ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยภาพรวมยังถือว่าสดใส ดัชนีหลักทั้งสี่ของสหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะเป็นเอสแอนด์พี 500 ดาวโจนส์ แนสแด็กและรัสเซล 2000ต่างก็สามารถปรับตัวขึ้นได้ทั้งหมด บางดัชนียังสามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง การที่ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระจายวัคซีนของสหรัฐฯ สามารถสร้างบรรยากาศเชิงบวกในตลาดได้มากแค่ไหน ในสัปดาห์นี้เราคาดว่าบรรยากาศแห่งความสุขนี้จะยังคงดำเนินต่อไป
ดัชนีดาวโจนส์สามารถขึ้นยืนเหนือระดับราคา 34,000 จุดได้เป็นครั้งแรกในขณะที่เอสแอนด์พี 500 สามารถปิดตลาดด้วยราคาที่สูงขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สี่ติดต่อกัน เมื่อไปดูคู่แข่งคนสำคัญอย่างประเทศจีนก็จะพบว่าทั้งสองประเทศกำลังแข่งกันฟื้นเศรษฐกิจของตัวเอง ตัวเลข GDP ของประเทศจีนขยายตัวขึ้นมากถึง 18.3% ในขณะที่การบริโภคภายในประเทศซึ่งวัดจากตัวเลขยอดค้าปลีกนั้นเพิ่มขึ้นมากถึง 34.2% เอาชนะตัวเลขคาดการณ์ที่ 28.0% ได้
ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาก็มีการขยายตัวที่รุนแรงไม่แพ้กัน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่เป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 0.6% ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังลดลงเช่นเดียวกับจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่สามารถลดลงได้มากถึง 576,000 ตำแหน่ง นี่คือครั้งแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิดที่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการฯ ลดลงต่ำกว่า 600,000 ตำแหน่งได้ ที่สำคัญก็คือตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ขยายตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดดอีกแล้ว ในครั้งนี้สามารถเพิ่มขึ้นมาเป็น 9.8% มากกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 5.9% ข่าวดีทั้งหลายเหล่านี้ในสัปดาห์ที่แล้วช่วยส่งให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกันกับดัชนีตลาดหุ้นในทุกประเทศทั่วโลกของ MSCI ที่สามารถทะยานขึ้นสร้างจุดสูงสุดใหม่ด้วยเช่นกัน
ภาพรวมของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่แล้วพบว่าหุ้นในกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุดได้แก่กลุ่ม วัสดุก่อสร้างปรับตัวขึ้น 1.2% ตามมาด้วยกลุ่มสาธารณูปโภคที่ปรับตัวขึ้น 0.8% ส่วนกลุ่มที่เรียกได้ว่าติดลบคือกลุ่มเทคโนโลยีด้วยตัวเลขติดลบ 0.02% และหุ้นในกลุ่มบริษัท ผู้ให้บริการด้านการติดต่อสื่อสารที่ติดลบ 0.1%
แต่หากพิจารณาภาพรวมตลอดทั้งสัปดาห์ที่แล้วนั้นจะพบว่ากลุ่มสาธารณูปโภคสามารถปรับตัวขึ้นได้ 3.7% กลุ่มวัสดุก่อสร้างปรับตัวขึ้น 3% กลุ่มเทคฯ ปรับขึ้น 1.1% และสุดท้ายคือกลุ่มผู้ให้บริการด้านการติดต่อสื่อสารที่จบสัปดาห์ที่แล้วติดลบ 0.1%
