ถึงแม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะยังไม่ได้คำตอบว่าเทรนด์ไหนกันแน่ที่จะเป็นผู้ควบคุมดัชนีหลักทั้งสามอย่างเอสแอนด์พี 500 ดาวโจนส์และแนสแด็ก แต่สัปดาห์นี้ตลาดลงทุนน่าจะได้เห็นแนวโน้มของราคาที่ชัดเจนขึ้นเนื่องจากเรากำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาของการรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2021 ของบริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ
ปัจจัยที่ช่วยดันตลาดหุ้นอเมริกาให้สามารถปรับตัวขึ้นมาจากจุดต่ำสุดในรอบสัปดาห์ที่แล้วคือเทรนด์ของการ Reflation ซึ่งทำให้นักลงทุนในตลาดคิดว่าหุ้นที่มีโอกาสเติบโตได้ดีในช่วงไตรมาสที่ 3 น่าจะเป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ดัชนีรัสเซล 2000 คือดัชนีที่ได้ประโยชน์จากการกลับมาจับจ่ายใช้สอยของชาวอเมริกันมากที่สุด ขนาดว่าเทียบกับแนสแด็ก 100 ยังพบว่ารัสเซล 2000 สามารถปรับตัวขึ้นได้มากกว่า 2.1% ในขณะที่แนสแด็ก 100 ทำขาขึ้นได้เพียง 0.7% เท่านั้น
สัปดาห์ที่แล้วกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุดได้แก่กลุ่มการเงิน (+2.9%) จากการปรับตัวขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและขานรับการร่นระยะเวลาขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ธนาคารได้ดอกเบี้ยมากขึ้น กลุ่มหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาเป็นอันดับสองคือกลุ่มพลังงาน (+2.1%) การกลับมาเปิดเมืองของอเมริกาทำให้ความต้องการพลังงานปรับตัวขึ้นตามไปด้วย
ข้อมูลจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยในการเดินทางของประเทศสหรัฐอเมริกา (TSA) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมระบุว่าตัวเลขการตรวจสอบสัมภาระเดินทางของผู้โดยสารในสนามบินเพิ่มขึ้นสูงกว่าปี 2019 ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการระบาด ชี้ให้เห็นถึงความต้องการท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนที่กลับมาแล้ว นอกจากการเดินทางด้วยเครื่องบินแล้ว ชาวอเมริกันมีความต้องการจะท่องเที่ยวด้วยรถยนต์ส่วนตัวภายในช่วงฤดูร้อน ซึ่งยิ่งทำให้ความต้องการพลังงานมีมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด การประชุมของกลุ่ม OPEC+ ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปก็มีส่วนต่อระบบอุปสงค์อุปทานของตลาดพลังงานด้วย
กลุ่มหุ้นที่ปรับตัวขึ้นเป็นอันดับสามคือกลุ่มวัสดุก่อสร้าง (+2%) อันดับสี่คือกลุ่มอุตสาหกรรม (+1.6%) เทคโนโลยีและผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ปรับตัวขึ้นมาตัวละ 0.9% สิ่งที่น่าสนใจในตลาดหุ้นสัปดาห์ที่แล้วคือภาพที่ไม่ได้เห็นบ่อยเมื่อดัชนีเอสแอนด์พี ดาวโจนส์ และแนสแด็กกอดคอกันทำจุดสูงสุดตลอดกาลในเวลาที่ใกล้ๆ กัน เพราะโดยปกติแล้วหุ้นเทคโนโลยีมักจะไม่ปรับตัวขึ้นในช่วงที่หุ้นกลุ่มเน้นมูลค่ากำลังอยู่ในแนวโน้มกระทิง
ถึงช่วงต้นปี หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจะย่อตัวลงมาบ้าง แต่หากพิจารณากราฟรายสัปดาห์ รายเดือนหรือรายสามเดือนมาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่ากราฟของดัชนีแนสแด็ก 100 ยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นที่แข็งแกร่ง
นับตั้งแต่จุดต่ำสุดในเดือนพฤษภาคมมาจนถึงปัจจุบัน ดัชนีแนสแด็ก 100 ได้ปรับตัวขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น 14%
