เชื่อว่าการลงทุนในสัปดาห์นี้จะไม่ง่ายเหมือนสัปดาห์ที่แล้วแน่นอน ดัชนีวัดความผันผวนจะปรับตัวขึ้นเพราะการย้ายฝั่งของนักลงทุนจากพันธบัตรหันไปถือครองหุ้นกลุ่มเน้นมูลค่าและการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของเดือนมิถุนายน
จากพฤติกรรมของตลาดหุ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดูเหมือนว่านักลงทุนจะสามารถซึมซับผลกระทบที่เกิดจากการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เป็นที่เรียบร้อย ดัชนีหลักสามารถปรับตัวกลับขึ้นมาจากต่ำสุด เราเริ่มเห็นสมดุลระหว่างการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่เน้นการเติบโตและเน้นมูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่อาจพูดได้อย่างเต็มปากเหมือนเมื่อสองสัปดาห์ก่อนได้ว่าปีนี้ธีมการลงทุนจะเป็นในเรื่องของ Reflation Trade
ตลาดลงทุนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาพบว่าหุ้นในกลุ่มการเงินปรับตัวขึ้น 1.2% เพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่นอนว่าธนาคารหรือผู้ปล่อยกู้คือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด ส่วนกลุ่มหุ้นที่เคยร้อนแรงที่สุดอย่างเทคโนโลยีกลับปรับตัวลดลงจนติดลบ 0.1% ตามมาด้วยกลุ่มผู้ให้บริการด้านการสื่อสารปรับตัวขึ้น 0.1%
แต่หากสรุปผลงานทั้งสัปดาห์แล้วปรากฎว่ากลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่สุดคือกลุ่มการเงินและพลังงานที่สามารถปิดบวก 4.8% และ 5.6% ส่วนหุ้นในกลุ่มเทคฯ และผู้ให้บริการด้านการสื่อสารสามารถปิดบวกได้ 2.2% และ 3.3% หุ้นในกลุ่มพลังงานยังคงได้รับอานิสงส์จากความต้องการพลังงานเพื่อเดินทางในช่วงฤดูร้อนของโลกฝั่งตะวันตก นโยบายลดโลกร้อนและการเจรจาสนธิสัญญานิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน
หุ้นในกลุ่มวัสดุก่อสร้างในสัปดาห์ที่แล้วยังขึ้นลงด้วยจังหวะของตัวเอง หลังจากขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ นักลงทุนก็พากันเทขายหุ้นในกลุ่มนี้จนกดให้ราคาลดลงมา 5.2% ในเดือนก่อนหน้า แต่ถึงอย่างนั้นหุ้นในกลุ่มนี้ก็ยังถือว่าสร้างขาขึ้นได้มากกว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และไหนๆ เราก็กำลังจะเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 กันแล้ว เราจะมาดูกันว่าตลอดสามเดือนที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มไหนทำผลงานเป็นอย่างไรกันบ้าง
เริ่มกันที่หุ้นกลุ่มที่ทำขาขึ้นได้ดีที่สุดตลอดทั้งไตรมาสที่สองคือหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี 12.25% ถึงแม้ในเดือนนี้จะชะลอความร้อนแรงลงแต่ก็ยังถือว่าเป็นผู้นำเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่นทั้งหมด อันดับสองตกเป็นของหุ้นพลังงาน 12.5% ผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร 10.3% และการเงิน 9.1% เมื่อเทียบเป็นอัตราผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 2021 มาจนถึงปัจจุบัน (YTD) พบว่าหุ้นในกลุ่มการเงินสามารถทำกำไรได้ 11.7% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง 13.5% กลุ่มอุตสาหกรรม 15.6% การเงิน 25.25% ผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร 19.5% และผู้ที่ทำขาขึ้นได้ดีที่สุดคือพลังงานด้วยตัวเลข 46%
สำนักข่าวบลูมเบิร์กสรุปปัจจัยที่ผลักดันให้หุ้นกลุ่มพลังงานและการเงินเป็นหุ้นที่เติบโตมากที่สุดในไตรมาสที่ 2 ปี 2021 เพราะเงินเฟ้อยังมีโอกาสขึ้นต่อได้อีกในอนาคต แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะประกาศร่นระยะเวลาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเข้ามาแล้ว แต่ก็ยังเหลือเวลาอีกตั้ง 30 เดือนกว่าเวลาที่เฟดคาดการณ์เอาไว้จะมาถึง ส่วนนักลงทุนในตอนนี้นั้นพวกเขาทำเพียงเปลี่ยนกลุ่มหุ้นที่จะลงทุนไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าวิกฤตโควิดในฝั่งตะวันตกจะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและซัพพลายเชนคอขวด
การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นในสองวันสุดท้ายของสัปดาห์ที่แล้วทำให้นักลงทุนบางส่วนเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จนทำให้กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้น
กราฟผลตอบแทนฯ อายุ 10 ปีดีดตัวกลับขึ้นมาจากกรอบราคาขาลงด้านล่าง สร้างเป็นแท่งเทียนรูปแบบค้อนกลับหัว (Inverted Hammer) สิ่งที่เราค่อนข้างเป็นกังวลคือขาขึ้นครั้งนี้อาจเป็นเพียงตัวล่อ เพราะก่อนหน้านั้นกราฟผลตอบแทนฯ อายุ 10 ปีได้สร้างรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) สำหรับขาลงเอาไว้ก่อนแล้ว
แม้ว่าผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยหนุนต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นอย่างมาก แต่พฤติกรรมของกราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐล่าสุดทำให้ขาขึ้นครั้งนี้กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะปรับตัวกลับเข้าสู่เทรนด์ลงเดิมอีกครั้ง
ในตอนนี้กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐได้วิ่งอยู่ในกรอบไซด์เวย์ระหว่าง 89.52 จุดถึง 93.44 จุด ซึ่งบริเวณที่ 92.50 จุดที่ดัชนีพึ่งจะขึ้นมาทำจุดสูงสุดสามารถถูกพิจารณาได้ว่าเป็นบริเวณไหล่ขวาของรูปแบบหัวไหล่ ที่อาจจะส่งกราฟดัชนีให้เข้าสู่ขาลงต่อ
ทองคำเองก็อยู่ในจุดที่ต้องเลือกเช่นกันไม่ต่างจากดอลลาร์
ในขณะที่ดอลลาร์กำลังสร้างรูปแบบหัวไหล่ด้านคว่ำ ทองคำก็กำลังสร้างหัวไหล่ด้านหงาย (Inverted Head & Shoulder) มีหลายครั้งในสัปดาห์ที่แล้วที่ทองคำพยายามที่จะปรับตัวกลับขึ้นไปยืนเหนือกรอบรูปธงในปัจจุบันให้ได้ แต่สุดท้ายแล้วรูปแบบแท่งเทียนแต่ละแท่งที่เป็นของฝั่งขาขึ้นกลับไม่สามารถยืนยันความแข็งแกร่งของเทรนด์ได้เลย หรือทองคำจะวิ่งกลับลงไปทดสอบจุดต่ำสุดของเดือนมีนาคมอีกครั้ง?