ดัชนีที่เราชอบนำมาเปรียบเทียบกันอยู่บ่อยๆ อย่างแนสแด็ก 100 และรัสเซล 2000 นั้นสามารถปรับตัวขึ้นได้จากอานิสงส์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ถึงอย่างนั้นเราอยากให้นักลงทุนจับตาไปที่ดัชนีแนสแด็ก 100 ในช่วงค่ำของวันนี้หลังจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เปิดทำการแล้วเนื่องจากมีการสร้างแท่งเทียนรูปแบบดาวตก (Shooting Star) เกิดขึ้น ตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่าแท่งเทียนในคืนนี้จะสามารถสร้างราคาปิดที่ต่ำกว่าแท่งเทียนดาวตกนี้ได้หรือไม่ ส่วนรัสเซล 2000 นั้นแม้จะฟอร์มตัวอยู่ในกรอบ แต่ก็มีโอกาสปรับตัวลดลงเช่นกัน จากการวิเคราะห์ทางเทคนิคในรูปด้านล่างจะเห็นว่ารัสเซล 2000 กำลังสร้างส่วนของไหล่ขวาของรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) อยู่
จุดน่าสนใจก็คืออินดิเคเตอร์ RSI ของรัสเซล 2000 ที่การเกิดรูปแบบหัวไหล่เกิดขึ้นที่บริเวณกรอบราคาส่วนบนพอดี ถ้าหาก RSI ไม่สามารถหลุดกรอบนี้ขึ้นไปได้ จะยิ่งเป็นการตอกย้ำการเกิด ‘ไดเวอเจนต์’ (Divergence) ของแนวโน้มขาลง
สาเหตุที่ตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐอเมริกาในเดือนมีนาคมสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เช่นนี้มีสาเหตุมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับการลดมาตรการคุมเข้มทางสังคม นี่คือการเพิ่มขึ้นของตัวเลขยอดค้าปลีกที่มากที่สุดเป็นอันดับสองภายในรอบสามสิบปี คำถามก็คือการขยายตัวแบบมหัศจรรย์เช่นนี้จะคงอยู่ไปได้อีกนานแค่ไหน?
เป็นที่ทราบกันดีว่ากว่าสหรัฐอเมริกาจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจมาถึงจุดนี้ได้ พวกเขาอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วถึงสามรอบ สองรอบแรกในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และอีกหนึ่งครั้งในช่วงไตรมาสที่หนึ่งภายใต้การนำของโจ ไบเดน สิ่งที่รัฐบาลต้องการให้เกิดขึ้นหลังจากการแจกเงินก็คือการจับจ่ายใช้สอย ความเชื่อมั่นในการบริโภค ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจริง และเมื่อพิจารณาจากบัญชีเงินเก็บของประชาชนชาวอเมริกันก็พบว่าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตโควิด
สิ่งที่กลับมาทำให้นักลงทุนรู้สึกเป็นกังวลกันอีกครั้งก็คืออัตราเงินเฟ้อเพราะตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) รายเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 0.6% และแบบปีต่อปีเพิ่มขึ้น 2.6% ค่อนข้างสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนพอสมควร ตัวเลขแบบปีต่อปีที่เพิ่มขึ้นนี้ถือเป็นการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนก็แย้งว่าอาจจะยังไม่ต้องเป็นกังวลมากขนาดนั้นเพราะราคาน้ำมันก็ยังไม่ได้สูงขึ้นถึงขนาดสร้างผลกระทบให้กับเศรษฐกิจของประเทศ เช่นเดียวกันดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่ไม่วัดราคาอาหารและพลังงานแบบปีต่อปีก็ปรับตัวขึ้นเพียง 1.6% เท่านั้น
กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวลดลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น สัญญาณเช่นนี้หมายความว่านักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นต่อคำสัญญาของธนาคารกลางสหรัฐฯ อยู่ที่คิดจะคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ไปอีกนาน จากรูปจะเห็นว่ากราฟผลตอบแทนฯ อายุ 10 ปีได้ปรับตัวลดลงมาจากจุดสูงสุดแล้ว ในขณะที่อินดิเคเตอร์ RSI ก็ปรับตัวลดลงจนหลุดเส้นเทรนด์ไลน์ลงมาด้วยเช่นกัน
