ดูเหมือนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะไม่กังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อเท่าไหร่นักแม้ว่าจะมีเงินเยียวยาทางเศรษฐกิจมูลค่า $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐรออยู่ ทอม บาร์กิ้น ประธานธนาคารกลางริชมอนด์ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ว่า
“จริงอยู่ที่การอัดฉีดเงินมูลค่า $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐจะมีความเสี่ยงก่อให้เกิดความผันผวนในระยะสั้น แต่สำหรับพวกเรา (FED) แล้ว เราให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อในระยะยาวว่าจะส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะเงินเฟ้อหรือเงินฝืดมากกว่ากัน”
แพททริก ฮาร์กเกอร์ ประธานธนาคารกลางฟิลาเดเฟียดูเหมือนว่าจะเป็นอีกคนที่ไม่ได้กังวลกับเรื่องเงินเฟ้อ เขายังมองว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนนั้นยังมีความไม่เท่ากัน ในขณะที่เทคโนโลยีเติบโตแรงจนไม่รู้จะหยุดอย่างไรแต่การท่องเที่ยวยังเงียบและซบเซา เขาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อโทรทัศน์แห่งหนึ่งว่า “เฟดจำเป็นต้องปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อลอยตัวเกิน 2% เป็นบางครั้งคราวเพื่อให้เงินที่เกินมานั้นไหลไปช่วยภาคส่วนที่ยังไม่สามารถกลับมาด้วยตัวเองได้”
ECB เตรียมคุมเค้มทางการเงินแต่ FED ให้ความสำคัญกับการจ้างงานมาเป็นอับดับแรก
ไม่ใช่เพียงสหรัฐฯ ที่มีกระแสความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ แต่การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ทำให้นักลงทุนฝั่งยุโรปเริ่มกังวลกับท่าทีของธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) แล้วเช่นกัน
เยินส์ ไวด์มันน์ ประธานธนาคารกลางเยอรมันกล่าวว่าตอนนี้อัตราเงินเฟ้อในเยอรมันอาจสามารถขึ้นเกิน 3% ได้ภายในสิ้นปีนี้ ถึงแม้ว่าการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจะเป็นเรื่องชั่วคราว แต่ก็เชื่อได้ว่าเหล่าผู้วางนโยบายการเงินต้องไม่นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้และจะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้ว่าเฟดจะรู้สึกว่าการปล่อยอัตราเงินเฟ้อให้ขึ้นเกิน 2% เป็นครั้งคราวยังเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ แต่สำหรับ ECB นั้นพวกเขายังเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่มองเห็นตัวเลข 2% เป็นเหมือนเพดานที่ไม่อาจอนุญาตให้เงินเฟ้อขึ้นไปเกินกว่านี้ได้
“เราติดอยู่ในกับดักอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยต่ำมานานซึ่งผมก็เคยพูดต่อหน้าผู้วางนโยบายการเงินทุกคนแล้วว่าเราไม่สามารถอยู่แบบนี้ได้ตลอดไป เมื่อไหร่ก็ตามที่ ECB มองว่าเงินที่อัดฉีดเข้าไปในระบบนั้นเพียงพอต่อการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแล้ว ECB ต้องรีบดึงเงินเหล่านั้นกลับเข้าคลังทันที” เยินส์ ไวด์มันน์ กล่าว
เป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปีนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีแค่เรื่องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว แต่เฟดต้องการที่จะปล่อยให้เงินอยู่ในระบบไปจนกว่าการจ้างงานจะกลับมาอยู่ในระดับปกติให้ได้เป็นอย่างน้อย นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “หนทางที่จะทำให้การจ้างงานของเรากลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ยังต้องใช้เวลาอีกนาน”
“เราไม่สามารถนำเงินมาพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ได้เช่นนี้ตลอดไป แต่ที่เราตั้งใจกระตุ้นเศรษฐกิจทันทีที่ได้ยินข่าวโควิดเป็นเพราะเฟดต้องการให้แน่ใจว่าจะสามารถลดผลกระทบจากการตกงานให้ได้มากที่สุด เมื่อไหร่ก็ตามที่การจ้างงานสามารถกลับมาได้ การเติบโตทางเศรษฐกิจในทุกๆ ภาคส่วนก็จะกลับมาเอง” เจอโรม พาวเวลล์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ยุ่งยากมากกว่าการฟื้นการจ้างงานสำหรับธนาคารกลางสหรัฐฯ คือจะปรับแต่งนโยบายการเงินอย่างไรให้มีความเหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจหลังจากนี้ หากว่าการจ้างงานกลับมาตามที่เฟดคาดการณ์จริง ปัญหาต่อไปที่จะตามมาคือราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นจากเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นความเลื่อมล้ำทางสังคมจากการจ้างงาน งานวิจัยดังกล่าวเปิดเผยว่า “คนผิวสีมีเปอร์เซ็นต์การตกงานอยู่ที่ 0.2% ซึ่งมากกว่าอัตราการว่างงานของคนผิวขาว ส่งผลให้การจ้างงานของคนขาวมีมากกว่าคนผิวสีแต่กลุ่มคนที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหากคิดเป็นอัตราส่วนแล้วพบว่าคนผิวสีมีมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ”
เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ โจ ไบเดนจึงตั้งใจที่จะมอบตำแหน่งผู้วางนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ สองคนให้เป็นคนผิวสี คนแรกคือนางลิซ่า คุก ศาตราจารย์แห่งคณะเศรษฐศาสตร์จากมหาลัยมิชิแกน งานวิจัยของเธอเขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตลาดแรงงานกับปัญหาผิวสี ส่วนคนถัดมานั้นคือนายวิลเลียม สปริงส์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาลัยฮาร์วาร์ด