การร่วงลงของตลาดสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอเรนซี่ส่งผลให้วอลล์ สตรีทเมื่อวันศุกร์ที่แล้วปิดสัปดาห์ด้วยความผันผวน ดัชนีหลักอย่างเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวลดลง 0.4% ในขณะที่ดาวโจนส์ปรับตัวลดลง 0.5% แนสแด็กสามารถจบขาลงตลอดสี่สัปดาห์ติดต่อกันของตัวเองได้ด้วยการปรับตัวกลับขึ้นมาปิดบวก 0.3% และดัชนีรัสเซล 2000 ที่แม้จะปรับตัวขึ้นมาเป็นวันที่สองติดต่อกัน แต่ก็ยังไม่พอที่จะชดเชยขาลงของตัวเองตลอดทั้งสัปดาห์ได้
การผันผวนของตลาดลงทุนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทำให้ผู้เชี่ยวชาญมองว่าธีมการลงทุนประจำสัปดาห์นี้จะมีอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ หนึ่งคือตลาดสกุลเงินดิจิทัลจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องหรือไม่ และสองคือการเร่งตัวของภาวะเงินเฟ้อ ส่วนเรื่อง Reflation นั้น นักวิเคราะห์บางส่วนยังมองว่ายังไม่มีตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจกำลังเอนเอียงไปทางนั้น
หากนับเฉพาะกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวขึ้นได้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ปรากฎว่ากลุ่มการเงินคือผู้ที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุด (1%) ตามมาด้วยกลุ่มอุตสาหกรรม (0.5%) วัสดุก่อสร้าง (0.2%) และ{40657|พลังงาน}} (0.2%) ส่วนกลุ่มที่ติดลบได้แก่หุ้นเทคโนโลยี (-0.5%) และผู้ให้บริการด้านการติดต่อสื่อสาร (-0.3%) แต่หากพิจารณาผลงานตลอดทั้งสัปดาห์ จะพบว่าหุ้นกลุ่มที่เติบโตมากที่สุดยังคงเป็นเทคโนโลยี (+0.15%) พลังงาน (-2.5%) วัสดุก่อสร้าง (-1.6%) อุตสาหกรรม (-1.5%) และการเงิน (-0.8%)
คำพูดของนายแพททริก ฮาร์กเกอร์ ประธานธนาคารกลางแห่งรัฐฟิลาเดเฟียเมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ควรเริ่มพิจารณาลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรได้แล้ว ทำให้ตลาดลงทุนเริ่มกลับมาเปรียบเทียบเรื่อง Inflation Vs Reflation อีกครั้ง
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การจัดการกระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้รายงานผลประกอบการของบริษัทเอกชนในอเมริกาสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาล แต่หากมองอีกด้าน นี่คือสัญญาเงินเฟ้อใช่หรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนแย้งว่าถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีจะขึ้นมาเกือบเกิน 1.7% แต่เมื่อลองมองภาพรวมตลาดนี้จริงๆ แล้วกลับพบว่าตัวเลข 1.7% ยังเป็นเพียงการวิ่งอยู่ใกล้กับจุดต่ำสุดอยู่เลย
ที่มา: Macrotrends.net
แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้นักลงทุนหวาดวิตกขนาดนั้น? นักเศรษฐศาสตร์บางคนบอกว่าไม่ใช่เพราะกราฟผลตอบแทนฯ ขึ้นมาสูงเท่าไหร่ แต่เป็นเพราะกราฟผลตอบแทนฯ ขึ้นมาเร็วเท่าไหร่ต่างหาก ผู้เชี่ยวชาญบางคนวิเคราะห์ว่าสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจที่เรียกว่า “Goldilocks Economy” หมายถึง ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ร้อนแรงจนเกินไปจนมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ แต่ก็ไม่ชะลอตัวเบาเกินไปจนมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย
เมื่อปีที่แล้วราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกาพุ่งขึ้นเป็นอย่างมากโดยมีสาเหตุมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดและและความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็มีการปรับตัวขึ้นตามความต้องการที่อยู่อาศัยเช่นราคาไม้แปรรูป ทองแดง รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ครั้งสุดท้ายที่ราคาที่อยู่อาศัยมีการปรับตัวขึ้นต้องย้อนกลับไปในปี 2000 ซึ่งหลังจากนั้นก็ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมาในปี 2008 งั้นเราสามารถสันนิษฐานเอาไว้ได้ไหมว่าราคาที่อยู่อาศัยที่กำลังสูงขึ้นในตอนนี้คือสัญญาณว่าเรากำลังเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจกันอีกครั้ง?
