เชื่อได้เลยว่าการลงทุนสัปดาห์นี้จะเป็นธีมชักเย่อกันระหว่างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อเพราะตอนนี้ทั้งตลาดรับทราบแล้วว่ากำลังจะได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่มูลค่า $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐแน่นอน เหลือเพียงแค่รอให้สภาล่างเป็นผู้อนุมัติ และโจ ไบเดนลงนามเป็นกฎหมายบังคับใช้เท่านั้น
หน้าที่ของสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องทำในตอนนี้คือการตกลงให้ได้ตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อตกลงกันได้ และโจ ไบเดนก็ได้ลงนามแล้ว เราจะได้เห็นเงินเยียวยาก้อนนี้ออกมาช่วยเหลือในหลายๆ ด้านเช่นเร่งความเร็วการกระจายวัคซีน การช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก และเช็คมูลค่า $1,400 ส่งถึงบัญชีชาวอเมริกันทุกคน
ส่วนข้อกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสินค่าโภคภัณฑ์ ทั้งพลังงาน แร่โลหะ และตลาดสินค้าเกษตรนั้น อาจต้องรอดูข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจมหัพภาคก่อน อย่างเช่นต้องรอดูตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกว่าจะออกมาลดลงมากแค่ไหนหลังจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นได้ดีเกินคาด การรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและที่สำคัญที่สุดก็คือรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่เป็นตัวบ่งบอกถึงอัตราเงินเฟ้อ
สัปดาห์ที่ทุกคนจับจ้องที่ความกังวลเงินเฟ้อ
แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐดูเหมือนจะเป็นข่าวดีของตลาดหุ้น แต่อีกทางหนึ่งก็เพิ่มความกังวลให้กับตลาดเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ ขาขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีและดัชนีดอลลาร์สหรัฐสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ พวกเขาใช้กราฟผลตอยแทนฯ อายุ 10 ปีเป็นหลักฐานอ้างอิงของภาวะเงินเฟ้อ
ในขณะที่นักลงทุนมองว่าขาขึ้นของผลตอบแทนฯ เป็นสัญญาณของเงินเฟ้อ แต่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังนางเจเน็ต เยลเลนกลับบอกว่านี่คือสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่สัญญาณภาวะเงินเฟ้อ ส่วนนักลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ พวกเขายังมีเหตุผลอื่นมาสนับสนุนการขึ้นลงของราคา
การโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในซาอุฯ กลายเป็นแรงสนับสนุนตลาดน้ำมันชั่วคราว
ยกตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงสนับสนุนจากข่าวความพยายามใช้โดรนโจมตีโรงกลั่นและขนส่งน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย โชคดีที่ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ถึงกระนั้นตอนที่มีข่าวเกิดขึ้น ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็ได้ดีดตัวขึ้นเหนือ $70 ต่อบาร์เรลได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2020 ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI สามารถทะยานขึ้นมาวิ่งต่ำกว่า $68 ต่อบาร์เรล
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีความพยายามโจมตีแหล่งน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย แต่การโจมตีแต่ละครั้งในระยะหลังๆ นอกจากจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับทหารของซาอุดิฯ ยังทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับราคาน้ำมันลดลงอีกด้วย ประกอบกับสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบถือว่าวิ่งขึ้นมาสูงมาก ยิ่งทำให้การทรงตัวอยู่ในราคาระดับบนตอนนี้เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
เจฟฟี่ ฮาร์ลีย์ นักวิเคราะห์จาก OANDA ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในตอนนี้ไม่อาจวิ่งขึ้นไปไกลเกินกว่า $70 ต่อบาร์เรลได้ พร้อมทั้งให้เหตุผลประกอบว่า
“ขาขึ้นของเบรนท์ครั้งล่าสุดก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างราคาขึ้น นี่เป็นสัญญาณบอกว่าเบรนท์อาจวิ่งกลับลงมายัง $69.75 หรือจุดสูงสุดของวันศุกร์ที่แล้วได้ นอกจากนี้เรายังมองแนวรับเอาไว้ที่ $67.50 ต่อบาร์เรล ยิ่งราคาสามารถขึ้นไปไกลกว่า $70 ต่อบาร์เรลได้ ยิ่งจะทำให้มีคนถือน้ำมันดิบในราคานี้น้อยลง”
ทองคำมุ่งหน้าลงต่อเนื่อง ไม่สนใจความกังวลเงินเฟ้อ
นับวันโลกเรายิ่งมีอะไรแปลกใหม่ให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ทองคำที่ใครๆ ต่างก็บอกว่าเป็นสินทรัพย์คานเงินเฟ้อ แต่แทนที่จะปรับตัวขึ้นจากความกังวลที่ปกคลุมตลาด ราคาซื้อขายทองคำล่วงหน้าที่จะส่งมอบในเดือนเมษายนบนตลาด COMEX กลับปรับตัวลดลงมุ่งหน้าลงสู่แดนลบอีกครั้ง
ราคาซื้อขายทองคำสปอตในตอนนี้มีสภาพที่ไม่ต่างกัน ล่าสุดราคาทองคำสามารถหลุดแนวรับ $1,700 ลงมาได้แล้วและมีราคาซื้อขายอยู่ที่ $1,680 หากเทียบระยะทางขาลงตั้งแต่ต้นปี 2021 ลงมาจนถึง $1,700 พบว่าตอนนี้ราคาทองคำวิ่งลงมาแล้ว 10% แต่ถ้านับจากจุดสูงสุดตลอดกาลที่ $2,090 จนถึง $1,700 พบว่าทองคำวิ่งลงมาแล้วทั้งสิ้น 19%
แม้จะมีข่าวยืนยันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาจากสภาสูงแล้วซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นความหวังให้กับนักลงทุนในตลาดว่าจะสามารถช่วยพาทองคำกลับขึ้นมาได้ แต่จากที่เห็นตอนนี้ราคาทองคำแทบจะไม่สนใจเลยว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดขึ้นหรือไม่ ขาลงของทองคำยังคงถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์และตัวเลขผลตอบแทนพันธบัตรฯ ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สตีเฟ่น อินน์ นักวางกลยุทธ์ในตลาดลงทุนของบริษัท Axi วิเคราะห์ว่า
“ข่าวดีที่เข้ามาสนับสนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงนี้และการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯ ยิ่งทำให้ทองคำถูกเมินหนักเข้าไปอีก ส่วนตัวแล้วผมก็แปลกใจอยู่เหมือนกันว่าราคาทองคำรอบนี้ลงลึก และลงแรงเกินไป”