ดูเหมือนว่ากำแพงแห่งการปฏิเสธความกังวลเงินเฟ้อของเฟดจะมีรูรั่วให้เห็นเสียแล้ว และคนที่เผยรูรั่วให้เห็นนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนดีคนเดิมนายเจอโรม พาวเวลล์ ที่ตลอดมาเป็นคนพูดมาตลอดว่าเงินเฟ้อนั้นเป็นเพียงแค่เรื่องชั่วคราว เหตุการณ์ที่เผยให้เห็นรอยรั่วนี้คือถ้อยแถลงต่อสภาคองเกรสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเขาเป็นคนยอมรับเองว่า “อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมาเร็วกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประเมินเอาไว้” อย่างไรก็ตามเขาก็ทิ้งท้ายไว้ด้วยประโยคแก้เขินว่า “ไม่ลังเลที่จะปรับนโยบายการเงินทันทีหากเห็นว่าจะไม่สามารถคุมเงินเฟ้ออยู่แล้ว”
แม้จะถูกบี้จากคณะกรรมการทั้งในสภาสูงและสภาล่าง แต่เจอโรม พาวเวลล์ก็ยังคงย้ำคำเดิมว่าภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นมาเป็นเพียงแค่เรื่องชั่วคราว พร้อมกับให้เหตุผลว่าสาเหตุที่เงินเฟ้อเติบโตเร็วเกินไปเป็นเพราะการกลับมาเปิดเมืองเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจ ปัญหาขาดแคลนแรงงานและซัพพลายเชนคอขวด ไม่แปลกใจที่เราได้เห็นภาพเจอโรม พาวเวลล์ถูกไล่กวดอย่างหนักเพราะหลักฐานอย่างตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนมิถุนายนแบบปีต่อปีกระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 5.4% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 ในขณะที่ตัวเลขแบบเดือนต่อเดือนก็เพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ 0.5% เป็น 0.9%
หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เป็นหนึ่งในสี่มาตรวัดอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ
หรือเจเน็ต เยลเลนและเจอโรม พาวเวลล์จะร่วมมือกันควบคุมการเงินสหรัฐฯ?
การปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นนำมาซึ่งคำถามที่ว่าเจอโรม พาวเวลล์ยังเหมาะสมกับตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ อยู๋หรือไม่ กระแสส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่าประธานาธิบดิโจ ไบเดนจะยังทำตามธรรมเนียมเดิมและให้เจอโรม พาวเวลล์ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป มีเพียงนักเศรษฐศาสตร์ไม่กี่คนและบรรณาธิการเว็บไซต์ The American Prospect อย่างโรเบิร์ต คุตต์เนอร์ที่มองว่าโจ ไบเดนจะแต่งตั้งคนใหม่ขึ้นมาแทน
ก่อนหน้านี้คุตต์เนอร์เคยนำข้อมูลมาเปิดเผยว่าโจ ไบเดนจะตั้งเจเน็ต เยลเลนขึ้นเป็น รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ดังนั้นนักลงทุนจึงให้ความสนใจคำพูดของคุตต์เนอร์พอสมควรเมื่อเขาบอกว่าเจอโรม พาวเวลล์จะหมดพันธะกับตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก่อนหน้านั้นทำเนียบขาวจะเสนอเชื่อประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนใหม่ไปให้กับสภาคองเกรสก่อน
เชอร์ร็อด บราวน์ วุฒิสมาชิกจากรัฐโอไฮโอวิจารณ์เจอโรม พาวเวลล์ในสัปดาห์ที่แล้วค่อนข้างรุนแรงเมื่อได้ยินว่าเจอโรม พาวเวลล์ยังคิดที่จะปล่อยนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายต่อไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะทำให้ธนาคารมีอำนาจมากเกินไป ทั้งๆ ที่คนในแวดวงการเงินเริ่มแสดงความไม่เห็นกับการวางนโยบายของเฟดเช่นนี้ มีเพียงเจเน็ต เยลเลน และกลุ่มคนไม่กี่คนที่ยังมองว่าเจอโรม พาวเวลล์ยังทำงานได้ดี แม้แต่การสัมภาษณ์กับช่องทีวีโทรทัศน์รายการหนึ่ง เยลเลนก็เลี่ยงที่จะตอบคำถามนี้ พูดเพียงแต่ว่าเฟดทำหน้าที่ได้เหมาะสมแล้ว