สื่อหลายสำนักพยายามจะยึดโยงสองเหตุการณ์นี้เข้าหากัน แต่นักวิเคราะห์บางฝ่ายก็มองว่าวิกฤตเศรษฐกิจระหว่างตอนนั้นกับตอนนี้ก็ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว ตอนนั้นอัตราการว่างงานไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงขนาดนี้ในขณะที่อัตราการกู้จำนองก็ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ นักวิเคราะห์บางคนถึงกับยกตัวเลขเงินเก็บในบัญชีของชาวอเมริกันตอนนี้ว่ามีรวมกัน $1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ตอนนั้นผู้คนยังนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยโดยไม่ได้เกรงกลัวกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น นายแบงก์ก็ปล่อยห้กู้อย่างง่ายดายซึ่งแตกต่างจากตอนนี้เป็นอย่างมาก
แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนจะมีส่วนทำให้ตลาดหุ้นโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีเติบโตเป็นอย่างมากในปี 2020 จนทำให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่ยุคฟองสบู่ดอทคอม แต่ก็ยังมีหลายปัจจัยที่แตกต่างกันอยู่ระหว่างทั้งสองยุค
ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวขึ้น 75% ในช่วงสิบสองเดือนแรกของการฟื้นตัว ขาขึ้นครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการกลับมาทำกำไรได้ของบริษัทเอกชนสหรัฐฯ เมื่อเทียบขาขึ้นของปีที่แล้วกับในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้พบว่าปีที่แล้วเติบโตได้ดีกว่า 49% ความต่างระหว่างเอสแอนด์ 500 ในยุคดอทคอมกับตอนนี้คือตอนนั้นเอสแอนด์พี 500 อยู่ในระดับที่สูงมากอยู่แล้วก่อนที่ฟองสบู่จะแตก แต่ตอนนี้ดัชนีแอสแอนด์พี 500 ฟื้นตัวกลับขึ้นมาจากจุดต่ำสุด
ภาพรวมของค่า P/E (อัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น) ระหว่างปี 2008 กับปี 2020 ก็มีความต่างกันมากถึง 24 เท่า โดยปกติแล้วค่า P/E มักจะปรับตัวขึ้นในช่วงปีแรกของตลาดขาขึ้น เพราะตลาดกำลังรู้สึกยินดีกับการทำกำไรในขาขึ้นครั้งใหม่ แต่เมื่อขาขึ้นผ่านไปสักพัก ต่อให้บริษัทเอกชนจะสามารถรายงานผลประกอบการเป็นบวกได้ ค่า P/E ก็มักที่จะปรับตัวลดลงอยู่ดี
ทั้งหมดที่ได้เล่ามานี้หมายความว่าภาพที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ได้สะท้อนสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตเสมอไป เพราะวิกฤตเศรษฐกิจแต่ละครั้งมีปัจจัยส่งผลกระทบที่แตกต่างกัน และจากการวิเคราะห์ทางเทคนิคของกราฟดัชนีเอสแอนด์พี 500 ก็ยิ่งเห็นว่ากราฟมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ
กราฟเอสแอนด์พี 500 ปรากฎแท่งเทียนรูปแบบดาวตก (Shooting Star) เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ในขณะที่ภาพรวมนั้นจะเห็นว่ากราฟพยายามสร้างรูปแบบลิ่มลู่ลง (Falling Wedge) หากว่าแท่งเทียนดาวตกนี้ไม่สามารถกดเอสแอนด์พีให้ปรับตัวลงจนหลุด 4,040 จุด มีโอกาสที่สุดท้ายแล้วกราฟจะปรับตัวขึ้นตามรูปแบบลิ่มที่เกิดขึ้น
ดอลลาร์สหรัฐพยายามปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว แต่ความพยายามนั้นก็ไม่อาจชดเชยขาลงตลอดทั้งสัปดาห์ได้ ในขณะเดียวกัน กราฟผลตอบแทนฯ ก็ยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลงเหมือนเดิม
กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐวิ่งอยู่ในกรอบมาสี่วันติดต่อกันที่บริเวณจุดต่ำสุดของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึงแม้ว่าตอนนี้จะเรียกได้ว่าราคาได้ลงมาจนถึงเป้าหมายของรูปแบบลิ่มแล้ว แต่สิ่งที่นักลงทุนกำลังรอดูอยู่คือสัปดาห์นี้กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐจะปรับตัวลงต่อได้หรือไม่
ทองคำปรับตัวขึ้นเป็นวันที่สองติดต่อกัน และถ้าหากนับในช่วงเจ็ดวันล่าสุดจะพบว่าทองคำได้ปรับตัวกลับขึ้นมาหกจากเจ็ดวันแล้ว
