ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้สื่อหลักเป็นพันธมิตรใหม่ในการช่วยกระจายคำขวัญ “เงินเฟ้อเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว” ที่ผ่านมาสำนักข่าวด้านการเงินต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการหานักวิเคราะห์ระดับหัวกะทิมาช่วยยืนยันมุมมองของเฟดว่าปัญหาสินค้าราคาแพงและซัพพลายเชนคอขวดเป็นเพียงผลกระทบชั่วคราวเท่านั้น อย่างไรก็ตามอินดิเคเตอร์ที่เป็นตัวบ่งชี้อย่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งรุ่น 5 ปีและ 10 ปีกลับวิ่งสวนทางในสิ่งที่เฟดพูดมาตลอด แม้จะมีนักลงทุนเดิมพันว่าเงินเฟ้อจริงไม่จริงหรือไม่อยู่เป็นจำนวนมาก แต่น้อยคนนักที่จะกล้าพูดหรือวิเคราะห์ถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา
อันที่จริงเราเห็นได้ชัดอยู่แล้วว่านักลงทุนมีความกังวลกับเงินเฟ้อมาโดยตลอด สังเกตได้จากการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทุกครั้งจะต้องมีนักวิเคราะห์ออกมาคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่เฟดจะพูดถึงเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือปรับนโยบายทางการเงินให้รัดกุมขึ้นอย่างน้อยสัก 1 ประโยคก็ยังดี นักการเงินก็เคยออกมาเตือนให้ระวังปัญหากระแสเงินสดล้นระบบ แต่จนถึงตอนนี้เฟดก็ยังไม่เคยให้กรอบเวลาที่ชัดเจนกับตลาดลงทุนเลย อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้นักลงทุนอดเป็นห่วงพอร์ตตัวเองไม่ได้คือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ผลสำรวจจากคณะบริหารธุรกิจของมหาลัยชิคาโกเมื่อเดือนที่แล้วได้ข้อสรุปว่ามี 33% ที่เห็นด้วยกับนโยบายการเงินของเฟดตอนนี้ แม้จะแลกมาด้วยความเสี่ยงของปัญหาเงินเฟ้อในระยะยาว ที่สำคัญคนกลุ่มนี้ยังเชื่อมั่นต่อมุมมองของเฟดที่มีต่ออนาคตด้วย แต่เมื่อไปดูสัดส่วนที่เหลือจะเห็นว่า 30% ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของเฟดและอีก 36% ไม่แน่ใจ หากอ้างอิงจากผลสำรวจนี้ ดูเหมือนว่าความเห็นเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจได้แบ่งออกเป็นฝักฝ่ายแล้ว
นายแลร์รี่ ซัมเมอร์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและนักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อธิบายว่าเหตุการณ์ที่พันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น สวนทางกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่านโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายที่ใช้อยู่ในตอนนี้ทำให้มีเงินในระบบมากจนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น
สตีเว่น รัตเนอร์ อดีตนักการเมืองจากพรรคเดโมแครต ก็ได้ออกมาสนับสนุนคำพูดของแรร์รี่ เขาให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร ‘New York Times’ ว่า
“ผมไม่เชื่อว่า breakeven rates ของตลาดพันธบัตรภายในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีตัวเลขอยู่ที่ 2.4% แต่ผมกล้าพูดได้เลยว่าปัญหาเงินเฟ้อที่ลอยตัวอยู่ในตอนนี้ มีโอกาสสูงมากที่เฟดจะตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายการแบบฉับพลัน หรืออาจจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้”
การที่สื่อเริ่มพูดถึงเรื่องเงินเฟ้อมากขึ้น ทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นหัวข้อถกเถียงทางการเมืองไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกำลังพยายามที่จะให้ร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจอีกล้านล้านเหรียญผ่านมติของสภาคองเกรสให้ได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตอนนี้เราจะได้เห็นนักการเมืองจากพรรคเดโมแครตออกมาสนับสนุนว่าเงินเฟ้อเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเต็มไปหมด
คนที่กำลังลุ้นให้กฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้ผ่านมาที่สุดคนหนึ่งต้องเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเจอโรม พาวเวลล์ อย่างแน่นอน แม้ว่าที่มาของเขาจะมาจากฝั่งรีพลับลิกัน แต่กับเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เขากับท่านประธานาธิบดีกลับมีมุมมองที่คล้ายกันอยู่พอสมควร
การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ก่อนหน้านี้ เจอโรม พาวเวลล์ก็ยังยืนยันชัดเจนว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนกว่าเป้าหมายเร่งอัตราการจ้างงานจะบรรลุผล แต่สิ่งที่นักลงทุนกลับให้ความสนใจมากที่สุดคือประโยคที่อยู่ในถ้อยแถลงหลังการประชุมที่บอกว่า “นโยบายการเงินจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่กำลังจะออกมา” ประโยคนี้ทำให้นักลงทุนเชื่อว่าเฟดเริ่มคิดที่จะลดวงเงินเพื่อซื้อพันธบัตรฯ แล้วจริงๆ นักเศรษฐศาสตร์บางคนถึงกับคาดการณ์เลยว่าเราจะได้กรอบเวลาของเรื่องนี้ที่แน่นอนจากการประชุม FOMC ภายในเดือนกันยายน - พฤศจิกายน
อย่างไรก็ตาม มีคนที่ใจร้อนอยากเห็นการปรับนโยบายการเงินเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้เลย คนๆ นั้นก็คือคุณเจมส์ บลูบาร์ด ประธานเฟดแห่งเซนต์ หลุยส์ เขากล่าวว่า
“ผมอยากให้เฟดเริ่มลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรฯ ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลินี้เลย และถ้าเป็นเช่นนี้จริง ผมก็หวังให้ขั้นตอนการลดสภาพคล่องนี้จบลงภายในเดือนมีนาคมปีหน้า เราอยู่กับนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมานานเกินไปแล้ว และเฟดไม่ควรมีนโยบายช่วยเหลือเศรษฐกิจใดๆ เพิ่มเติมอีกแล้วตราบใดที่เงินเฟ้อยังปรับตัวขึ้นอยู่เรื่อยๆ”
เจมส์ บลูบาร์ด จะมีสิทธิ์เป็นหนึ่งในผู้ที่ลงคะแนนโหวตนโยบายการเงินใน FOMC ปีหน้า เขาพูดว่าต่อให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงมาจริง ก็ไม่คิดว่าปัญหานี้จะจบลงได้ภายในปี 2022 เราอาจจะต้องอยู่ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่วิ่งอยู่ระหว่าง 2.5% - 3% ที่สำคัญก็คือเฟดจำเป็นต้องเตรียมให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา ในวันที่เงินเฟ้อลดลงเองตามธรรมชาติ ให้ประกาศกรอบเวลาที่จะรัดกุมนโยบายการเงินทันที ซึ่งจะทำให้เรากลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบอีกครั้ง