ในสัปดาห์ที่แล้วเราได้เห็นการรายงานตัวเลขผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2021 ของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาไปแล้วซึ่งผลที่ออกมาก็ไม่แปลกใจที่ได้เห็นธนาคารพาณิชย์ชื่อดังสิบสามแห่งของประเทศสามารถรายงานผลกำไรได้มากกว่าตัวเลขคาดการณ์ การที่อัตรากู้ยืมยังถูกกำหนดให้อยู่ในระดับต่ำทำให้ผู้คนกู้เงินออกไปจับจ่ายใช้สอย ก่อสร้าง ลงทุนและอีกมากมาย นี่คือสาเหตุที่ทำให้หุ้นในกลุ่มการเงินสามารถปรับตัวขึ้นได้มากถึง 20.1% นับตั้งแต่ต้นปี 2021 จนถึงปัจจุบัน เป็นรองอยู่แค่เพียงหุ้นในกลุ่มพลังงานเท่านั้น
เมื่อหุ้นกลุ่มธนาคารเปิดฤดูกาลรายงานผลประกอบการด้วยชัยชนะแล้ว คำถามก็คือหุ้นในกลุ่มอื่นๆ จะสามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ได้เช่นเดียวกันหรือไม่? ข้อมูลจาก FactSet เผยว่าการเติบโตของตัวเลขผลประกอบการในไตรมาสนี้แบบปีต่อปีจะเพิ่มขึ้น 24.5% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่สามของปี 2018 ที่เติบโต 26.1% แต่ข้อมูลจาก FactSet ก็ยังบอกให้นักลงทุนควรระมัดระวังปัจจัยความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิดเพราะในหลายๆ ประเทศที่ยังไม่พัฒนานั้นพวกเขายังไม่ได้รับวัคซีนมากเท่าที่ควรจะเป็น หลายๆ พื้นที่ก็ประสบกับการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 และ 4 แล้ว
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกันนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์
กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐยังไม่สามารถปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าระดับ 91.50 จุดได้ นักลงทุนทั้งสองฝ่ายยังพยายามต่อสู้กันเพื่อแย่งสิทธิ์ในการคุมแนวโน้มกันอยู่ การที่กราฟฯ ไม่สามารถปรับตัวลดลงไปต่อได้ แสดงว่านักลงทุนฝั่งขาขึ้นค่อนข้างเชื่อมั่นในแนวรับที่ระดับราคาตรงนี้เพราะแต่เดิมที่นี่เคยเป็นแนวต้านเก่าจากเดือนธันวาคมของปี 2020 มาก่อน โดยส่วนตัวแล้ว เรามองว่าขาลงครั้งนี้เป็นเพียงการย่อในระยะสั้น ขาขึ้นยังมีโอกาสที่จะกลับตัวขึ้นไปตราบใดที่กราฟยังไม่หลุดระดับราคา 89 จุดลงมา
ราคาทองคำกลับมาเป็นที่สนใจของนักลงทุนอีกครั้งเมื่อขาขึ้นในสัปดาห์ที่แล้วสามารถยืนยันการออกจากกรอบขาลงในระยะสั้นได้สำเร็จ
เชื่อว่านักวิเคราะห์ในหลายๆ สำนักต่างก็ลงความเห็นกันแล้วว่าขาขึ้นครั้งนี้เกิดจากรูปแบบทางเทคนิคที่มีชื่อว่า double-bottom แม้ว่าในภาพรวมระยะกลางจะยังเป็นแนวโน้มขาลง แต่แรงส่งฝั่งกระทิงตอนนี้ก็สามารถทำให้เรียกทองคำว่าการปรับตัวขึ้นในระยะสั้นได้แล้ว สิ่งที่นักลงทุนต้องระวังในสัปดาห์นี้คือการขึ้นไปชนกรอบราคาด้านบนของ RSI ที่อาจทำให้ขาขึ้นรอบนี้แผ่วลงได้
สกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์หลังจากสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่ที่ $63,729 ได้แล้ว ก็ร่วงลงมาจนเกือบถึง $50,000 เลยทีเดียว
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับกราฟบิทคอยน์ตอนนี้ถือว่าน่าสนใจมาก ในกราฟรายสัปดาห์เราจะเห็นการฟอร์มตัวของรูปแบบลิ่มลู่ขึ้น (Rising Wedge) และแท่งเทียนก็กำลังเกิดรูปแบบดาวตก ถ้าสัปดาห์นี้บิทคอยน์ปรับตัวลดลงต่อตลอดทั้งสัปดาห์ มีโอกาสที่เราจะได้เห็นขาลงเพื่อปรับฐานครั้งใหญ่ของบิทคอยน์จริงๆ แล้ว