หลังจากราคาทองคำได้หลุดออกจากกรอบขาลงที่ลากมาตั้งแต่จุดสูงสุดของปี 2020 สถานะของทองคำตอนนี้ก็เหมือนกับกระทิงที่ไม่มีคนควบคุมอีกต่อไป นอกจากนี้แรงหนุนของทองคำทางเทคนิคยังเกิดขึ้นจากการทะลุกรอบรูปธงเล็กๆ แต่การที่ทองคำวิ่งเกาะขอบราคาขาขึ้นด้านบนมากๆ ก็ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ราคาจะย่อลงมาเพื่อสะสมแรงอยู่ตลอด หากครั้งนี้ทองคำวิ่งย่อกลับลงมา แต่ไม่หลุดกรอบขาขึ้น ให้พิจารณาเป้าหมายของราคาทองคำเอาไว้ที่ $1,920
บิทคอยน์...สกุลเงินดิจิทัลที่ใครๆ ต่างก็จับตามองในตอนนี้กำลังทดสอบแนวรับจากเส้นเทรนด์ไลน์ที่ลากมาตั้งแต่เดือนตุลาคม (ในขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขาลงของบิทคอยน์ถูกซ้ำเติมด้วยข่าวจากประเทศจีนเมื่อรัฐบาลออกมาประกาศว่าห้ามทำธุรกรรมกับสกุลเงินดิจิทัลทุกรูปแบบ
จิล คาร์สัน ผู้ร่วมก่อตั้ง Open Money Initiative วิเคราะห์ว่าตอนนี้ราคาบิทคอยน์ได้วิ่งกลับลงไปอยู่ในจุดก่อนที่จะถูกปั่นราคาขึ้นมาด้วยเจ้าของบริษัทเทสลา (NASDAQ:TSLA) อันที่จริง เขาก็มีส่วนร่วมกับขาลงของบิทคอยน์ครั้งนี้ เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นหลังจากที่อีลอน มัสก์ ออกมาทวีตว่าบริษัทเทสลาจะไม่รับบิทคอยน์เป็นตัวกลางในการชำระเงินอีกต่อไป โดยให้เหตุผลง่ายๆ ว่าการขุดบิทคอยน์นั้นขัดต่อนโยบายรักษ์โลกของบริษัท
ถึงจะอย่างนั้นจิลกลับมองว่านี่คือโอกาสที่ดีสำหรับการเติบโตที่มั่นคงของบิทคอยน์ในอนาคต เพราะถึงแม้อีลอน มัสก์ จะลดจำนวนการถือบิทคอยน์น้อยลง แต่ผู้เล่นที่จะเข้ามาถือครองบิทคอยน์นับจากนี้จะมีแต่นักลงทุนจากฝั่งสถาบัน หากเป็นเช่นนั้นราคาบิทคอยน์จะมีเสถียรภาพขึ้นมากในอนาคตและอาจทำให้ความผันผวนที่เป็นอยู่เช่นทุกวันนี้ลดลง สำหรับการวิเคราะห์ทางเทคนิคของบิทคอยน์ตอนนี้ ตราบใดที่ราคายังไม่ลงมาต่ำกว่า $30,000 ให้พิจารณาว่าราคายังมีโอกาสปรับตัวกลับเป็นแนวโน้มขาขึ้นได้
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพราะความเป็นกังวลของตลาดที่มีต่อสภาพอากาศในอ่าวเม็กซิโก แต่ราคาก็ปรับตัวลดลงหลังจากที่สถานการณ์นิวเคลียร์ของอิหร่านลดความตึงเครียดลง หมายความว่าอิหร่านจะกลับมาผลิตน้ำมันมากขึ้นซึ่งถือเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำมันในตลาดโดยรวม
ราคาน้ำมันดิบ WTI ลงมาเจอแนวรับที่เกิดจากเส้นดาวน์เทรนด์ เส้นเทรนด์ไลน์นี้ลากมาตั้งแต่จุดสูงสุดปี 2008 และเคยโดนเจาะขึ้นมาแล้ว
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันจันทร์
ตลาดหลักทรัพย์ในเยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ และแคนาดาปิดทำการเนื่องจากเป็นวันหยุด
วันอังคาร
02:00 (เยอรมัน) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าจะคงที่อยู่ที่ -1.7%
04:00 (เยอรมัน) รายงานตัวเลขความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจจาก IFO: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 96.8 เป็น 98.1
10:00 (สหรัฐฯ) ดัชนีวัดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจาก CB: คาดว่าจะลดลงจาก 121.7 เป็น 119.0
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่: คาดว่าจะลดลงจาก 1,021K เป็น 975K
22:00 (นิวซีแลนด์) รายงานตัวเลขการปรับอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางนิวซีแลนด์: คาดว่าจะคงที่ 0.25%
วันพุธ
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: คาดว่าจะออกมาอยู่ที่ 1.321M Bbls
วันพฤหัสบดี
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน: คาดว่าจะลดลงจาก 2.3% เป็น 0.7%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าแบบ QoQ จะเพิ่มขึ้นจาก 6.4% เป็น 6.5%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงอีกจาก 444K เป็น 425K
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานยอดขายที่อยู่อาศัยที่รอการจำนอง: คาดว่าจะลดลงจาก 1.9% เป็น 1.1%
วันศุกร์
08:30 (สหรัฐฯ) ดัชนีราคาการบริโภคส่วนบุคคล: คาดว่าจะลดลงจาก 0.5% เป็น 0.2%