยังถือหุ้นต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหุ้นที่มีมูลค่าตลาดเกิน $1,000,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นกลุ่มหุ้นที่กำลังแบกมูลค่าส่วนหนึ่งของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ แน่นอนว่าหุ้นในกลุ่มนี้ เราต่างก็รู้จักกันดี เพราะพวกเขาคือกลุ่ม FAAMG นั่นเอง
- ในเดือนกรกฎาคม หุ้นแอปเปิล (NASDAQ:AAPL) ปรับตัวขึ้นมา 6.3% ตลอดทั้งปีปรับขึ้นมา 9.8% มีมูลค่าตลาดในขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่ที่ $2.41 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
- ในเดือนกรกฎาคม หุ้นไมโครซอฟต์ (NASDAQ:MSFT) ปรับตัวขึ้นมา 5.2% ตลอดทั้งปีปรับขึ้นมา 28% มีมูลค่าตลาดในขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่ที่ $2.14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
- ในเดือนกรกฎาคม หุ้นอัลฟาเบต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล (NASDAQ:GOOGL) ปรับตัวขึ้นมา 11.2% ตลอดทั้งปีปรับขึ้นมา 55% มีมูลค่าตลาดในขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่ที่ $1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
- ในเดือนกรกฎาคม หุ้นอะเมซอน (NASDAQ:AMZN) ปรับตัวลดลง 3.3% ตลอดทั้งปีปรับขึ้นมา 2.2% มีมูลค่าตลาดในขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่ที่ $1.68 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
- ในเดือนกรกฎาคม หุ้นเฟซบุ๊ก (NASDAQ:FB) ปรับตัวขึ้นมา 2.5% ตลอดทั้งปีปรับขึ้นมา 30.4% มีมูลค่าตลาดในขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่ที่ $1.01 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
เฉพาะกลุ่ม FAAMG ที่เราได้กล่าวถึงไป ก็คิดเป็น 22.3% ของมูลค่าตลาดทั้งหมดของดัชนีเอสแอนด์พี 500 และถ้านับรวมหุ้นอย่างเช่นเทสลา (NASDAQ:TSLA) เบริก์เชียร์ แฮทธาเวย์ (NYSE:BRKa) (NYSE:BRKb) เอ็นวิเดีย (NASDAQ:NVDA) และเจพีมอร์แกน แชสค์ (NYSE:JPM) เข้าไปด้วย จะทำให้สัดส่วนของหุ้นทั้งหมดนี้กลายเป็น 28% เพิ่มขึ้นจาก 21% ในช่วงสิ้นปี 2018
คำเตือน!! อย่าพึ่งเห็นข้อมูลนี้แล้วตัดสินใจลงทุนเลย เพราะโดยปกติแล้วเดือนสิงหาคมจะเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นเงียบเหงาที่สุดเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่จะเอาเงินที่ได้ไปพักร้อนในช่วงนี้ จากสถิติตลอด 20 ปีล่าสุด พฤติกรรมการวิ่งของตลาดหุ้นอเมริกาในเดือนนี้มักจะเงียบเหงาหรือไม่ก็ปรับตัวลดลงตลอดทั้งเดือน
ปัจจัยขับเคลื่อนตลาดอื่นๆ: ผลการประชุมเฟด ภาพรวมการฟื้นตัว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์
น้ำมันดิบในปีนี้ปรับตัวขึ้นมา 50% แม้จะไม่ได้วิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็สามารถขยับขึ้นมาแบบขั้นบันไดได้อย่างมั่นคง ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีจำหน่ายอยู่ตามปั้มน้ำมันทั่วไปก็มีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่า 41%
ราคาไม้แปรรูปปรับตัวขึ้นมาสองเท่าภายในช่วงเวลาครึ่งปีแรกเนื่องจากเป็นหนึ่งในวัสดุก่อสร้างสำคัญที่ขาดตลาด แต่หลังจากที่ราคาที่อยู่อาศัยมีราคาแพงเกินกว่าจุดคุ้มทุน ราคาไม้แปรรูปก็ปรับตัวลดลงมามากกว่า 50% จากจุดสูงสุดที่ $1,514 ต่อหนึ่งพันลูกบาศก์ฟุตในเดือนพฤษภาคม
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ผู้มีอำนาจเต็มที่ในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยยังคงยืนกรานว่าราคาสินค้าที่แพงขึ้นเป็นเพียงผลกระทบชั่วคราว และพวกเขายังไม่มีแผนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ จนถึงตอนนี้นักลงทุนในตลาดพันธบัตรก็ยังคงเชื่อมั่นในวิถึทางของเฟด อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จนล่าสุดลงไปมีตัวเลขอยู่ที่ 1.226% ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทำจุดสูงสุดเอาไว้ที่ 1.74% ในวันที่ 31 มีนาคม