เทียบกันกับขาขึ้นของรัสเซล 2000 แล้ว (ในช่วงเวลาเดียวกัน) จะเห็นว่ารัสเซลสามารถทำขาขึ้นได้เพียงครึ่งเดียวของแนสแด็ก 100 (6.68%) นอกจากนี้รูปแบบการวิ่งของกราฟก็ยังแตกต่างกันอีกด้วย แนสแด็ก 100 ยังคงทำขาขึ้นไต่ตามเทรนด์ไลน์ขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนรัสเซล 2000 กลับวิ่งอยู่ในกรอบไซด์เวย์
ปัจจัยที่จะมีผลกระทบกับการลงทุนในไตรมาส 3 มากที่สุดจะมีอยู่สองประเด็น หนึ่งคือเงินเฟ้อในประเทศที่พัฒนาแล้ว และการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในประเทศที่ด้อยพัฒนา ความน่ากังวลในตอนนี้คือประเทศที่ด้อยพัฒนากลับไม่สามารถจัดการกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้ดี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกในภาคส่วนต่างๆ มายังประเทศที่พัฒนาแล้ว
ตามธรรมเนียมของการรายงานผลประกอบการทุกครั้ง กลุ่มหุ้นที่จะได้รายงานผลประกอบการก่อนจะเป็นหุ้นในกลุ่มธนาคาร สัปดาห์นี้ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแบล็คร็อค (NYSE:BLK) เจพีมอร์แกน (NYSE:JPM) และมอร์แกน สแตนลีย์ (NYSE:MS) ก็จะมีคิวรายงานผลประกอบการในสัปดาห์นี้กันทั้งหมด ทั้งสามธนาคารซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์รวมกัน $12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำกำไรในไตรมาสที่ 2 ได้ดีซึ่งสะท้อนและสอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอเมริกา
ธนาคารกลางในพื้นที่ทางเศรษฐกิจสำคัญของโลกยังเชื่อว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคของตนยังจำเป็นต้องอัดเงินเยียวยาเพิ่มเติม ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBoC) ได้ปรับลดเพดานเงินทุนสำรองของประเทศตัวเองลง ในขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มเงินของตัวเองเข้าไปช่วยเศรษฐกิจของชาติในเอเชียอื่นๆ ธนาคารกลางแห่งยุโรป (ECB) ได้ปรับเพดานเงินเฟ้อให้สามารถขึ้นเกิน 2% ได้อย่างเช่นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ทำไปตั้งแต่ปีก่อนหน้า
การดีดตัวกลับขึ้นมาของกราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีสร้างความหวังให้กับนักลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงิน แต่แท่งเทียนขาขึ้นเพียงแท่งเดียวเมื่อวันศุกร์จะแกร่งพอที่จะเปลี่ยนเทรนด์ลงได้เลยหรือไม่
แรงดีดขึ้นในวันศุกร์มีความหมายว่าคนกำลังเทขายพันธบัตรรัฐบาล แต่การดีดตัวขึ้นหลังจากหลุดกรอบสามเหลี่ยม (เส้นสีน้ำเงิน) สำหรับนักวิเคราะห์ทางเทคนิคไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าการย่อเพื่อปรับตัวลงต่อ
พฤติกรรมของกราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐสอดคล้องกับพฤติกรรมกราฟผลตอบแทนฯ ที่ได้พูดถึงไปก่อนหน้านี้ ดอลลาร์สหรัฐย่อตัวลงเป็นวันที่สองติดต่อกัน สาเหตุที่นักลงทุนถอดใจจากดอลลาร์ทั้งๆ ที่เฟดร่นระยะเวลาขึ้นอัตราดอกเบี้ยเข้ามาเร็วขึ้นอาจจะเป็นเพราะว่าตลาดตระหนักได้แล้วว่ากว่าจะถึงวันขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ต้องรอไปอีก 29 เดือนนับจากตอนนี้
หากพิจารณากราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จะเห็นว่าราคาวิ่งอยู่ในกรอบไซด์เวย์ขนาดใหญ่ จนกว่ากราฟจะทะลุด้านในด้านหนึ่งไปจึงจะสามารถบอกทิศทางของราคาได้อย่างแท้จริง