แม้ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อยในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก่อนปิดตลาดกลับปรับตัวลดลง 0.60%
การวิเคราะห์ทางเทคนิคของราคาน้ำมันดิบ WTI ในตอนนี้แสดงให้เห็นว่าแนวต้านจากบริเวณไหล่ซ้ายของรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) ถือว่ามีความสำคัญมาก หากขึ้นยืนเหนือแนวต้าน (เส้นประ) ได้ กราฟจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ แต่ถ้าไม่แล้ว นักลงทุนขาขึ้นจะมีเหตุผลให้วางคำสั่งขายเพราะเกิดไหล่ขวาตามทฤษฎีขึ้น
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์นี้ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันจันทร์
21:30 (ออสเตรเลีย) รายงานการประชุมของธนาคารกลางออสเตรเลีย
21:30 (ประเทศจีน) รายงานตัวเลขอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารกลางแห่งประเทศจีน: ครั้งก่อนมีตัวเลขอยู่ที่ 3.85%
วันอังคาร
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานจำนวนคนว่างงานที่ใช้สิทธิประโยชน์จากการว่างงาน: ตัวเลขของเดือนมีนาคมออกมาที่ 86.6K
วันพุธ
02:00 (สหราชอาณาจักร) ดัชนีราคาผู้บริโภค: ตัวเลขในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นจาก 0.4% เป็น 0.7%
06:30 (สหราชอาณาจักร) ถ้อยแถลงจากผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งอังกฤษนายแอนดรูว์ ไบลีย์
08:30 (แคนาดา) ดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่าตัวเลขในเดือนมีนาคมจะเพิ่มขึ้นจาก 0.5% เป็น 0.6%
10:00 (แคนาดา) รายงานตัวเลขอัตราดอกเบี้ย: คาดว่าจะคงที่ 0.25%
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: ตัวเลขของสัปดาห์ที่แล้วอยู่ที่ -5.889M bbls
11:00 (แคนาดา) แถลงการณ์จากธนาคารกลางแคนาดา
วันพฤหัสบดี
07:45 (ยูโรโซน) รายงานอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางให้กับธนาคารพาณิชย์: คาดว่าจะคงที่ -0.5%
07:45 (ยูโรโซน) รายงานตัวเลขอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป: คาดว่าจะคงที่ 0%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 576,000 คนเป็น 625,000 คน
08:30 (ยูโรโซน) ถ้อยแถลงจากธนาคารกลางยูโรโซน
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยมือสอง: คาดว่าจะลดลงจาก 6.22M เป็น 6.18M
วันศุกร์
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานตัวเลขยอดขายปลีก: คาดว่าจะลดลงจาก 2.1% เป็น 1.5%
03:30 (เยอรมัน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะลดลงจาก 66.6 จุดเป็น 65.9 จุด
04:00 (ยูโรโซน) ดัชนี PMI คอมโพสิต: คาดว่าจะลดลงจาก 53.2 จุดเป็น 52.8 จุด
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: ตัวเลขครั้งก่อนออกมาอยู่ที่ 58.9
06:30 (รัสเซีย) รายงานตัวเลขอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางรัสเซีย: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.5% เป็น 4.75%
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 775K เป็น 885K