แวะไปดูแซนด์วิชที่ 7-11 แถวบ้านมา 10 กว่าร้านครับ แปลกใจที่เห็นสินค้าหลายตัวไม่ใช่ของ NSL เพราะเข้าใจว่าทำ MOU ถึงปี 2569 ห้าม 7-11 ขายสินค้าคล้ายกันและไม่ให้ NSL ไปขายที่อื่นเช่นกัน
Thai Union ออกสินค้าใหม่แซนวิชโฮลวีท ทูน่าผักโขมชีส และแซนวิชโฮลวีท ทูน่าคอร์นสลัด
Alfredo มีแซนวิชไส้ไก่สไลซ์เนยกระเทียมชีส และพิซซาฮาวายเอี้ยน
CPF มีพานินี่ทูน่าชีส
รีบกลับบ้านมาเปิดดู Filing เขียนแบบนี้ครับ
CPALL (BK:CPALL) จะไม่ซื้อสินค้าจากผู้ขายรายอื่น ที่มีหน้าตา รูปแบบ ลักษณะ สูตร กรรมวิธี กระบวนการผลิต ส่วนผสม ส่วนประกอบ วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ และวิธีการใดๆ ของสินค้า เหมือนกับที่ซื้อจาก NSL เว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจาก NSL
วันนี้เลยโทรหา IR ว่า ความแตกต่างของ TU, Alfredo, CPF คืออะไร เพราะเราแยกไม่ออกเหมือนกัน คำตอบที่ได้คือ
ปกติจะมีการคุยแผนประจำปีกันอยู่แล้วช่วงปลายปีว่าจะทำสินค้าอะไรออกมาบ้าง มีการทำวิจัยร่วมกัน ทำสินค้ามาให้ชิม แล้วก็วางขายในแต่ละเดือน แต่ที่เราเห็นว่ามีสินค้าคล้ายกันบ้าง ก็มีการคุยกันกับทาง CPALL บางอย่างแป้งคนละแบบ ส่วนผสมอาจจะไม่เหมือนกันบ้าง NSL ก็ลองมาเคาะต้นทุนดูว่าคุ้มมั้ย หรือกรรมวิธีการทำยุ่งยากหรือเปล่า บางตัวอาจจะไม่คุ้ม หรือทำตัวที่ขายดีอยู่แล้วอาจจะกำไรกว่า ก็เลยขอผ่าน CPALL เลยขอให้เจ้าอื่นลองทำแล้วมาวางขาย
สรุปคือ MOU มีอยู่จริง แต่ว่ามีข้อยกเว้นที่คุยกันได้ ก็ต้องลองดูว่าจะมีสินค้าอื่นๆ หรือ supplier อื่นมาทำแซนด์วิชเพิ่มเติมมั้ย เพราะถ้ามีเยอะๆ แล้วทำอร่อย ราคาไม่แพง ก็จะกลายเป็นปัญหาในอนาคตให้ NSL ได้
================
ประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมสำหรับหุ้น NSL Foods PCL (BK:NSL)นะครับ
รายได้หลังจากที่ลงไปเหลือ 612 ล้านบาท ตอน Q2 ปีที่แล้ว ก็ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาเป็นลำดับ Q1 ทำยอดขายได้ 763 ล้านบาท ช่วงหลังๆ ของหวานขายดีทั้งเอแคลร์ โมจิ
แนวโน้ม Q2 ดูแล้วดีกว่าปีที่แล้วแน่ๆ เพราะฐานต่ำ แต่เนื่องจากมี work from home เด็กเรียนออนไลน์ ก็จะกระทบยอดขายอยู่บ้าง แต่ยอด 7- Delivery สูงขึ้น และ Food Services ความหวังใหม่ในอนาคต Q2 กระทบจากร้านอาหารปิด แต่ถ้าหลัง COVID น่าจะดี สรุปคือ ถ้าให้เดา รายได้ก็อาจจะทรงตัวหรือต่ำกว่า Q1 เล็กน้อย