ทองคำหลังจากหลุดออกมาจากกรอบสามเหลี่ยมขาลงได้แล้วกลับปรับตัวสูงขึ้น
ขาขึ้นของทองคำไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้ยาก เมื่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ทองคำที่เป็นสินทรัพย์สำรองปลอดภัยจึงปรับตัวขึ้น แนวต้านระยะสั้นของทองคำในตอนนี้อยู่ที่เส้นเทรนด์ไลน์สีแดงหรือ $1,815 ต่อออนซ์
บิตคอยน์แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่สำคัญ ราคายังไซด์เวย์อยู่ในกรอบราคา $40,000 - $30,000 ถ้าจะให้ชัดก็คือวิ่งอยู่ในกรอบแคบๆ ระหว่าง $35,000 - $32,000
น้ำมันดิบปรับตัวขึ้นเป็นวันที่สองหลังจากวันพฤหัสบดีสามารถสร้างแท่งเทียนรูปค้อน (Hammer) ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากความลึกที่ WTI หลุดเส้นเทรนด์ไลน์ (เส้นประ) ลงมา รวมกับอินดิเคเตอร์ MACD ที่เส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นตัดเส้นระยะยาว และ ROC ที่ยังไม่สามารถทะลุเทรนด์ไลน์กลับขึ้นไปได้ โอกาสที่ WTI จะกลายเป็นขาลงระยะสั้นยังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (EDT)
วันอังคาร
08:30 (สหรัฐฯ) ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน: คาดว่าจะลดลงจาก 0.7% เป็น 0.4%
22:00 (นิวซีแลนด์) การประชุมเพื่อปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง: คาดว่าจะคงที่ 0.25%
วันพุธ
02:00 (สหราชอาณาจักร) ดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.1% เป็น 2.2%
08:30 (สหรัฐฯ) ดัชนีราคาผู้ผลิต: คาดว่าจะลดลงจาก 0.8% เป็น 0.5%
10:00 (แคนาดา) การประชุมเพื่อปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง: คาดว่าจะคงที่ 0.25%
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: สัปดาห์ที่แล้วลดลงเป็น 6.866M Bbl
(ยังไม่ยืนยัน) (แคนาดา) ถ้อยแถลงจากธนาคารกลางแคนาดา
21:30 (ออสเตรเลีย) อัตราการจ้างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก 115.2K เป็น 30K
22:00 (ประเทศจีน) รายงานตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม: คาดว่าจะลดลงจาก 8.8% เป็น 7.9%
22:00 (ประเทศจีน) รายงานตัวเลข GDP: YoY คาดว่าจะลดลงจาก 18.3% เป็น 8.1% แต่ QoQ จะเพิ่มขึ้นจาก 0.6% เป็น 1.3%
วันพฤหัสบดี
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานจำนวนคนว่างงานที่ใช้สิทธิประโยชน์จากการว่างงาน: ตัวเลขครั้งก่อน -96.2K
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงจาก 733K เป็น 360K
08:30 (สหรัฐฯ) ดัชนีภาคการผลิตจากเฟดสาขาฟิลาเดเฟีย: คาดว่าจะลดลงจาก 30.7 จุดเป็น 28.3 จุด
18:45 (นิวซีแลนด์) ดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่า QoQ จะลดลงจาก 0.8% เป็น 0.7%
23:00 (ญี่ปุ่น) การประชุมเพื่อปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง รายงานภาพรวมเศรษฐกิจและถ้อยแถลงจากธนาคารกลาง
วันศุกร์
05:00 (ยูโรโซน) ดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่าจะคงที่ 1.9%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีกพื้นฐาน: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -0.7% เป็น 0.5%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีก: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -1.3% เป็น -0.4%