ยิ่งเจเน็ต เยลเลนตอบคำถามแบบนี้ก็ยิ่งเพิ่มความสงสัยให้กับนักลงทุนมากขึ้นไปอีก เพราะก่อนหน้านี้เจเน็ต เยลเลนก็เคยเป็นประธานเฟดมาก่อน และเธอก็รู้จักเจอโรม พาวเวลล์ดีในฐานะหนึ่งในผู้มีสิทธิ์วางนโยบายการเงินคนหนึ่งของธนาคารกลางสหรัฐฯ มาก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่แปลกหากจะมีคนตั้งสมมุติฐานว่าหรือกระทรวงการคลังกับธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังร่วมมือกันเพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่าง และการตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินไปเรื่อยๆ ของเฟดก็ยิ่งเข้าทางนโยบายการคลังที่เจเน็ต เยลเลนอยากให้เป็น
ลำพังคำพูดของเจอโรม พาวเวลล์ในตอนนี้ก็ยิ่งทำให้คนเชื่อเขาน้อยลงอยู่แล้ว หากเยลเลนกระโดดมาร่วงวงปกป้องพาวเวลล์ด้วย ก็อาจทำให้เธอกลายเป็นเป้าหมายคนถัดไปที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจทุกอย่างได้บอกอยู่แล้วว่าเงินเฟ้อกำลังเร่งตัวขึ้นมาในทุกๆ เดือน นอกจากตัวเลข CPI ที่พูดถึงไปก่อนหน้านี้ ยังมีตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ปรับตัวขึ้น 1.0% MoM และ 7.3% แบบ YoY รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจจากประธานเฟด 12 สาขาก็ยังเห็นตรงกันว่าเงินเฟ้อจะคงอยู่กับสหรัฐฯ ไปอีกระยะหนึ่ง
ประธานเฟดบางคนได้ออกมาบอกกับตลาดว่าให้ใจเย็นรออีกนิด ตอนนี้ใกล้ถึงเวลาที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือทำนโยบายการเงินให้รัดกุมขึ้นแล้ว เจมส์ บลูราร์ด ประธานธนาคารกลางสาขาเซนต์ หลุยส์กล่าวว่าใกล้ถึงเวลาที่จะลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลแล้ว ตอนนี้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจถือว่าเป็นไปตามเป้าของเรา เหลือเพียงการเติบโตในตลาดแรงงานอีกเล็กน้อยเท่านั้น
โทมัส บาร์กิ้น ประธานเฟดสาขาริชมอนต์ให้สัมภาษณ์กับ Wall Street Journal ว่าตอนนี้ยังเร็วเกินไปหากเฟดจะลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์จากรัฐบาลมูลค่า $120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้อัตราจำนวนประชากรเทียบกับการจ้างงานในเดือนมิถุนายนยังมีระดับอยู่ที่ 58% เท่านั้น อย่างน้อยที่สุดเฟดต้องการเห็นตัวเลขดังกล่าวขึ้นยืนเหนือ 59% ให้ได้ ซึ่งก่อนโควิดระบาด ตัวเลขนี้เคยอยู่ที่ 61.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020
ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่ชัดเจนว่าจะปรับนโยบายการเงินให้รัดกุมขึ้นเมื่อไหร่ แต่ธนาคารกลางบางแห่งได้ตัดสินใจนำหน้าไปก่อนสหรัฐฯ แล้ว ยกตัวอย่างเช่นธนาคารกลางแคนาดา (BoC) ได้ตัดสินใจลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลแคนาดาในเดือนเมษายนคิดเป็นวงเงิน 1 พันล้านดอลลาร์แคนาดา จากเดิม 3 พันล้านดอลลาร์แคนาดา ($2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ) ที่สำคัญพวกเขายังบอกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะลดวงเงินอีก 1 พันล้านดอลลาร์แคนาดา ($784 ล้านเหรียญสหรัฐ) เร็วๆ นี้
ไมเคิล ซอนเดอร์ส หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) แสดงความเห็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า BoE ควรออกมาตรการอะไรสักอย่างเพื่อควบคุมเงินเฟ้อได้แล้ว และเขาเห็นด้วยหากจะลดวงเงินเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในการประชุมเดือนถัดไป ในขณะเดียวกันเดวิด แรมสเดน อีกหนึ่งในคณะกรรมการฯ กล่าวแสดงความเป็นกังวลเงินเฟ้อเมื่อเห็นตัวเลขเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาเป็น 2.5% YoY ในเดือนมิถุนายน แน่นอนว่าทั้งสองคนไม่เห็นด้วยกับผู้ว่าการ BoE คนปัจจุบันนายแอนดรูว์ ไบลีย์ที่ยังเชียร์ให้คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเอาไว้ดังเดิม