ระวัง!!! ตลาดผันผวนต่อ จากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ
-
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนักหลังยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
-
ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อาทิ การจ้างงาน รวมถึง โอกาสที่วุฒิสภาสหรัฐฯจะอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
-
เงินดอลลาร์อาจผันผวนตามยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ โดย ยีลด์จะพุ่งขึ้นต่อได้ ตามความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่อาจได้แรงหนุนจากการจ้างงานที่ดีกว่าคาดและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ทั้งนี้ สกุลเงิน EM อาจผันผวนและอ่อนค่าลงได้ ตามแรงเทขายสินทรัพย์ EM (ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออก) หากตลาดยังคงกังวลการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์
-
กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 30.05-30.55 บาท/ดอลลาร์
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
-
ฝั่งสหรัฐฯ – เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดีขึ้น หนุนโดยการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตและการบริการ สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (ISM Manufacturing & Services PMIs) ที่ระดับ 58.6จุด (ดัชนีเกิน 50จุด หมายถึงการขยายตัว) นอกจากนี้ ตลาดแรงงานก็มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) จะลดลงต่ำกว่า 8แสนราย ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 และยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 แสนราย ชี้ว่า การจ้างงานเริ่มดีขึ้น ตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ การฟื้นตัวเศรษฐกิจอาจได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในสัปดาห์นี้ นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของ ประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟด ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน ซึ่งตลาดคาดว่า เฟดจะยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ เนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง และหากเฟดแสดงความกังวลต่อการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของบอนด์ยีลด์และส่งสัญญาณว่าเฟดพร้อมเข้ามาดูแล มุมมองดังกล่าวอาจช่วยลดความผันผวนในตลาดการเงินได้
-
ฝั่งยุโรป – การระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงในช่วงต้นปี อาจกดดันให้ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของยุโรป ในเดือนมกราคม หดตัว 1.3% จากเดือนก่อน ขณะที่ ภาคการผลิตโดยรวมยังคงฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจาก ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน (Factory Orders) ของเยอรมนี ในเดือนมกราคมที่จะเพิ่มขึ้น 1.0% จากเดือนก่อน หลังจากหดตัวราว 2% ในเดือนธันวาคม
-
ฝั่งเอเชีย – แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น จะทำให้ธนาคารกลางไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งเรามองว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ระดับ 0.10% เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.75% จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแข็งแกร่ง
-
ฝั่งไทย – การแจกจ่ายวัคซีนที่ยังไม่แน่นอน อาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดือนกุมภาพันธ์อาจลดลงสู่ระดับ 47.3จุด ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อาจเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 0.20% จาก -0.34% ในเดือนมกราคม