กราฟบิทคอยน์หลังจากถูกเทลงมาอย่างหนัก ตลอดทั้งเดือนนี้กราฟบิทคอยน์ก็ได้แต่ทรงตัวอยู่เหนือ $30,000 แม้จะมีความพยายามที่จะกลับขึ้นไปยืนเหนือ $40,000 ให้ได้ แต่ก็ยังทำให้สำเร็จ และยิ่งกราฟยังวิ่งอยู่ที่ $33,000 นานเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนว่าความอันตรายที่จะมีโอกาสปรับตัวลงต่อได้ก็ยิ่งมีสูงมากขึ้นเท่านั้น
จากภาพหากเราพิจารณาว่าช่วงต้นปี 2021 คือบริเวณไหล่ซ้าย ช่วงที่กราฟวิ่งอยู่ ณ $60,000 เป็นส่วนหัวและที่ราคากำลังไซด์เวย์ในปัจจุบันเป็นไหล่ขวา ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าราคาจะปรับตัวลดลงต่อ โดยแนวรับสุดท้ายที่เราพิจารณาให้เป็นจุดตัดสินว่าขาลงไปจะไปต่อคือ $29,000
ตอนนี้คงไม่มีตลาดไหนที่สนุกสนานกับขาขึ้นไปได้ดีกว่าตลาดน้ำมันดิบ รูปแบบดาวตก (Evening Star) ที่เราได้วิเคราะห์เอาไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถูกขาขึ้นสามารถเอาชนะไปได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าราคาจะยังไม่สามารถขึ้นยืนเหนือ $74 ต่อบาร์เรลได้ก็ตาม
ถ้าหากตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบไม่สามารถขึ้นยืนเหนือ $74 ต่อบาร์เรล ก็มีโอกาสที่ราคาน้ำมันดิบจะกลับลงมาทดสอบกราฟสามเหลี่ยมด้านล่างอีกครั้ง แต่ก่อนจะถึงตรงนั้น ราคาจะต้องเจาะแนวรับ $70 ต่อบาร์เรลให้ได้ก่อน
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์นี้ (เวลาทั้งหมดคำนวณตาม EDT)
วันอังคาร
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจาก CB: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 117.2 เป็น 119
21:00 (ประเทศจีน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะลดลงจาก 51.0 เป็น 50.7 จุด
วันพุธ
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าจะคงที่ -1.5% แบบ QoQ และ -6.1% แบบ YoY
03:55 (เยอรมัน) รายงานตัวเลขการว่างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก -15% เป็น -16%
05:00 (ยูโรโซน) รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่าจะลดลงจาก 2.0% เป็น 1.9% YoY
08:15 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานฯ จาก ADP: คาดว่าจะลดลงจาก 978K เป็น 600K
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าจะลดลงจาก 1.1% แบบ MoM เป็น -0.9%
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยที่รอการจำนอง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -4.4% เป็น -1.0%
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: สัปดาห์ที่แล้วลดลง 7.614M Bbl
19:50 (ญี่ปุ่น) ดัชนีภาคการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จาก Tankan: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 5 เป็น 15
19:50 (ญี่ปุ่น) ดัชนีภาคการผลิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จาก Tankan: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -1 เป็น 3
21:45 (ประเทศจีน) ดัชนี PMI ภาคการผลิตจากมหาวิทยาลัยไซซิน: คาดว่าจะลดลงจาก 52.0 จุดเป็น 51.8 จุด
วันพฤหัสบดี
03:55 (เยอรมัน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจาก 64.4 จุดเป็น 64.9 จุด
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะคงที่ 64.2 จุด
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงจาก 411K เป็น 386K
10:00 (สหรัฐฯ) ดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก ISM: คาดว่าจะลดลงจาก 61.2 จุดเป็น 61.0 จุด
15:00 (สหราชอาณาจักร) ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางอังกฤษนายแอนดรูว์ ไบลีย์
วันศุกร์
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 559K เป็น 675K
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขการว่างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก 5.8% เป็น 5.7%
08:30 (ยูโรโซน) ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) นางสาวคริสตีน ลาการ์ด