GPM ที่กระโดดมาถึง 18.7% หลักๆ มาจากการบริหารจัดการภายในโรงงานเอง หลังจากที่เอา SAP มาลง ทำให้เห็นรายละเอียดปลีกย่อยมากขึ้น ก็ไปคุมเป็นจุดๆ ได้ ไปตั้งเป้าได้ว่าแต่ละสินค้าต้องการได้ต้นทุนกี่บาท ก็น่าจะ lean ได้อีกประมาณนึง
SG&A ดู Q1 น่าจะเป็นฐานได้ เพราะปีที่แล้วรับผู้บริหารมา 2 ท่าน ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ปีนี้มีรับเพิ่มมา 1 ท่าน แต่ไม่ได้กระทบมากเท่า ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดูนิ่งๆ
ต้นทุนการเงิน เอาเงิน IPO ไปจ่ายคืนหนี้ 350 ล้านบาท จากหนี้ที่ประมาณ 620 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยประมาณ 3.58% แปลว่า ต้นทุนการเงินที่เห็นประมาณ 5.5-6.5 ล้านบาท ต่อไตรมาส น่าจะเหลือ 2.5-3 ล้านบาท คิดกลมๆ
================
ถ้าสนใจลงทุนหุ้น NSL ผมแชร์ไอเดียแบบนี้
1. การเติบโตตาม 7-11 ทั้งร้านเดิม เปิดสาขาใหม่ 7-Delivery ก็ค่อยๆ ฟื้นตัวมากขึ้น แต่ต้องคอยระวังเจ้าอื่นจะมาผลิตแข่งได้ ส่วนระยะกลางถึงยาวก็ต้องพึ่ง Food Services ที่ต้องเร่งทำให้ดี
2. GPM ทำได้ดีมาก คือ จุดเด่นเลย แต่ปัญหาคือ มันมาจากขาเดียวคือ คุมต้นทุน ส่วนราคาขายปรับเองไม่ได้ และช่วงหลังๆ เราจะเห็นการออกแพ็คคู่ แพ็คสาม หรือทำโปรโมชั่นเป็นครั้งคราว ก็จะกดดันมาร์จิ้นเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องตามดูว่า GPM จะไปสุดที่ตรงไหน 19%, 20% หรือว่าจะทำได้ดีกว่านี้
3. แปลว่า เราต้องไปประเมินราคามาว่า NSL จะทำกำไรได้แค่ไหน ซึ่งถ้าไม่ได้มี S-Curve อะไรใหม่ๆ กว่านี้ เค้าจะไม่ใช่ growth stock แต่ถ้าเราจะซื้อ เราต้องดูเกมส์ของ undervalue แทน ว่าราคาเท่าไหร่ถึงจะคุ้มและปลอดภัย
4. หรือถ้ามองในมุมปันผลที่บอกว่าจะจ่ายไม่ต่ำกว่า 50% ถ้างบดี แล้วบริษัทดูแล้วไม่ได้มีแผนลงทุนอะไรหนักๆ คือ เงิน IPO ก็พอใช้สร้างโรงงานแล้ว ก็อาจจะจ่ายปันผลสูงได้ ถ้า Yield ดี ก็จะเป็นอีกมุมนึงในการพิจารณาราคาหุ้นได้
ใครสนใจลองพิจารณากันได้ครับ มีมุมมองอย่างไร แซนด์วิชเจ้าไหนอร่อย คุยกันได้ครับ
วิตามินหุ้นไม่มีหุ้น แต่กินแซนด์วิชบ่อย แอบสนใจเพราะมาร์จิ้นดี แต่มาเห็นสินค้าเจ้าอื่นมาผลิตได้ เลยขอคิดอีกสองตลบก่อน
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกทาง Stock Vitamins - วิตามินหุ้น