เหตุผลเดียวที่ตอนนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของอเมริกาไม่ปรับตัวลดลงต่ำกว่านี้เป็นเพราะเมื่อเทียบกับพันธบัตรที่ประเทศของเขาแล้ว อัตราผลตอบแทนฯ ของสหรัฐฯ น่าลงทุนกว่า เรื่องนี้เป็นปัจจัยที่สอดคล้องกันกับเศรษฐกิจอเมริกาที่แข็งแกร่งกว่าชาติอื่นๆ ในตอนนี้ และขาขึ้นของตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ การวิเคราะห์นี้จะได้รับการยืนยันจากรายงานตัวเลขยอดคำสั่งซื้อจากโรงงานและยอดคำสั่งซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตที่จะประกาศออกมาในสัปดาห์นี้
นอกจากนี้ในทุกๆ สัปดาห์แรกต้นเดือน นักลงทุนจะให้ความสนใจกับตลาดหุ้นอเมริกาเป็นพิเศษ เพราะจะมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคแรงงานโดยตรง ตัวเลขแรกคือตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานนอกภาคการเกษตรจาก ADP ที่จะประกาศในวันพรุ่งนี้ และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ที่จะประกาศในวันศุกร์ NFP ถือเป็นตัวเลขที่สำคัญมาก และเป็นมาตรวัดหนึ่งที่เฟดใช้เป็นตัวกำหนดทิศทางการวางนโยบายการเงิน สำหรับการจ้างงานในเดือนกรกฎาคม นักวิเคราะห์ประเมินว่าการจ้างงานในเดือนที่แล้วจะมีตัวเลขอยู่ที่ 950,000 ตำแหน่ง ในขณะที่อัตราการว่างงานคาดว่าจะลดลงเหลือ 5.7% เทียบกับตัวเลขในเดือนมิถุนายนซึ่งออกมาอยู่ที่ 5.9%
กลุ่มหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมามากที่สุดในเดือนกรกฎาคมคือเฮลท์แคร์ +4.9% อสังหาริมทรัพย์ +4.62% สาธารณูปโภค +4.33% เทคโนโลยี +3.9% ส่วนกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดคือกลุ่มอุตสาหกรรม การเงินและพลังงานที่รวมกันแล้วปรับลดลง 8.2% แม้ว่าราคาน้ำมันจะวิ่งอยู่ในขาขึ้นก็ตาม
สรุปรายชื่อหุ้นที่ทำผลงานได้ดีที่สุดและแย่ที่สุดของดัชนี S&P 500, DJIA และ NASDAQ 100 ในเดือนกรกฎาคม
ดัชนี S&P 500
Moderna (NASDAQ:MRNA) ปรับตัวขึ้นมา 50.5%
Albemarle (NYSE:ALB) ปรับตัวขึ้นมา 22.3%
Dexcom (NASDAQ:DXCM) ปรับตัวขึ้นมา 20.7%
Monolithic Power Systems (NASDAQ:MPWR) ปรับตัวขึ้นมา 20.3%
Chipotle Mexican Grill (NYSE:CMG) ปรับตัวขึ้นมา 20.2%
Las Vegas Sands (NYSE:LVS) ปรับตัวลดลง 19.6%
Wynn Resorts (NASDAQ:WYNN) ปรับตัวลดลง 19.6%
Norwegian Cruise Line Holding (NYSE:NCLH) ปรับตัวลดลง 18.3%
Carnival Corp. (NYSE:CCL) ปรับตัวลดลง 17.9%
Diamondback Energy (NASDAQ:FANG) ปรับตัวลดลง 17.9%
ดัชนีดาวโจนส์ (DJIA)
Nike (NYSE:NKE) ปรับตัวขึ้นมา 8.4%
Honeywell International (NASDAQ:HON) ปรับตัวขึ้นมา 6.6%
Apple ปรับตัวขึ้นมา 6.5%
Procter & Gamble (NYSE:PG) ปรับตัวขึ้นมา 5.4%
Coca-Cola (NYSE:KO) ปรับตัวขึ้นมา 5.4%
Walgreens Boots Alliance (NASDAQ:WBA) ปรับตัวลดลง 10.4%
Boeing (NYSE:BA) ปรับตัวลดลง 5.5%
Caterpillar (NYSE:CAT) ปรับตัวลดลง 5%
Intel (NASDAQ:INTC) ปรับตัวลดลง 4.3%
IBM (NYSE:IBM) ปรับตัวลดลง 3.8%
ดัชนีแนสแด็ก 100
Moderna ปรับตัวขึ้นมา 50.5%
Atlassian Corp. (NASDAQ:TEAM) ปรับตัวขึ้นมา 26.6%
Dexcom ปรับตัวขึ้นมา 20.7%
Align Technologies (NASDAQ:ALGN) ปรับตัวขึ้นมา 13.88%
AMD (NASDAQ:AMD) ปรับตัวขึ้นมา 13.1%
Pinduoduo (NASDAQ:PDD) ปรับตัวลดลง 27.9%
Trip.com Group (NASDAQ:TCOM) ปรับตัวลดลง 26.9%
Baidu.com ปรับตัวลดลง 19.6%
Activision Blizzard (NASDAQ:ATVI) ปรับตัวลดลง 12.4%
NetEase (NASDAQ:NTES) ปรับตัวลดลง 11.3%